มีการเผยแพร่ความคิดของ อ.เฉลิมชัย (แต่ไม่ทราบว่าท่านพูด/เขียนเองจริงหรือปลอม) ซึ่งเป็นการดูถูกประชาชนคนเล็กคนน้อย ดร.โสภณเห็นว่าเป็นการคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขอเห็นต่าง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เห็นข่าว "สะใจดีจริงๆ!!!…”อ.เฉลิมชัย”ซัดเปรี้ยง การเมืองไทย “ทักษิณ-ปชป.-เผด็จการ” หลายคนบอกว่าใช่ครับจารย์ " (https://goo.gl/oi9mcF) แม้แต่ "เปลว สีเงิน" ก็เอามาอ้าง (https://goo.gl/snimVC) โดยมีเนื้อหาระบุว่า
". . . ระบอบไทยๆ นี้ เป็นระบอบที่เกิดขึ้นมาจาก…นิสัย สันดาน สภาพแวดล้อม แนวคิด พฤติกรรม และสังคมแบบไทยๆ ที่ส่วนใหญ่รักสบาย มักง่าย เล่นพรรคเล่นพวก มือถือสากปากถือศีล ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีอุดมการณ์ และที่สำคัญในช่วงหลังๆ คือวัดค่าของคนจากเงิน ของใช้ รถยนต์ ฯ สิ่งที่มองเห็นจากข้างนอก ภายนอก ฯลฯ ในเมื่อการวัดค่าของคนไม่ได้อยู่ที่จิตใจ ความดีงาม ความสามารถ อีกต่อไป คนส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายใหม่ เป็นการทำอย่างไรก็ได้! ให้มีเงินมากที่สุด เมื่อความต้องการเงินมากๆ โดยไม่เลือกวิธีการ ไปรวมกับนิสัยแบบไทยๆ ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ จึงนำไปสู่การ คอรัปชั่น ทั้ง ใน นอก ลับ และเปิดเผย. . ."
". . . ฝากลูกเข้าโรงเรียน ยัดเงินตำรวจ โกงภาษีเงินได้ สารพัดการคอรัปชั่นในชีวิตประจำวัน. . .ด่านักการเมือง ว่าเลวทุกคน ถึงเวลา ขอให้ช่วยฝากลูกเข้าโรงเรียน ฯลฯ ด่าตำรวจไม่มีดี ถึงเวลา ช่วยหนูหน่อยนะพี่ ขี้เกียจไปโรงพัก สิ่งเหล่านี้คือระบอบไทยๆ มีมานาน ก่อนทักษิณจะมีอำนาจ . . . “ปฏิวัติตัวเอง” จากข้างใน! เลิก >เห็นแก่ความสบาย เลิก >ร้องขอสิทธิพิเศษ เลิก >มองคนที่ภายนอก เลิก >คิดมักง่าย เลิก >ขับรถผิดกฏจราจร>หันมามองความสามารถภายใน ความดี ความมีคุณธรรม ลดความเห็นแก่ตัว เคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพกฎหมาย ให้มากกว่านี้. . ."
การคิดแบบ อ.เฉลิมชัยนั้น สรุปได้ว่า ประชาชนคนไทยมีนิสัยไม่ดี ซึ่งไม่เป็นความจริง ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ดี สังคมไทยคงเป็นสังคมโจร แต่นี่เรายังแยกแยะออกว่าใครเป็นโจรที่แท้จริง อย่าดูถูกปุถุชน แม้จะเป็นคนกิเลสหนา ก็ไม่ได้เป็นภัยแก่ใคร ทุกคนก็ล้วนแต่มีกลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) มีตัวตนของตนเอง (Ego) ไม่ใช่ดาดๆ เหมือนๆ กันเช่นสิ่งไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสมองอันซับซ้อน
การอยากรวย อยากดี อยากเด่น อยากดัง เช่น อ.เฉลิมชัย ก็มีกิเลสเช่นกันในฐานะปุถุชนนั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังดังที่เพ้อเข้าใจกัน จำไม่ได้หรือสำนวนไทยเดิมๆ ที่บอกว่า "มีมีเงินนับว่าเป็นน้อง มีทองนับว่าเป็นพี่" และด้วยแรงขับเหล่านี้ก็ทำให้โลกมีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ อันที่จริงกิเลสแบบนี้มีมาก่อนสมัยมีศาสดา (ยอดมนุษย์หรือเหนือมนุษย์) มาคนแล้วคนเล่าจนถึงบัดนี้ ผู้คนก็มีกิเลสอยู่เช่นกัน การคิดแบบดาดๆ ที่ว่าสังคมเพิ่งเริ่มเสื่อมลง จึงเป็นการคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอีกประการหนึ่ง
แน่นอนว่าการติดสินบนไม่ดี เช่น ติดสินบนเพื่อให้ได้ผูกขาดการสร้างรถไฟฟ้า อันนี้เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือเจ้าของร้านเสื้อผ้าติดสินบน ผอ.โรงเรียน เพื่อให้ได้รับการสั่งตัดชุดนักเรียน อันนี้ก็ไม่ดี เพราะเอาเปรียบผู้อื่น การติดสินบนเพื่อเอาเปรียบคนอื่นต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด เราควรไปประกอบอาชีพสุจริตดีกว่า แต่ อ.เฉลิมชัย ไม่เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ง่าย ๆ เช่นกรณีการติดสินบนตำรวจจราจร ความจริงไม่ใช่แค่ "ขี้เกียจไปโรงพัก" แต่ถ้าไปเสียที่โรงพักอาจเสียเงิน 500-1,000 บาท เสียค่ารถ เสียเวลาอีก 500 บาท แต่ถ้าจ่ายเดี๋ยวนั้น ก็แค่ 200 บาท เป็นต้น ต่างกัน 5-15 เท่า
ปุถุชนหรือประชาชนคนเล็กคนน้อย จะมีฐานะในการจ่าย (afford) เพื่อรักษาศักดิ์ศรี รักษากติกาไว้อย่างนั้นหรือ เอาเงินที่ประหยัดได้ไปเลี้ยงครอบครัวหรือทำประโยชน์ทางอื่นไม่ดีกว่าหรือ เขาไม่ใช่พวกคุณหญิงคุณนายหรือผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ (อาจปล้นมา) ที่จะต้องทำดีเอาหน้า แต่เมื่อคนเองจวนตัว ก็ต้องยอมเสียศักดิ์ศรีหนีเหมือนกัน เช่น ลูกเจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น นี่คือความจริงที่ขมขื่นที่ปุถุชนมักถูกใช้คำว่า "ความดี" มาเหยียดหยามหรือตบหน้าพวกเขา
การจะทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่พูดแบบสูตรสำเร็จที่ว่าให้แต่ละคน “ปฏิวัติตัวเอง” จากข้างใน คือเลิกเห็นแก่ความสบาย เลิกคิดมักง่าย เลิกขับรถผิดกฏจราจร ฯลฯ พอกันทีกับการเอาความดีเข้าขย่มแบบกำปั้นทุบดิน ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ถ้ายังมีคนส่วนน้อยที่ไม่ดี คอยเอารัดเอาเปรียบปล้นชิงสิทธิ์ ทรัพย์หรือสมบัติของประชาชนไป สังคมก็ไม่มีทางไปสู่สันติสุขอยู่ดี
สังคมที่ดีเคยเกือบเกิดขึ้นเมื่อมีการ:
1. ปราบยาบ้าจนแทบหมดสิ้น ประชาชนหันมาเป็นคนดีกัน
2. ปราบหวยเถื่อนจนหมดสิ้น รับความจริงว่ามีคนอยากเล่นการพนัน แต่ไม่ได้ทำใครเดือดร้อน ก็ให้เขาเล่น แต่นำเงินรายได้เข้าหลวง
3. ปราบผู้มีอิทธิพลอย่างจริงจัง สั่งให้ผู้มีอิทธิพลหรือใครก็ตามที่มีอาวุธปืนทั้งหลายส่งคืนราชการให้หมด เพื่อไม่ให้ก่ออาชญากรรม บางคนถึงขนาดเอาปืนไปแอบทิ้ง
4. จัดสวัสดิการสังคม 30 บาทรักษาทุกโรค ประชาชนเจ้าของประเทศมีสิทธิรักษาฟรี โดยไม่ต้องไปติดสินบนโรงพยาบาลหรือคุณหมอที่แสนดีคนไหน
5. ส่งเสริมกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล ตลอดจนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อป (OTOP) เพื่อนำเงินมาต่อยอดเศรษฐกิจ (ไม่ใช่เอาเงินไปจมกับการสร้างถนน ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์คือผู้รับเหมา บริษัทปูน บริษัทเหล็กเป็นหลัก) ถือเป็นการให้เบ็ด ไม่ใช่ให้ปลากับชาวบ้าน พอประชาชนมีเงิน ก็ไม่ต้องไปเที่ยวติดสินบนใคร
6. ให้ปัญญากับเด็ก ๆ เช่น แจกแท็บเล็ต เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่ประเคนครูไปสอนมากมาย (สร้างตำแหน่งให้ข้าราชการไปเสวยสุข) จนบัดนี้ต้องพยายามยุบโรงเรียนเพราะนักเรียนเหลือน้อยลงมาก
ปรากฏการณ์เล็ก ๆ เช่น การติดสินบนตำรวจจราจร ถ้ามีการเปิดโปงต่อเนื่องเช่นที่เคยมี และมีปราบปรามจริงจังเช่น การปราบยาบ้า หวยเถื่อน ผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นทุจริตใหญ่ กรณีตำรวจจราจรคงเป็นเรื่องปลีกย่อยที่หดหายไปไม่ยาก เสียดายตอนนี้กลับมี "คนดี" มาวางชะตาชีวิตให้คนไทยเดินไป 20 ปี เป็นยุทธศาสตร์ชาติ มาวางโดยไม่ได้รับฉันทามติจากประชาชน วางแล้วจะดีหรือสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครจะตรวจสอบหรือล่วงรู้ได้ อย่างนี้ สังคมที่งดงามจะวินาศหรือกลับคืนมาหรือไม่ ก็ตรองได้ไม่ยากนัก