ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะมอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน ดร.โสภณ ฟันธงว่า นี่คือของขวัญเคลือบยาพิษจากรัฐบาลที่คิดโดย ดร.สมคิด และคณะทำงานอย่างแน่แท้ ถือเป็นการหาเสียงแต่ทำลายเศรษฐกิจชาติในระยะยาว
รายละเอียดของของขวัญปีใหม่ก็คือ ". . .สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองวงเงินรวม 6.1 ล้านบาท. . .รวม 3 โครงการ มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และระยะเวลากู้ยืมสูงสุดถึง 40 ปี รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งให้ยื่นขอคำกู้ได้ จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 หรือเมื่อธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเต็มโครงการแล้ว. . .แบ่งออกเป็นประชาชนผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีวงเงินโครงการรวม 30,000 ล้านบาท วงเงินสูงสุดต่อรายให้กู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปี แรก 2.75% ต่อปี กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 3% ต่อปี สำหรับวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ขณะที่บุคลากรภาครัฐมีวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินสูงสุดต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก MRR-3.75% ต่อปี หรือ เทียบเท่า 3% ต่อปี (กรุงเทพธุรกิจ 27 ธันวาคม 2560 หน้า 1)
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขอวิพากษ์ "ของขวัญเคลือบยาพิษ" ของคณะทำงานเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด ดังนี้:
1. ของขวัญนี้เป็นการมอบให้กับผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% ในตลาด โดยเฉพาะบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์มากกว่ามอบให้ประชาชน เพราะเป็นการ "ยกภูเขาออกจากอก" ของผู้ประกอบการที่ผู้ซื้อบ้านยังคาราคาซังไม่ยอมโอนบ้านอยู่ในขณะนี้ให้รีบโอนเพื่อปัดพ้นภาระของผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าช่วยผู้ประกอบการรายเล็กที่เหลืออยู่น้อยในตลาด
2. เศรษฐกิจโดยทั่วไปของประเทศไทยยังไม่ฟื้นคืน ประชาชนยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นตามที่ ดร.สมคิดโพนทะนาไว้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด
3. การให้ข้าราชการมีสิทธิสารพัดในการกู้ เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน ปกติสังคมควรให้เกียรติข้าราชการ และข้าราชการก็ได้รับสิทธิพิเศษมากมายกว่าประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ถ้ามีข้าราชการรายใดไม่พอใจกับสวัสดิการจนต้องรอสวัสดิจากรัฐด้วยการก่อหนี้เช่นนี้ ก็ควรลาออกไปประกอบอาชีพอื่น
4. การให้ผ่อนชำระได้ยาวนานถึง 40 ปีนั้น หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ 20 ปี ทำให้อัตราการผ่อนชำระลดลงไปเพียง 24% เท่านั้น เท่ากับไม่คุ้มค่าเลยที่ยืดเวลาออกไปยาวนานเช่นนี้
ยิ่งกว่านั้น ดร.โสภณ ยังให้ข้อสังเกตว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการมุ่งหาเสียงทางการเมืองหรือไม่ เป็นการทำลายวินัยทางการเงินหรือไม่ เป็นการหาทางออกเพื่อ "ปั้ม" ตัวเลข GDP อย่างหลอกๆ หรือไม่ และอาจจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและประเทศชาติโดยรวม เพียงเพราะผู้บริหารในปัจจุบัน มุ่งหวังผลเฉพาะหน้าจากการ "ปั้ม" ตัวเลขเศรษฐกิจหรืออย่างไร