เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าว "กระทิงแดง" ขอนแก่น สร้างโรงงานทับทางสาธารณะ ปัญหานี้จะแก้ไขได้ แนวทางการแก้ไขเป็นอย่างไร มาศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ข่าวว่า "'กระทิงแดง' เจออีกดอก นายอำเภออุบลรัตน์แจ้งความสร้างโรงงานทับทางสาธารณะ" (MGR 26 กันยายน 2560: http://bit.ly/2xxzsuF) โดยมีเนื้อข่าวว่า นายอำเภออุบลรัตน์ได้เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีบริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (เครือกระทิงแดง) ในข้อหาบุกรุกทางสาธารณะ เนื่องจากบริษัทฯ ได้กระทำการก่อสร้างอาคารโรงงานทับเส้นทางสาธารณะตามแผนที่ทางอากาศ และแผนที่ดาวเทียม . . .โดยบริษัทฯ ต้องทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางสาธารณะ เพราะเป็นคดีอาญายอมความกันไม่ได้
ต่อมามีข่าวว่า "โรงงานกระทิงแดง ขอนแก่น ล้มไม่เป็นท่า ทิ้ง 3 พันล้าน หลังโดนชาวบ้านต้านหนัก เล็งสร้างฐานการผลิตใหม่ เบนเข็มหาเพื่อนบ้าน" (TNews 5 ตุลาคม 2560: http://bit.ly/2zcRJ2D) โดยมีแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า "บริษัทฯ จึงตัดสินใจยกเลิกการลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะใช้กับโรงงาน และยุติการดำเนินกิจการโรงงานในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยบริษัทฯ กำลังพิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เพราะโรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตสำคัญเพื่อการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV"
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ชี้ให้เห็นว่าปัญหาแบบนี้มีทางออก และที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขปัญหาสำเร็จมาแล้ว เช่น ในกรณีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ก็สามารถที่จะขอถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ได้ แต่ทั้งนี้ต้องออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี
“การถอนสภาพ” หมายความว่า การดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา 8 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีผลทำให้ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือที่ดินที่ได้มีการหวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองซึ่งมิได้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เปลี่ยนสถานะหรือพ้นสภาพจากการเป็นที่ดินนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550 (http://bit.ly/2gsElzA)
กรณีนี้ "กระทิงแดง" พยายามทำให้ดีเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน ด้วยการสร้างถนนสายใหม่แทนทางเกวียนเดิมที่แทบไม่ได้สัญจรหรือมีลักษณะคดเคี้ยวไม่เหมาะสม แต่ก็เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นหนทางที่ทำได้ก็คือ การรังวัดให้แน่ชัดว่าทางสาธารณประโยชน์เดิมมีขนาดกี่ตารางวาหรือกี่ไร่ แล้วเพิกถอนสภาพโดยความเห็นชอบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอผ่านระดับจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทย
หลังจากนั้น "กระทิงแดง" อาจสร้างถนนที่กว้าง มีสภาพที่ดีกว่าและเป็นเส้นทางที่สะดวกกว่าให้กับชุมชน แต่หากทางเกวียนเหล่านั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ก็อาจนำที่ดินที่ถอนสภาพแล้วตามขนาดที่วัดได้ มาแลกกับที่ดินที่อยู่ด้านหน้า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น เป็นศาลาประชาคม เป็นต้น หรืออาจขายที่ดินนั้นๆ ให้กับ "กระทิงแดง" ได้โดยนำเงินเข้าชุมชนเป็นต้น
นอกจากนี้ การถอนสภาพยังสามารถทำได้ตาม พรบ.จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ.2547 (http://bit.ly/2xvTRFo) อีกด้วย การจัดรูปที่ดินยังทำให้การโอนที่ดินจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่ง ไม่ต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมโอนอีกด้วย ทั้งนี้ในการเริ่มต้นรวบรวมที่ดิน อาจส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันจัดรูปที่ดินเสียใหม่ ถอนสภาพที่ดินหรือทางสาธารณประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว จัดแบ่งแปลงเสียใหม่ จัดรูปถนนเสียใหม่ แล้วค่อยนำที่ดินที่มีสภาพสมบูรณ์เป็นผืนเดียวกัน ไม่มีทางสาธารณะประโยชน์มาโอนขายให้กับบริษัทอีกต่อหนึ่ง ก็ยังสามารถทำได้นั่นเอง
การมีทางสาธารณะ ที่สาธารณะ ลำรางสาธารณะ ห้วย หนอง คลองบึงสาธารณะโดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาที่ดินเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังนำไปสู่โอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบของราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาคจนถึงส่วนกลางอีกด้วย สมควรที่จะมีการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้การพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ (ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม) สามารถทำได้โดยไม่ติดขัดข้อกฎหมายล้าสมัยเช่นนี้ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ โดยที่ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียประโยชน์ต่อชุมชนอีกด้วย
การถอนสภาพทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิรูประเบียบกฎหมายที่คร่ำครึเพื่อการพัฒนาประเทศ
ที่มาของภาพที่ 1: https://mgronline.com/local/detail/9600000098699
ที่มาของภาพที่ 2: http://www.tnews.co.th/contents/365371