CSR สำหรับบริษัทกระทิงแดงต่อป่าห้วยเม็ก ขอนแก่น
  AREA แถลง ฉบับที่ 381/2560: วันอังคารที่ 26 กันยายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่ทางบริษัทกระทิงแดงได้ยกเลิกการใช้พื้นที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นที่สาธารณะห้วยเม็ก เนื้อที่ 31.5 ไร่ หลังจากมีเสียงคัดค้าน ดร.โสภณ จึงเสนอข้อคิดด้านการทำ CSR ให้เพิ่มเติม

            ที่ผ่านมามีข่าวว่า "เมื่อ 1 มิถุนายน 2559 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ลงนามอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (กระทิงแดง) ใช้ “ที่สาธารณะห้วยเม็ก” เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม (http://bit.ly/2wmFCgM) เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 กรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้ส่งผู้ประเมินค่าทรัพย์สินออกสำรวจที่ดินแปลงดังกล่าว และได้พบข้อมูลดังนี้:

            1. ที่ดิน "ที่สาธารณะห้วยเม็กอยู่ในเขตบ้านหนองแต้ หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น" มีสภาพเป็นป่า มีสภาพเป็นป่ารกชัฏและป่าโปร่งบ้างในบางบริเวณ มีพื้นที่รวมตามที่ระบุคือ 31.5 ไร่  ที่ทางราชการระบุว่า "ปัจจุบันมีสภาพแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ราษฎรไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว และไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝนแต่อย่างใด" นั้น สภาพในความเป็นจริง ยังมีการกักเก็บน้ำไว้ และประชาชนน่าจะใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

            2. อย่างไรก็ตาม "กระทิงแดง" ได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี 2555 โดยปรากฏว่าในปัจจุบันที่สาธารณะห้วยเม็กนี้กลายเป็น "ไข่แดง" อยู่กลางที่ดินของ "กระทิงแดง" อย่างไรก็ตาม ตามแผนที่น่าจะมีทางสาธารณะเข้าถึงจากถนนใหญ่ (ท.ล.4003)

            3. ในการกว้านซื้อที่ดินที่ผ่านมา ที่ดินที่เป็นนา มีการซื้อขายกันในราคา 200,000 บาท ที่ดินติดถนน (ท.ล.4003) ก็มีราคาประมาณ 500,000 บาทต่อไร่ แต่ปัจจุบันเรียกขายเกินกว่านี้ราว 3 เท่า ที่ดินที่เป็นที่นา/สวนโดยรอบในปัจจุบันมีราคาประมาณ 200,000 บาทต่อไร่

            4. จากการศึกษาเปรียบเทียบเบื้องต้น ดร.โสภณ ประมาณการว่า มูลค่าของที่ดิน 31.5 ไร่ ที่เป็นที่สาธารณะหนองเม็กนี้ น่าจะมีราคาไร่ละ 280,000 บาท หรือตกเป็นเงินประมาณ 8.82 ล้านบาท หรือราว 9 ล้านบาท หากที่ดินแปลงนี้เป็นของเอกชน  "กระทิงแดง" อาจต้องซื้อในราคาที่สูงกว่านี้มาก เพราะจำเป็นต้องใช้พื้นที่

            5. ที่ว่าประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นอาจไม่เป็นจริง เพราะประชาชนยังสามารถใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือเก็บของป่า ฯลฯ

            ข่าวข้างต้นนี้ อาจเป็นการทำร้ายภาพลักษณ์ของบริษัทดังกล่าว ดร.โสภณ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) และเคยบรรยายในระดับปริญญาเอก และได้รับรางวัลการบริหารองค์กรจนได้รับรางวัล CSR มีข้อเสนอแนะต่อบริษัทกระทิงแดง

            1. การทำ CSR นั้นไม่ใช่การบริจาคเป็นสำคัญ ไม่ใช่การสร้างภาพ แต่เป็นการสร้างแบรนด์ (ไม่ใช่ทำลายหรือทำร้ายแบรนด์) ประกอบด้วยการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและครรลองคลองธรรมโดยเคร่งครัด และการมีมาตรฐานและจรรยาบรรณทางธุรกิจ ที่มีจริยธรรมไม่เบียดเบียนทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ชุมชนโดยรอบและสังคมโดยรวมอีกด้วย

            2. การประกาศไม่เช่าป่าชุมชนดังกล่าวของทางบริษัท เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำ CSR ของบริษัทเอง แต่ควรประกาศแผนการสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชนแห่งนี้เพื่อประโยชน์ของชุมชน และเป็นประโยชน์ต่อพนักงานของบริษัทซึ่งส่วนมากก็คงเป็นคนในชุมชนอีกด้วย โดยมีงบประมาณและการสนับสนุนอื่นประกอบเป็นรายปี ให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีเจตนาที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน

            3. ที่ผ่านมาที่บริษัทซื้อที่ดินล้อมรอบป่าชุมชนแห่งนี้ อาจทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะครอบครองที่ดินป่าผืนนี้  และป่านี้มีทางเข้าออกสาธารณะ บริษัทจึงควรบำรุงทางเข้าออกสาธารณะนี้เพื่อให้ประชาชนในชุมชนเข้าใช้พื้นที่ได้ตามสมควร จะได้ไม่เกิดการประท้วงบริษัท ซึ่งเป็นการทำร้ายภาพพจน์ของบริษัทได้

            4. การที่บริษัทมาตั้งอยู่ในบริเวณนี้ วัตถุประสงค์ก็อาจหวังใช้ทรัพยากรน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อใช้ผลิตน้ำดื่มหรือไม่ หรือเจาะน้ำบาดาลเพื่อการนี้ การแสดงตัวเลขการเช่าที่ดินหรือการจ่ายค่าสัมปทานขุดเจาะน้ำบาดาลอย่างยุติธรรม จึงเป็นกิจกรรม CSR อีกอันหนึ่งที่ควรเปิดเผยเพื่อความโปร่งใสเป็นที่ยอมรับของสังคม ข้อนี้บริษัทควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเพราะเขื่อนนี้สร้างมาเพื่อการเกษตกรรมเป็นสำคัญ การ (อาจ) จะใช้น้ำจำนวนมากเพื่อการอุตสาหกรรมจึงควรมีแผนการที่แน่ชัด หาไม่หากมีปัญหาการแย่งชิงน้ำกับประชาชนในพื้นที่จะทำร้ายภาพพจน์ของบริษัทได้อีก

            5. การมีแผนด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษเป็นสิ่งที่บริษัทควรประกาศชัดเจน เพราะเมื่อโรงงานเริ่มดำเนินการ อาจจะก่อปัญหามลพิษในทางใดทางหนึ่งต่อชุมชน บริษัทมีแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไรบ้าง และหากเกิดมลพิษขึ้น บริษัทมีกองทุนในการแก้ไขปัญหาอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชุมชนโดยรอบมีความไว้วางใจบริษัท

            การมี CSR ทีจับต้องได้และมีคุณค่าเช่นนี้จะทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือจากสังคม และเป็นการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนแก่บริษัทเอง


 

อ่าน 4,296 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved