AREA แถลง ฉบับที่ 35/2554: 22 เมษายน 2554
ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเสื่อมทรุดหนัก
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ราคาบ้านล่าสุดทั่วสหรัฐอเมริกาตกต่ำลง 1.6% ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2554 และตกต่ำต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 แล้ว ทั้งนี้สำนักงานการเงินเคหะการแห่งสหรัฐอเมริกาได้จัดทำรายงานไว้ ภาวะเช่นนี้แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้น ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งเสริมการซื้อบ้านอย่างที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่
หากพิจารณาเป็นรายปี จะพบว่า ราคาบ้านลดลง 5.7% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2553 - 2554) และหากนับถึงช่วงสูงสุดเมื่อเดือนเมษายน 2550 ปรากฏว่าขณะนี้ราคาบ้านทั่วสหรัฐอเมริกาลดลงไป 18.6% แล้ว ราคาบ้านในขณะนี้มีราคาเท่ากับราคาบ้านในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 หรือเป็นเวลา 37 เดือนก่อนถึงช่วงราคาบ้านสูงสุดนั่นเอง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า อันที่จริงราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างน่าใจหายกว่าข้อมูลข้างต้นเสียอีก เพราะแม้ราคาบ้านในเดือนตุลาคม 2553 จะขยับขึ้นมาบ้าง แต่ขยับขึ้นเพืยง 0.1% หรือแทบไมได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย ดังนั้นหากดูจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาบ้านโดยไม่พิจารณาเดือนตุลาคม 2553 ก็พบว่า ราคาบ้านตกต่ำไม่หยุดมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 หรือตกต่ำลงมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว
การตกต่ำลงของราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ เป็นการตกต่ำอย่างทั่วทุกภูมิภาคในสหรัฐอเมริกา โดยไม่มีภูมิภาคใดที่ราคาเพิ่มขึ้นเลยในช่วงนี้ โดยเฉพาะมลรัฐบริเวณเทือกเขา ตั้งแต่มลรัฐมอนทานา ไอดาโฮ ไวโอมิง เนวาดา ยูทาห์ โคโลราโด อะริสโซนาและนิวเม็กซิโก นครชื่อดังเช่น ลาสเวกัส เรโน ซอลท์เลคซิตี้ก็ล้วนอยู่ในพื้นที่ตกต่ำนี้
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยังได้พบว่า นับแต่ช่วงสูงสุดของราคาบ้านในเดือนเมษายน 2550 ราคาตกต่ำไม่หยุดจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นเวลารวมกันประมาณ 19 เดือน หลังจากนั้นก็เริ่มทรงตัวค่อนไปทางตกต่ำเล็กน้อยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 เป็นเวลาอีก 18 เดือน และหลังจากนั้นมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ล่าสุด หรือ 9 เดือนล่าสุด ราคาบ้านกลับตกต่ำลงมาอีก นี่แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่ดี กลไกการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร
ดร.โสภณ พรโชคชัย กล่าวว่าวิกฤติราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นเพราะการเล่นแร่แปรธาตุปล่อยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตโดยขาดการควบคุม มีการอำนวยสินเชื่อกันขนานใหญ่ในอัตราสูง เช่น ให้กู้ 100% ของราคาบ้านหรือให้ถึง 120% เป็นต้น โดยเชื่อว่าราคาบ้านจะยังปรับตัวสูงขึ้นไม่หยุด การตรวจสอบการอำนวยสินเชื่อก็ยังไม่ดีพอ การขาดวินัยทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งก็หมายถึงความร่วมมือในทางมิชอบของส่วนราชการที่กำกับดุแล จึงทำให้ระบบสถาบันการเงินล้มลงในที่สุด และราคาบ้านที่ถูกปั่นเกินจริงก็ตกต่ำลงตามลำดับ
ประเทศไทยจึงควรเอาบทเรียนของสหรัฐอเมริกามาศึกษาให้ดี หน่วยราชการที่ควบคุม ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายทั้งหลายจึงควรแสดงบทบาทให้เข้มแข็ง เช่นที่จีนกำลังดำเนินการ ในการควบคุมสินเชื่อและการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความเสียหายแก่วงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงิน และที่สำคัญที่สุดก็คือผู้บริโภคในตลาดนั่นเอง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์
เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |