ดร.โสภณ ยกตัวอย่างสะพานและถนนข้ามเทือกเขาแอลป์ จากอิตาลีสู่ออสเตรีย ให้เห็นว่า เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจราจรและอนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ใน AREA แถลง ฉบับที่ 151/2560: วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เสนอสร้างทางยกระดับ 33,864 ล้านบาท แก้ปัญหาช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ รวมทั้งคนได้รับอันตรายจากการสัญจรบนถนนธนะรัชต์ข้ามเขาใหญ่ จะแก้ไขได้ด้วยการสร้างทางด่วนตัดตรงข้ามเขาใหญ่ไปเลย จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนจริงๆ (http://bit.ly/2nOY0yV)
ไม่เฉพาะเขาใหญ่เท่านั้น หลายเส้นทางก็ควรสร้างทางหลวงยกระดับ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนหรือเส้นทางสายเอเซีย R2 นั้นไม่เพียงแต่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ยังเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันในคาบสมุทรอินโดจีน แต่น่าอนาถนัก เมื่อผ่านประเทศไทย อาจต้องพังเพราะพวกเอ็นจีโออนุรักษ์ ห้ามขยายถนนผ่านป่าโดยโครงการขยายถนนหมายเลข 12 จาก 2 เลนเป็น 4 เลน เส้นทางหล่มสัก-คอนสาร ซึ่งตัดผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง 43 กิโลเมตร ที่คัดค้านโดยกลุ่มเอ็นจีโออนุรักษ์ และกรมอุทยานฯ (http://bit.ly/2jPeEvE)
พวกเอ็นจีโอกีดขวางความเจริญของประเทศชาติ ไม่สนใจความเป็นจริง อันที่จริงมีแนวทางที่จะพัฒนา ที่ช่อง Brenner Pass ตรงชายแดนระหว่างอิตาลีและออสเตรีย ปรากฏว่ามีถนนดังกล่าว ช่วงใจกลางของ Brenner Pass มีถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร และทางรถไฟ เชื่อมระหว่าง Bozen/Bolzano ทางทิศใต้ และ Innsbruck ทางทิศเหนือ ในบริเวณจุดเริ่มต้นมีทั้งโรงแรม แหล่งจับจ่ายใช้สอย และอื่นๆ อีกด้วย
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Brenner_Pass
ที่มา: www.faz.net/aktuell/politik/fluechtlingskrise/geplante-grenzkontrollen-am-brennerpass-14176888.html
ส่วนหนึ่งของ Brenner Pass ก็คือ The Europa Bridge or Bridge of Europe (Europabrücke) โดยมีระยะทาง 777 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง A13 (Brenner Autobahn และ European route E45) ข้ามหุบเขาที่ลึกถึง 657 เมตรที่ Wipp Valley ทางด้านใต้ของเมือง Innsbruck ออสเตรียที่มีแม่น้ำ Sill ไหลผ่าน ช่วงสะพานที่ยาวที่สุดยาว 198 เมตร สะพานนี้กว้าง 25 เมตร ก่อสร้างในปี 2502 และแล้วเสร็จในปี 2506 ถือเป็นสะพานที่สูงที่สุดในยุโรป
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Europa_Bridge
ในกรณีเขาใหญ่ หรืออุทยานน้ำหนาวหรือที่อื่น ๆ ในประเทศไทย ก็ไม่ได้มีภูเขาสูงชันเช่นเทือกเขาแอลป์ น่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากหากมีการก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างก็คงไม่มาก และยังสามารถคุ้มทุนได้ในเวลาไม่นาน ยิ่งกว่านั้นในบางฃ่วงก็อาจสร้างเป็นอุโมงค์ลอดใต้ภูเขา ก็ยังสามารถดำเนินการได้
ต้องช่วยกันคิดเพื่อชาติ อย่าให้พวกเอ็นจีโอฉุดรั้งความเจริญของชาติ เพราะจะทำให้ประชาชนคนเล็กคนน้อย คนส่วนใหญ่เดือดร้อน ส่วนพวกรวยๆ ไม่เดือดร้อนอะไร (แถมยังได้หน้าได้ตากับการรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อมแบบไร้ราก)