กระบวนการสร้างวีรบุรุษ "ตูน" ที่ห้ามแตะ
  AREA แถลง ฉบับที่ 18/2561: วันอังคารที่ 09 มกราคม 2561
ที่มา: https://goo.gl/iRYa1u
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การวิ่งของ "ตูน บอดี้สแลม" น่ายกย่อง ครูพลามติงว่าตูนไม่ใช่วีรบุรุษเพียงคนเดียวนั้นก็ถูก เพราะมีคนวิ่งอย่างทรหดอดทนกว่าตูนก่อนหน้านี้ตั้ง 2 ท่าน ตูนไม่ควรดีใจกับรางวัลที่บิดเบือนนี้ ต้นทุนการวิ่งของตูนและทีมงานนับร้อยชีวิตอาจสูงถึง 30 ล้านบาท ไม่รู้ใครออก แต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุน การทำดีของตูนมีประสิทธิภาพที่ดีให้เกิดการร่วมด้วยช่วยกัน แต่จะมีประสิทธิผลหรือไม่ต่อการแก้ไขระบบสาธารณสุขก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่ซื้อเรือดำน้ำ 36,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับให้ตูนวิ่ง 31 รอบ รัฐบาลก็จะมีเงินมาพัฒนาการสาธารณสุขมากกว่านี้

            จากการที่ "ครูพลาม" หรือ จ.ส.ต.พลาม พรมจำปา อดีตนักวิ่งคนที่ 2 ที่วิ่งจากเบตง-แม่สาย ออกมาวิจารณ์ "ตูน บอดี้สแลม" จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ กรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะนักวิเคราะห์วิจัยสังคมและอสังหาริมทรัพย์ เห็นว่าเป็นประเด็นทางสังคมที่พึงวิเคราะห์เพิ่มเติม ถือเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญา:

            1. มีคนอื่นที่วิ่งก่อน แต่ไม่ดังเท่าตูน ที่ผ่านมามีผู้วิ่งก่อนหน้าตูน 2 ท่านคือ ในปี 2529 ครูไชยวัฒน์ วรเชฐวราวัตร (http://bit.ly/2EnkVWu) วิ่งระดมทุนช่วยเหลืออาหารกลางวันเด็กนักเรียน 24 โรงเรียน ใช้เวลาวิ่ง 60 วัน และได้เงินสนับสนุนมาราว 2 ล้านบาท ส่วนอีกท่านคือครูพลามวิ่งในวันที่ 13 เมษายน 2548 จากแม่สายไปเบตง ใช้เวลาวิ่ง 42 วัน เพื่อความสงบสุขในชายแดนใต้ นอกจากนั้นในปี 2550 ครูพลามยังวิ่งกลับเบตงไปแม่สายอีกรอบต่างหาก (http://bit.ly/2CI8Z0V) ในกรณีนี้คงเข้าใจได้ไม่ยากที่ทั้งสองไม่ดังเท่าตูน เพราะทั้งสองท่านไม่ได้เป็นดารา ไม่ได้มีกองเชียร์ที่สนับสนุนจากแข็งขันเช่นตูน และแม้ถ้าต่อไปมีดาราดังและหล่อกว่าตูนมา "เลียนแบบ" วิ่งบ้าง ก็ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนเท่านี้อีก

            2. อันที่จริง ตั้งแต่ตูนเริ่มวิ่งครูทั้งสองท่านก็ต่างชื่นชมตูนมาโดยตลอด และยังปรารภอยากพบกับตูน แต่ไม่ได้พบ ซึ่งกรณีของครูพลาม บอกว่า "วันที่เข้าเส้นชัยที่แม่สาย 25 ธ.ค.2560 ผมไปรอแสดงความยินดีด้วย ทีมงานก้าวคนละก้าวจึงมาล็อกตัวขอร้องให้ผมอยู่ห่างๆ ตูน" (http://bit.ly/2qHJU4L) กรณีนี้ก็คงพอเข้าใจได้เช่นกันว่าทีมงานคงกลัวตูนถูก "แยงซีน" จะสังเกตได้ว่าคนที่มาพบมาถ่ายรูปหลายคนจนออกข่าวนั้นมักมาบริจาคเงินนับล้านๆ เลยทีเดียว เช่น "เจ เจตริน" "แอ๊ด คาราบาว" "บอย ท่าพระจันทร์" ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้ก็น่ายกย่องเช่นกัน

            3. ถ้าเทียบตูนกับครูทั้งสองท่าน อาจต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ในแง่ของความอดทนบากบั่น ครูทั้งสองน่ายกย่องกว่ามาก โดยทั้งสองวิ่งโดยที่ไม่ได้มีการอำนวยความสะดวกหรือการสนับสนุนแต่ประการใด แถมยังใช้เงินส่วนตัวในการวิ่ง และยังนอนตามศาลาพักริมทางบ้างหรือที่อื่นๆ ตามมีตามเกิด (http://bit.ly/2CI8Z0V) ต่างจากกรณีของตูนที่มีกองคาราวานและรถหรูคอยตามติดและมีการประคบประหงมดูแลอย่างดีตลอดเส้นทาง


ภาพครูพลามพักตามศาลาริมทางและมีผู้ขับรถตามคนเดียว


ภาพรถหรูของตูนและทีมงาน

 

คลิปรถหรูของตูนที่ใช้พักระหว่างวิ่ง https://www.youtube.com/watch?v=H90r_SQQX_A

            4. ต้นทุนในการวิ่งของตูนค่อนข้างสูง ตามข่าว "รู้จักทีม 'ก้าวคนละก้าว' ตั้งแต่ ตูน ยันเบื้องหลัง ผ่านเอ็มวี 'แด่เธอ' พาไปรู้จักทีมงานก้าวคนละก้าว กว่า 100 ชีวิต" (http://bit.ly/2EnG5Ua) ถ้าตีเป็นเงินคนละ 2,000 บาท (บางส่วนอาจไม่รับ ทำด้วยใจ) ต่อคน ก็ 200,000 บาทเข้าไปแล้ว และถ้ารวมค่าขบวนรถ ค่าใช้จ่ายต่างๆ วันหนึ่งคงเป็นเงินราว 500,000 บาท วิ่งอยู่ 55 วัน ถ้ารวมเวลาดำเนินการก่อน-หลังด้วยก็อาจตีเป็น 60 วัน รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ไม่ทราบว่าเงินทองมากมายปานนี้ใครเป็นคนควักกระเป๋าจ่าย นี่ยังไม่รวมต้นทุนที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ จัดงานสนับสนุนมากมายเพื่อระดมทุนมามอบนับสิบๆ ล้านบาทระหว่างที่ตูนวิ่งผ่านแต่ละจังหวัด


ส่วนหนึ่งของทีมงาน "ก้าวทีละก้าว"

 

ดูคลิปทีมงานนับร้อยของตูน https://www.youtube.com/watch?v=gkFWceF4GaY

            5. ยอดเงินบริจาคประมาณ 1,148 ล้านบาท (http://bit.ly/2DcKzxT - บ้างว่ามากกว่านี้) นั้น ถือว่าสูงมาก แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เป็นเงินบริจาคจากรายใหญ่ๆ ที่บริจาคให้เกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปเกือบ 30 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 320 ล้านบาท (ทั้งนี้เท่าที่ตรวจสอบได้จากหนังสือพิมพ์ แต่อาจมากกว่านี้) และหากนับรวมไปถึงที่หลายจังหวัดจัดกิจกรรมเสริมแล้วได้เงินมาร่วม อาจจะเป็นเงินอีกมหาศาล ลำพังการเดินรับบริจาคจากประชาชนตามรายทางคงได้เงินไม่มากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของชาติยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่คนมีฐานะดีมาบริจาคกันมากโดยทีมงานกล่าวว่า "คนที่ยื่นเงิน 1 ล้านบาทข้างถนนโดยที่ไม่ได้ต้องการอะไรเลย มาถึงลงจากรถเปิดประตูเอาเงินทั้งปึกมายื่นให้ . . . แล้วพบคนให้แสนหนึ่งนี่เป็นเรื่องปกติเลย" (http://news.sanook.com/4761826)

            6. ในแง่ของความคุ้มค่าของการวิ่ง มีข่าวว่า "วงบอดี้สแลม สละรายได้กว่า 30 ล้าน สนับสนุน 'ตูน' วิ่งโครงการก้าวคนละก้าว" (http://bit.ly/2iYgZCr) แต่ความจริงก็อาจเป็นช่วงพักของตูน และคงไม่สูญมากถึงปานนั้นเพราะปกติรับงานเดือนละ 20 หนๆ ละ 450,000-500,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9-10 ล้านบาท ถ้าหักค่าใช้จ่ายรายได้สุทธิของตูนคงประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน วิ่ง 2 เดือนก็เป็นเงิน 2 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อยิ่งดัง ในอนาคตก็ยิ่งมีคนมาดูดนตรี อาจทำให้การรับงานเพิ่มเป็น 30 งาน (1 วันมากกว่า 1 งาน) ค่าจ้างอาจขึ้นเป็นงานละ 700,000 บาท รวมเป็นเงิน 21 ล้านบาท มากว่าเดิมเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ยังทำให้เกิดลาภสรรเสริญอีกมากมาย ซึ่งนับว่าคุ้มมากสำหรับตูนที่ได้วิ่งในครั้งนี้

            7. การที่ทั้งตูนและ "ก้อย" post FB เหมือนกันจนมีข่าวว่า "‘ตูน’ สุดดีใจ เป็นเจ้าของสถิติคนไทยคนแรกวิ่งจากเบตง-แม่สาย แค่ 55 วัน" โดยมีใบรับรองสถิติจาก THAILAND RECORDS (http://bit.ly/2qI77DY) ข้อนี้ผู้ให้ไม่ควรให้ ผู้รับก็ไม่ควรยินดีรับ เพราะในความเป็นจริง ทุกคนก็รู้ว่ายังมีคนวิ่งอย่างทรหดอดทนกว่าตูนก่อนหน้านี้ถึง 2 คน ที่วิ่งโดยแทบไม่มี "ตัวช่วย" และใช้เวลาน้อยกว่าตูนอีกต่างหาก การยกย่องตูนเป็นสิ่งที่สมควรแต่ถึงกับมอบใบรับรองที่บิดเบือนความจริงเช่นนี้ สมควรแล้วหรือ


ภาพใบรับรองสถิติจาก THAILAND RECORDS ให้ตูน ซึ่งตูนไม่ควรรับเพราะไม่ใช่ความจริง https://www.instagram.com/p/BdIX2P7gPBe/

            8. ส่วนการที่มีข่าวการวิจารณ์ครูพลามซึ่งออกมาวิจารณ์ตูนทาง social media ต่างๆ นั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม ที่มักมีการต่อว่ากันตามกระแส ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ไม่พึงหวั่นไหว อันที่จริงสังคมควรเรียนรู้ว่าคนเราสามารถวิจารณ์กันได้ ไม่ใช่กลายเป็น "ฮีโร่" "ขึ้นหิ้ง" แตะต้องไม่ได้ ขณะเดียวกันในความเป็นจริง ก็มีกลุ่ม "นักเลงคีย์บอร์ด" หรือกลุ่ม "นักรบไซเบอร์" ที่คอยรับออเดอร์ "ถล่ม" กันเพื่อสร้างกระแส อย่างไรก็ตามพวกนี้มักจะว่าตามๆ กันไป ไม่ได้ถกกันด้วยเหตุผล และบ่อยครั้งมักจะใช้คำหยาบคายต่าง ๆ นานา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์


ภาพนักเลงคีย์บอร์ด - นักรบไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการสร้างกระแสต่างๆ

 


พวกสร้างกระแสในโลกโซเชียลมีอยู่ทั่วไป ไม่พึงหวั่นไหว

            9. การทำดีของตูนนั้นมีประสิทธิภาพที่ดี ทำให้เกิดการร่วมด้วยช่วยกัน แต่จะมีประสิทธิผลหรือไม่ต่อการแก้ไขระบบสาธารณสุขก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะที่ผ่านมามีหมอท่านหนึ่งออกมาวิจารณ์ว่า "หมอชี้!'ตูน'ทำดีต้องชื่นชม ย้ำวิ่งอีกล้านก้าวก็ช่วยไม่ได้" (http://bit.ly/2DbrcFj) การวิ่งรอบนี้ได้เงิน 1,148 ล้านบาท คงไม่สามารถวิ่งได้เงินเช่นนี้อีก แต่หากไม่ซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 36,000 ล้านบาท (http://bit.ly/2qHwKEP) ก็คงสามารถจัดสรรเงินงบประมาณไปใช้เพื่อการสาธารณสุขมากกว่านี้ เพราะเท่ากับการวิ่งของตูนถึง 31 รอบเลยทีเดียว

            เราพึงยกย่อง "ตูน บอดี้สแลม" ด้วยสติ  อย่าลืม "คิด วิเคราะห์ แยกแยะ"

ปล. ที่เขียนนี้ไม่ได้อิจฉามีแต่อนุโมทนากับการทำดีของตูน และนักวิ่งอีก 2 ท่าน เพียงแต่นำเสนอให้เห็นแง่มุมต่างๆ ให้รอบด้านเท่านั้น ไม่ได้อยากดัง ไม่ได้อยากให้ใครด่า (แต่ใครจะด่าก็ไม่ว่า) ไม่ได้หวังเกาะคนดังให้ดูดี (ไม่งั้นดอดไปให้กำลังใจตูนเป็นระยะๆ เช่นคนดังหลายคน) ที่มา: https://goo.gl/iRYa1u

อ่าน 13,987 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved