เห็นหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ โฆษณาเรื่องการมีความรับผิดชอบต่อสังคมกันขนานใหญ่ ไปทำดีสารพัด แต่เชื่อหรือไม่ เครื่องชี้ CSR ง่าย ๆ กลับอยู่ตรงที่จอดรถนั่นเอง
ความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR (Corporate Social Responsibility) นั้นหลายคนตีความไปทางการทำดีโดยอ้างอิงสิ่งอื่นสารพัด แต่แท้จริงแล้วก็คือความรับผิดชอบในสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างหาก ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินคาอสังหาริมทรัพย์ไทย ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนวิชา CSR ในระดับปริญญาโท-เอก ขอยกตัวอย่างกรณีของส่วนราชการต่าง ๆ ว่าแท้จริงแล้วหลายแห่งยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคมเท่าที่ควร
หน่วยราชการส่วนมากมีหน้าที่ให้บริการลูกค้า เช่น สำนักงานเขต ธนาคารของรัฐ รัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภค หรือแม้แต่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรืออื่นๆ แต่จะสังเกตได้ว่า เกือบทุกหน่วยงานไม่มีที่จอดรถไว้ให้บริการแก่ผู้มาติดต่อให้เพียงพอเท่าที่ควร ในหลักการที่ถูกต้องก็คือ เราต้องถือว่าผู้มาติดต่อเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุดที่ส่วนราชการต้อง "รับใช้ประชาชน" เพื่อว่าประชาชนผู้ใช้บริการจะได้มาติดต่องานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ กลับไปทำมาหากินตามปกติสุขของพวกเขา
แต่ถ้าเราสังเกตให้ดี
1. เวลาไปติดต่อส่วนราชการเช่นสำนักงานเขต อำเภอ แทบจะหาที่จอดรถไม่ได้ หรืออันที่จริง (แทบ) ไม่มีที่จอดรถสำหรับผู้มาติดต่อเลยก็ว่าว่าได้ หรือมีก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำมาจอด หรือขาดผู้ให้การดูแลที่ดี มีรถอื่น เช่น พ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นมาจอด เป็นต้น
2. เวลาไปสนามบินดอนเมือง จะสังเกตได้ว่าที่จอดรถอาคาร 1-2 ก็แทบเต็มตลอด (คงมีแต่เจ้าหน้าที่จอดเป็นส่วนใหญ่) ปล่อยให้ผู้มารับส่งผู้โดยสารวนไปจนถึงชั้นดาดฟ้าแล้วก็ยังหาที่จอดไม่ได้ ต้องตะเกียกตะกายมาเอง ส่วนยามก็นั่ง "บี้สิว" หรือถกแถลงกันเองอยู่ ไม่ได้ออกมาโบก หรือไม่มีการบอกตั้งแต่ทางเข้าแล้วว่ารถเต็ม ไม่ต้องเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังปล่อยให้วนจนกระทั่งหาที่กลับลงมากันเอง เป็นเวลาราวครึ่งชั่วโมง รถก็จอดซ้อนคันกันจนท้ายชนท้าย อาคารจอดรถอื่นก็เป็นของเจ้าหน้าที่ มีแต่อาคารจอดรถ 3 หรือบริเวณสนามบินในประเทศอันเก่าที่ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 600 เมตร เป็นต้น
3. ธนาคารของรัฐบางแห่งก็สร้างที่จอดรถอย่างดีไว้ให้เจ้าหน้าที่จอดรถกันเอง ส่วนประชาชนทั่วไปก็ไปจอดตากแดดกันเอง หรือไม่ก็ต้องวนจนหมดที่จอดรถ แล้วไปหาที่จอดรถข้างนอก เป็นต้น
ปรากฏการณ์แบบนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของ CSR ที่อาจขาดความรับผิดชอบเท่าที่ควร หน่วยราชการหลายแห่งคงรับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่ของพวกเขาเองเป็นหลัก ไม่ได้นึกถึงผู้ใช้บริการที่คงถูกมองว่าเป็น "ตาสีตาสา" ไมได้ทำตัวเป็นผู้รับใช้ประชาชนเท่าที่ควร หน่วยราชการสมัยนี้สร้างอาคารกันใหญ่โตโอโถงยิ่งกว่าสำนักงานใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศไทยเองเสียอีก การกระทำอย่างนี้
เวลาที่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจคิดจะทำดี ก็ทำดีกันตามกระแสตามแฟชั่น เช่น ไปปลูกป่าบ้าง ไปเข้าวัดบ้าง ฯลฯ แน่นอนว่าเราควรรับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ใช่ถึงขนาด (แทบ) ไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้มาใช้บริการ โดยเฉพาะเรื่องง่าย ๆ แค่ที่จอดรถ แต่ยินดีเสียเงินงบประมาณมากมายไปทำดีสารพัดที่ผู้ทำดี หรือผู้บริหารส่วนราชการนั้น ๆ ได้หน้าได้ตาหรือได้รับการ "ปูนบำเหน็จ" การทำดีนั่นเอง
เรื่องที่จอดรถนี่เป็นปรากฏการณ์แรกที่เห็นได้ชัด นอกจากนี้เครื่องชี้วัดที่สำคัญของหน่วยราชการต่าง ๆ ก็คือความพึงพอใจของผู้ใช้บริการหรือประชาชนนั่นเอง นอกจากนี้การทุจริตและประพฤติมิชอบก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าส่วนราชการต่าง ๆ มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ ยิ่งถ้าทำผิดกฎหมาย โกงกินสารพัด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าเป็นส่วนราชการแห่งการทุจริตแล้วล่ะก็ จะบอกว่าตนเองทำดีสารพัด มีความรับผิดชอบ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นแค่ความดีแบบลูบหน้าปะจมูกที่มักจะทำกันส่งเดชในเวลานี้
การจัดที่จอดรถให้เพียงพอหรือไม่สำหรับผู้ใช้บริการจะได้กลับไปทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเครื่องชี้วัดตัวแรกของ CSR ของส่วนราชการไทย
ที่มาของภาพประกอบ: http://www.buriramcity.go.th/images/activitys/2560/052560/11.png
Download / อ่านฟรี หรือซื้อเพื่อสนับสนุนมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยได้ที่ http://bit.ly/1MfpeQH