มีแนวโน้มว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะ "บูม" โดยมีปริมาณอุปทานมากกว่าปี 2559 เสียอีก แต่กำลังซื้อจะเป็นของจริงหรือไม่เป็นสิ่งที่พึงระวัง แนะใช้ Escrow Account ป้องปราม
การเปลี่ยนแปลงอุปทานที่อยู่อาศัย พ.ศ.2559 - 2560 | ||||||
รายการ | มกราคม-สิงหาคม | มกราคม-ธันวาคม | ||||
2559 | 2560 | เปลี่ยนแปลง | 2559 | 2560 | เปลี่ยนแปลง | |
จำนวนโครงการ | 249 | 259 | 4% | 459 | 389 | -15% |
จำนวนหน่วย | 61,920 | 73,066 | 18% | 108,562 | 109,599 | 1% |
มูลค่า (ล้านบาท) | 191,769 | 256,970 | 34% | 365,293 | 385,455 | 6% |
ราคาขาย/หน่วย | 3.097 | 3.517 | 3.365 | 3.517 | ||
จำนวนหน่วย/โครงการ | 249 | 282 | 237 | 282 | ||
หมายเหตุ: ตัวเลขทั้งปี 2560 มาจากค่าเฉลี่ยรายเดือนปี 2560 คูณด้วย 12 (ตัวเลข 8 เดือนแรก * 12 / 8) | ||||||
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) |
จากข้อมูลสำรวจล่าสุด 8 เดือนแรกของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ สรุปว่า มีอุปทานมากกว่าปี 2559 อย่างชัดเจน แต่ในช่วง 4 เดือนหลังของปี 2559 มีการเปิดตัวโครงการกันขนานใหญ่ ทำให้จำนวนและมูลค่าของโครงการในปี 2559 ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามหากเอาตัวเลข 8 เดือนแรกของปี 2560 มาเฉลี่ยเป็นรายเดือน แล้วคูณด้วย 12 ก็จะพบว่า
1. จำนวนหน่วยขายที่เปิดใหม่ในปี 2560 ทั้งปีตามการคาดการณ์จะสูงถึง 109,599 หน่วย หรือมากกว่าปี 2559 ที่เปิดตัว 108,562 หน่วย อยู่ 1%
2. มูลค่าโครงการจะมีสูงถึง 385,455 ล้านบาท ซึ่งจะสูงกว่าปี 2559 ที่เปิดตัว 365,293 ล้านบาท อยู่ถึง 6% เลยทีเดียว
3. ราคาขายต่อหน่วยในปี 2560 จะเป็น 3.517 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2559 ที่ 3.365 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะสินค้าราคาถูกขายได้ยาก ประชาชนทั่วไปซื้อบ้านได้น้อยลง แต่ถ้าเป็นสินค้าราคาปานกลางค่อนข้างแพงขึ้นไป ยังมีแรงซื้อเก็งกำไรอยู่
4. จำนวนหน่วยต่อโครงการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเพราะเป็นการพัฒนาของผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า SMEs จึงทำโครงการขนาดใหญ่ให้คุ้มค่าการลงทนมากขึ้น ดังนั้นแม้จำนวนโครงการในปี 2560 จะน้อยกว่าปี 2559 แต่จำนวนหน่วยและมูลค่ากลับสูงกว่าปี 2559 อย่างเด่นชัด
การเพิ่มขึ้นของอุปทาน แสดงว่ายังมีแรงซื้อที่อยู่อาศัยอยู่ ยังมีผู้คนสนใจเก็งกำไรกันมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ขณะที่ช่องทางการลงทุนที่มั่นคงอื่นมีจำกัด จึงหันมาเก็งกำไรในอาคารชุดกันเป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์ที่โครงการอาคารชุดแห่งหนึ่งที่ขายหมดในวันเดียวเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นชัดว่า ความต้องการซื้อ (เก็งกำไร) ยังมีหนาแน่น ดร.โสภณ เสนอทางออกในการสร้างความมั่นคงแก่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทย ดังนี้:
1. อนุญาตให้มีการตั้งธนาคารขึ้นอีกหลายแห่งโดยเฉพาะธนาคารจากต่างประเทศ เพื่อให้มีการแข่งขันที่แท้จริง เพราะปัจจุบันความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากของไทย สูงถึง 5 เท่า (http://bit.ly/2q5ZQg9)
2. ควรเพิ่มเงินดาวน์ เพื่อคัดสรรผู้ซื้อบ้านที่แท้จริง ไม่ใช่เน้นนักเก็งกำไร
3. ควรมีระบบภาษีกำไรโดยคิดจากส่วนต่างระหว่างราคาตอนซื้อกับราคาตอนขาย
4. ควรเก็บภาษีการโอนขายบ้านภายในเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี ในอัตรา 5% ของมูลค่า เพื่อลดการเก็งกำไร ไม่ใช่ส่งเสริมให้เก็งกำไร ทำให้ผลประกอบการบริษัทพัฒนาที่ดินดี แต่เป็นการสร้างระเบิดเวลาให้กับวงการพัฒนาที่ดินในอนาคตอันใกล้
5. บังคับใช้ระบบคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อ-ผู้ขายบ้าน (Escrow Account) โดยทั้งสองฝ่ายต้องเข้าระบบคุ้มครองนี้ เผื่อบริษัทพัฒนาที่ดินรายใดประสบปัญหาในอนาคต ก็จะสามารถคืนเงินดาวน์ผู้ซื้อบ้านได้ทันที (พร้อมดอกเบี้ย) ซึ่งจะช่วยให้การซื้อขายบ้านยิ่งมากขึ้นเพราะมีความมั่นใจมากขึ้น และทำให้แบรนด์ของบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีเท่ากัน ไม่เสียเปรียบกัน เพราะต่างมีการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนกันนั่นเอง
ต้อง "ปฏิรูป" วงการเงินเคหะการเสียให้ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย