ย้ำ โชว์อาบน้ำในห้าง: ดารา ห้าง สินค้าขาดความรับผิดชอบ
  AREA แถลง ฉบับที่ 278/2560: วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            กรณีดาราอาบน้ำโชว์ในห้างสรรพสินค้าเพื่อโฆษณาสินค้า แสดงให้เห็นว่าทั้งตัวดารา ห้างสรรพสินค้านั้น และสินค้าดังกล่าว ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เห็นแก่ได้ และทำลายแบรนด์ของตัวเองโดยแท้

            ในกรณีที่เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2560 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าในกรณีปกติ หากมีใครทำพิเรนทร์เปลือยกาย หรือเข้าไปอาบน้ำในห้างก็คงทำไม่ได้ เป็นการอนาจารที่โชว์วับๆ แวมๆ ต่อหน้าธารกำนัล ห้างคงไม่ยอม คนที่คิดจะอาบน้ำแบบนี้คงป่วยทางจิต และการกระทำเพื่อโฆษณาสินค้าแบบนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ดังนั้นจึงถือเป็นการขาดความรับผิดชอบ

            สำหรับการอาบน้ำในลักษณะนี้ ถ้าไม่ใช่การโฆษณา นับเป็นการกระทำอนาจาร เป็นการโชว์วับแวม ๆ ต่อหน้าธารกำนัล และถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การแสดงแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับกรณีที่ดารากลุ่มหนึ่งโชว์การอาบน้ำบนรถที่นำไปจอดในสถานที่ต่าง ๆ หรือแบบแห่ ซึ่งก็เป็นการกระทำที่เข้าข่ายกรณีเดียวกัน ถือเป็นการพยายามโฆษณาสินค้าที่น่าจะขัดต่อศีลธรรมและจรรยาบรรณอันดีงามของสังคม ซึ่งปกติคงไม่มีใครกระทำเยี่ยงนี้

            ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) นี้ ไม่ใช่หมายถึงการอาสาทำดีเป็นหลักอย่างที่ถูกบิดเบือน การอาสาทำดีเป็นแค่เรื่องปลีกย่อย แต่ที่สำคัญยังหมายถึง:

            1. การกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย (Hard Laws) เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายอาคารและผังเมือง ฯลฯ การโชว์อาบน้ำแบบวับ ๆ แวม ๆ แสดงลักษณะ "อนาจาร" ย่อมหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย

            2. ระดับที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณหรือจริยธรรม ซึ่งถือเป็น ‘ข้อกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Laws) ข้อนี้หากไม่ปฏิบัติ อาจไม่ถึงขนาดติดคุก หรือถูกศาลสั่งปรับ แต่อาจถูกพักใบอนุญาตหรือกระทั่งถูกไล่ออกจากวงการ ในกรณีนี้คนทำโฆษณา คนทำสื่อ เจ้าของสถานที่คือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เจ้าของสินค้า ก็ควรมีจรรยาบรรณ ไม่ใช่มุ่งแต่ค้ากำไรท่าเดียว

            การแสดงออกเพื่อหวังแต่จะสร้างการโฆษณาขายสินค้า โดยอาศัยดารามาประกอบ ทำให้ภาพพจน์ของสินค้าไม่ดีเท่าที่ควรไปด้วย เป็นการหวังเพียงผลโฆษณา การโฆษณาที่แท้ต้องชี้ให้เห็นว่า

            1. สินค้าและบริการของเราดีกว่าคนอื่นอย่างไร

            2. ราคาคุ้มค่ากว่าอย่างไร

            3. มีหลักประกันที่ดีต่อผู้บริโภคอย่างไร

            4. รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร

            5. มีจรรยาบรรณและส่งเสริมศีลธรรมอันดีงามอย่างไร

            6. ไม่ฉ้อฉลหรือข้องแวะกับการฉกฉวยผลประโยชน์หรือไม่ทุจริตอย่างไร

            สังคมพึงตำหนิดารา ห้างและสินค้าที่ปล่อยให้มีการกระทำแบบนี้ เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมเท่าที่ควร ธุรกิจที่ดีจึงไม่ควร "ตีหัวเข้าบ้าน" ด้วยการโฆษณาหวังสร้างให้คนรู้จักโดยขาดความรับผิดชอบต่อการยั่วยุทางเพศ ขาดความรับผิดชอบต่อศีลธรรมจรรยาอันดีของสังคม การนำดารามาอาบน้ำโชว์ในห้างสรรพสินค้าเพื่อการโฆษณาขายสินค้า จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นการทำลายแบรนด์มากกว่าเป็นการสร้างแบรนด์

            ทั้งนี้ ดร.โสภณ วิพากษ์วิจารณ์ในกรณีนี้ในฐานะอาจารย์ที่สอนวิชาความรับผิดชอบต่อสังคม และ Soft Laws ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาเอกและบัณฑิตศึกษา และเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินด้าน "แบรนด์" หรือยี่ห้อสินค้า  โปรดดูหนังสือของ ดร.โสภณ "CSR ที่แท้" ซึ่งเป็นหนังสือประกอบการสอบหลักสูตรปริญญาเอกของ ดร.โสภณ โดย download ได้ฟรีที่ http://bit.ly/1MfpeQH

 


ที่มาของภาพ: https://news.thaiorc.com/album/sub/orig1508250003101.jpg

 

ดาวโหลดฟรี คลิกลิงค์นี้: http://bit.ly/1MfpeQH

อ่าน 7,989 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved