ในที่นี้ขอยกตัวอย่างค่าความเสียหายของเหมืองทองคำพิจิตร ที่ว่ากันว่าค่าความเสียหาย 30,000 ล้านบาทจากการปิดเหมืองทองคำ ถ้าค่าความเสียหายนี้จริง จะไปเก็บกับใคร ก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่เกี่ยวกับการลงทุนก็คือ แล้ววิธีการคิด ๆ อย่างไร
ถ้าค่าเสียหายได้รับการตีไว้ที่ 30,000 ล้านบาท และสมมติว่าดอกเบี้ยปีหนึ่งเป็นเงิน 7% สำหรับระยะเวลาที่สมมติไว้ให้ทำเหมืองต่อได้ 15 ปี ก็จะเป็นเงินกำไรที่เขาควรได้รับแต่ไม่ได้รับเพราะถูก "ปิด" ไป เป็นเงินเท่ากับ
= [{(1+i)^ปี}-1] / i
ทั้งนี้ i ก็คือ 7% ส่วน ปี ก็คือ 15 ปีนั่นเอง ผลจะออกมาดังนี้:
= [{(1+7%)^15} -1] / 7%
= 25.12902201
แล้วนำเอาเงิน 30,000 ล้านบาทมาตั้งหารด้วย 25.12902201 ก็จะเท่ากับเป็นเงิน 1,193.838741 บาทคงที่โดยเฉพาะในปีแรกต่อเนื่องไปเป็นเวลา 15 ปี โดยมีดอกเบี้ยสมมติไว้ที่ 7%นั่นเอง ที่น่าเป็นห่วงก็คือเงินชดเชยนี้เอง ผมได้เคยให้ความเห็นไว้ในข่าวว่า "นักวิเคราะห์ ชี้ บิ๊กตู่ อาจต้องใช้เงินส่วนตัวนับหมื่นล้าน ชดใช้ปม ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 (มติชนออนไลน์ http://bit.ly/2x0r4Yd) กรณีนี้หากต้องชดเชยค่าเสียหายจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจต้องใช้เงินส่วนตัว หรือของคณะ คสช. ชดเชยค่าเสียหายเอง เพราะอาจถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาดของตนและคณะเอง
กรณีข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ถ้าบริษัททำเหมือง มีรายได้สุทธิหรือกำไรปีละ 1,193.8 ล้านบาท และได้อย่างนี้ทุกปี จะเพิ่มพูนเป็นเงิน 30,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดอายุของสัญญา ซึ่งสมมติเป็นอีก 15 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2575) ซึ่งถึงตอนนั้น ผมเองก็ไม่รู้จะอยู่ถึงหรือไม่ (ฮา) แต่ถ้าเราสามารถอยู่ถึง จากการที่แต่ละปีมีรายได้สุทธิ 1,193.8 ล้านบาท ก็จะกลายเป็นเงิน 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามรายได้ของกิจการนี้อาจไม่ได้มีแค่ที่คำนวณ ในความเป็นจริงอาจมีสูงกว่านี้ ซึ่งอาจต้องดูจากงบการเงินของบริษัทดังกล่าวอีกทีหนึ่ง ถ้าคิดจากตัวเลขจริง ณ ปัจจุบัน อาจแสดงว่าบริษัทดังกล่าว อาจมีรายได้สุทธิที่สูงกว่านี้อย่างแน่นอน โดยดูจากสูตรดังนี้:
= (1-(1/((1+i)^ปี))/i
ทั้งนี้ให้ i ก็คือ 7% ส่วน ปี ก็คือ 15 ปีนั่นเอง ผลจะออกมาดังนี้:
= (1-(1/((1+7%)^15)))/7%
= 9.107914005
แล้วนำเอาเงิน 30,000 ล้านบาทมาตั้งหารด้วย 9.107914005 ก็จะเท่ากับเป็นเงิน 3,293.838741 บาท แสดงว่า ณ ปัจจุบัน บริษัทอาจกำไรปีละ 3,293.8 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจไป 15 ปี สิ่งที่พึงจะได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว ก็คือกำไร เป็นเงินปีละ 3,293.8 ล้านบาท ก็จะรวมกันเป็นเงิน 30,000 ล้านบาท ณ มูลค่าปัจจุบันนั่นเอง การสูญเสียโอกาสเหล่านี้ไป จะเท่ากับค่าใช้จ่ายที่คณะ คสช. ต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามตาม ม.44 สามารถออกคำสั่งได้โดยหัวหน้า คสช.ไม่ต้องผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่นั่นคงเป็นสิ่งที่บังคับใช้ในกรณีประเทศไทย ส่วนในกรณีระหว่างประเทศ อาจไม่สามารถอ้าง ม.44 ได้ โดยนัยนี้ เราจึงต้องจ่ายเงินค่าเสียหายกับบริษัทดังกล่าว ซึ่งถ้าหากนำเงินภาษีอากรของประชาชนไปจ่าย ก็จะเท่ากับสร้างความเสียหายแก่ประชาชนได้
กรณีนี้ ผมจึงขอเสนอให้ทำประชามติให้ประชาชนในท้องถิ่นเสนอความเห็น ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปิดเหมืองอย่างแน่นอน ดังนั้นหากรัฐบาลยึดถือตามประชามตินี้ ก็ให้บริษัทดังกล่าวกลับมาทำเหมืองใหม่ ก็ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย และที่ไม่ได้ทำเหมืองมาเกือบปี ก็ให้ยืดอายุสัมปทานไปอีก 1 ปี ก็น่าจะไม่เป็นความเสียหายแก่ใคร นับว่า win win ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
ถ้าคิดในแง่ความคุ้มค่า ถ้าความเสียหายของบริษัทดังกล่าว สูงถึง 30,000 ล้านจริง การมีเหมืองก็ไม่ได้สร้างความเสียหายถึงขนาดนั้นแน่อย่างใด ที่ว่ามีคนตายนั้น เช่นกรณีนายสมคิด ธรรมพเวช ภริยาของผู้ตายก็แจ้งว่า “จากผลการชันสูตรศพสามี ระบุว่า เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค” (http://bit.ly/1Zc11St) หรือกรณีนายเฉื่อย บุญส่ง ก็เป็นอีกรายที่สุดลวงโลก พวกเอ็นจีโอเอามาบอกว่านายเฉื่อยตายเพราะมลพิษของเหมือง แต่ฟังข่าวดี ๆ ท่านตายเพราะเป็นโรคตับแข็ง เป็นต้น (http://bit.ly/1VuKzxN)
จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครเสียชีวิตเพราะเหมือง ถ้ามีมลพิษ คนงานเหมืองคงตายก่อน หรือรีบลาออกไป แต่ในความเป็นจริงคนงานก็อยู่ในบริเวณรอบเหมือง ที่ผ่านมามีแต่คนพยายามสร้างเรื่องเท็จ ถ้ามีการเสียชีวิตจริง คงถูกแห่ประจานไปแล้ว คนงานเหมืองก็แข็งแรงดี ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีโลหะหนักจริงๆ ก็คงไม่มีใครรับบริจาค แม้แต่คนขับรถลำเลียงสินแร่ ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หญิงขับ ส่วนที่เป็นผื่นคัน บางท่านคงไปฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วไมได้ล้างตัวให้สะอาด เป็นต้น
ประจักษ์หลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจก็คือคนงานเหมืองนับพัน ๆ คนที่พิจิตร ไม่มีใครเป็นโรค ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ทุกระยะ 3 เดือน สารพิษที่กล่าวถึงได้แก่: (http://bit.ly/1P7FBQN) สารหนูนั้น ร่างกายเราสามารถขับออกได้เองภายใน 2-3 วัน ในอาหารทะเลก็มีสารหนู แม้พิจิตรจะไกลจากทะเล แต่ก็ได้รับสารหนูได้จากกุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ ถ้าทานมากๆ และต่อเนื่องก็จะตรวจพบได้ในปัสสาวะ แมงกานีส ในร่างกายขาดไม่ได้ มีมากในผักสีเขียว พบในชาวมังสะวิรัติมาก แต่ไม่มีการตั้งเกณฑ์ว่าควรมีในเลือดเป็นปริมาณเท่าไหร่ กรมอนามัยเคยตรวจแล้วแต่ไม่เกี่ยวกับการทำเหมือง จึงถือเป็นการป้ายสีโดยไร้เหตุผล และถ้าหากว่ามีไซยาไนด์ ก็ปรากฏว่านกยังไปทำรังยังบ่อกักเก็บแร่ได้
แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเมือง เรื่องเอ็นจีโอ ก็คงเป็นเรื่องอื่นๆ สำหรับการคิดถึง How to คำนวณค่าความเสียหายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราๆ ท่านๆ ในฐานะนักลงทุนพึงจะทราบครับผม