ชำแหละของขวัญรัฐบาล. . .บ่มิไก๊จริงๆ
  AREA แถลง ฉบับที่ 491/2560: วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ดร.โสภณ "ชำแหละ" สิ่งที่เรียกว่า "ของขวัญปีใหม่" แท้จริงแล้ว "บ่มิไก๊" "ไม่มีอะไรในกอไผ่" จริงๆ เป็นแค่การซื้อเสียง และ "ผักชีโรยหน้า"

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้ "ชำแหละ" "ของขวัญปีใหม่" ที่รองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บรรจงคิดขึ้นตั้งหลายรายการและ "ตีปิ๊บ" ว่าแจกมากมาย  แต่ความจริง ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารสำหรับประชาชน

          1. ฟรีค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์-วงแหวน: ปกติคนขึ้นก็ "มีปัญญา" เสียค่าทางด่วนอยู่แล้ว จะไปฟรีทำไม แต่สายอื่นๆ ไม่ได้ฟรีเพราะเป็นสัมปทาน ที่สามารถให้ฟรีได้ก็เพราะไม่ใช่เงินของตนเอง แทนที่จะเอาเข้าคลังเพื่อพัฒนาประเทศ กลับแจก "หาเสียง" เสียอย่างนั้น

          2. ทีโอทียกเลิกค่าโทรศัพท์ประจำที่ 3G บริการ: นี่ไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อน แต่เพียงอยากแจก เพราะไม่ใช่เงินของเรา ควรหวงแหนทรัพยากรของชาติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อชาติให้มากกว่านี้

          3. ติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 24,700 หมู่บ้าน: นี่เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นความคิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ มาเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว โดยนายกฯ ทักษิณ กล่าวว่า "ผมจะทำอินเตอร์เน็ตระดับตำบล 7,000 ตำบล ถ้าได้ผลดี ผมจะลงถึงหมู่บ้านซึ่งมีแค่ 70,000 เอง" (https://goo.gl/WwStJN)

          4. ลดค่าใช้จ่ายยกเว้นค่าธรรมเนียมประนอมข้อพิพาท: ข้อนี้ไม่ทราบว่าเข้าข่าย "แหกตา" หรือไม่ เพราะหากเป็นในกรณีของค่าธรรมเนียมประนอมข้อพิพาทของสถาบันดูจากรายงาน ปรากฏว่าในรายงานประจำปี 2558 (ล่าสุด) พบรายได้นอกงบประมาณและรายได้อื่นที่อาจเป็นค่าธรรมเนียมข้อพิพาท (https://goo.gl/2QHF9k) เพียงไม่เกิน 2 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้จริง มาตรการนี้ก็แทบ "ขนหน้าแข้งไม่ร่วง" ใดๆ เลย

          5. ธกส. คืนดอกเบี้ย 30% ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนสวัสดิการรัฐหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท: อยู่ดีๆ เอาเงินหลวงไปคืนซะงั้น แล้วที่มีหนี้เกิน 3 แสน ซึ่งน่าจะมีภาระมากกว่าหรือไม่ กลับไม่ได้รับการคืน อย่างนี้เรียกว่า "ฝนตกไม่ทั่วฟ้า"

          6. ธอส. คืนเงิน 1,000 บาท ให้ลูกค้ามีประวัติชำระหนี้ดี ย้อนหลัง 48 เดือน: ในกรณีนี้อย่าเข้าใจผิดว่าคืน 1,000 บาทคูณ 48 เดือน (รวม 48,000 บาท) แต่หมายถึงแค่ 1,000 บาทสำหรับลูกค้า 178,000 บาท (https://goo.gl/XpMmzL) หรือรวมเป็นเงิน 178 ล้านบาทเท่านั้น ธอส. มีรายได้ในปี 2559 อยู่ 29,761 ล้านบาท (https://goo.gl/6gw6H7) เอาเงินมาใช้โฆษณาแค่ 178 ล้านบาทหรือ 0.6% ถือว่าน้อยกว่าค่าโฆษณาอยู่มาก

          7. มอบของขวัญผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไปรายละ 1,000-2,000 บาท: กรณีนี้ไม่ได้แจกเงินแต่แจกของขวัญ ปรากฏว่ามีคนไทยที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพียง 1,309 คน (https://goo.gl/1f5skX) รวมมูลค่าที่จะแจกเพียงไม่เกิน 2 ล้านบาท เรียกว่า "จิ๊บจ๊อย" มาก และจะตามไปแจกได้ครบหรือไม่ยังไม่ทราบ

          8. ให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดของใช้ 1,000 บาท จังหวัดละ 65 ราย: นี่รวมเป็นเงินประมาณ 5 ล้านบาทเท่านั้น ต้นทุนในการไปแจกยังอาจมากกว่าของขวัญที่แจกหรือไม่ แล้วจังหวัดใหญ่หรือเล็กก็ให้จำนวน 65 คนเท่ากัน ไม่รู้ว่า "คิดได้ไง?"

          9. มอบ DEPA Literacy Voucher แก่ผู้พิการ 200 ราย ๆ ละ 1,000 บาท: ก็เป็นการดำเนินการของหน่วยงานเล็ก ๆ แห่งหนึ่งคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น

          โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าเป็น "ของขวัญปีใหม่" ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ และเป็นการ "ให้ปล่า" ไม่ได้ "ให้เบ็ดตกปลา" เป็นการให้ที่ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นประโยชน์ และอาจเป็นโทษในระยะยาว และถือเป็นแค่ราคาคุยของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์และทีมงานเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

อ่าน 4,907 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved