ชอบกล, ไทยยกรถไฟให้จีน: มาดูมาเลย์ซี่
  AREA แถลง ฉบับที่ 407/2560: วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การที่รัฐบาลยกให้จีนสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ดร.โสภณ เห็นแย้งว่า ที่จริงให้จีนสร้างให้ฟรีๆ จีนยังยอม พร้อมยกกรณีรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย-สิงคโปร์มาเทียบให้เห็นว่าไทยเสียเปรียบอย่างไร

            ตามที่มีข่าว "ด่วน! บิ๊กตู่ใช้ม.44 ไฟเขียวจีนสร้างไฮสปีด วิศวกร-สถาปนิกไม่ต้องอยู่ในบังคับกม.ไทย" (มติชน 15 มิถุนายน 2560 http://bit.ly/2vaU4eD) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เห็นว่าการก่อสร้างแบบนี้ไทยเสียเปรียบมาก โดยยกกรณีตัวอย่างรถไฟฟ้ามาเลเซีย-สิงคโปร์มาเปรียบเทียบ

            เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของมาเลเซีย-สิงคโปร์นี้ มีระยะทาง 350 กิโลเมตร มีสถานีอยู่ 8 แห่ง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2560 และจะเปิดใช้ในปี 2569 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยแต่ละขบวนจะมี 10 ตู้ๆ ละขนส่งมวลชนได้ 100 คน และเป็นรถไฟที่มีรางขนาด 1.435 เมตร คาดว่าจะสามารถวิ่งได้ชั่วโมงละ 300 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจากกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ ใช้เวลาประมาณ 90 นาที แต่ถ้านั่งเครื่องบินใช้เวลาบิน 65 นาที แต่กว่าจะได้ขึ้นลงทางอากาศก็คงกินเวลารวม 3 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าการเดินทางโดยทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้

            สำหรับงบประมาณเป็นเงินประมาณ 334,970 ล้านบาท (44.3 พันล้านริงกิต) (http://bit.ly/2bhsYZw) หรือเฉลี่ยในทุก 1 กิโลเมตร เป็นเงิน 957 ล้านบาท เทียบกับของไทยที่เป็นเงิน 179,412 ล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร (http://bit.ly/2uJUBUu) หรือเป็นเงินกิโลเมตรละ 709 ล้านบาท (เฉพาะค่าก่อสร้างซึ่งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นและอาจบานปลายได้)  ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือรัฐบาล "คุย" ว่าจะสร้างเสร็จใน 4 ปี แต่ของมาเลเซียจะใช้เวลาถึงราว 8-9 ปีเลยทีเดียว

            มาลองดูว่าเราจะเสร็จได้จริงหรือไม่

            1. ขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการนี้ก็ง่าย ๆ ไม่หมกเม็ด โดยหลังจากการลงนามในวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2559 ก็เปิดประมูลการศึกษาทางวิศวกรรม และในปลายปี 2560 ก็เปิดประมูลการดูแลระบบรถไฟฟ้า ไม่ใช่ออกมาในลักษณะ "ชักเข้าชักออก" ขาดความแน่นอน

            2. ในการเปิดฟังคำชี้แจงการประมูลเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของมาเลเซีย-สิงคโปร์นั้น มีบริษัทเข้าร่วมการรับฟังเพื่อเตรียมการประมูลเกือบ 400 ราย เป็นบริษัทระหว่างประเทศ 165 ราย จากยุโรป 67 ราย จากมาเลเซียเอง 29 ราย และจาก สิงคโปร์ 25 ราย (http://bit.ly/2tNqZT5)  ไม่ได้ "ปิดประตูตีแมว" เฉพาะจีนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

            3. บริษัทท้องถิ่นก็สามารถเข้าแข่งขันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ แม้ไม่มีประสบการณ์ ที่มาเลเซีย เขาไม่มีการอ้างว่าจีนรู้ดีเรื่องรถไฟความเร็วสูงกว่ามาเลเซีย หรือมาเลเซียไม่เคยมีประสบการณ์สร้างรถไฟความเร็วสูงดังที่อ้างกัน (ส่งเดช) ในไทย (http://bit.ly/2u8xoYC)

            ไทยจึงควรศึกษาแบบอย่างจากมาเลเซีย-สิงคโปร์ จะได้ไม่เสียเปรียบจีน ในกรณีไทย จีนมีความต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก ไทยน่าจะสามารถเจรจากับจีนได้ดีกว่านี้ ตามศักยภาพงบประมาณค่าก่อสร้างเพียง 179,412 ล้านบาท ให้จีนสร้างให้ฟรี โดยให้ประโยชน์แก่ทางการจีนตามสมควร จีนก็อาจยังยอมโดยรัฐบาลไม่ต้องกู้เงินสร้างสักบาท

            ช่วยกันคิดเพื่อชาติ

อ่าน 5,100 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved