การขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนนั้น จะทำให้จีนเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" ตัวใหม่ แทนญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาในอดีตหรือไม่ มาดูกรณีศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับไทยกัน
คำว่า "สัตว์เศรษฐกิจ" นั้น ในสมัยก่อน ญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" ตัวสำคัญของโลก เพราะ (มีการกล่าวหาถึง) การเอาเปรียบคู่ค้า เช่น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มีการประท้วงสินค้าญี่ปุ่นกันอย่างออกหน้าออกตา เช่น ที่ห้างไดมารู ราชดำริ มีกลุ่มนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ในสมัยปี 2515 ยืนและนั่งประท้วงอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นห้างแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนในประเทศไทย (https://goo.gl/vtU1q5)
ภาพนักศึกษาประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในงานสัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น
ในขณะนั้นจีนแผ่นดินใหญ่ยังกำลังกระเสือกกระสนกับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ แถมยังถูก "ทอดทิ้ง" โดยสหภาพโซเวียต จนกระทั่งต้องออกนโยบายระหว่างประเทศใหม่ด้วยการผูกสัมพันธ์กับตะว้นตกด้วยอาศ้ย "การทูตปิงปอง" (https://goo.gl/Y5G6Zx) หรือ Ping-pong diplomacy คือการแข่งขันเทเบิลเทนนิส หรือปิงปอง ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2513 เพื่อละลายในความสัมพันธ์จีน–อเมริกัน ที่ปูทางสู่การเยือนประเทศจีนของนิกสัน
แต่ในปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึงราว 4 เท่าแล้ว อิทธิพลของจีน สินค้าของจีนก็กระจายไปทั่วโลก จีนไปลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟ (ความเร็วสูง) จีนบุกเบิกไปทำทั่วโลก และเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งของจีนก็คือการเข้ามาพัฒนาทางรถไฟจากยูนาน เชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ ผ่านประเทศไทย
เมื่อ 2 ปีก่อนมีข่าว "จีนแผลงฤทธิ์ผลศึกษาร่วมลงทุนรถไฟไทย บีบนำเข้าวัสดุ-ขอค่าแรงขั้นต่ำวันละ800-งบบานเกิน5แสนล." (https://goo.gl/awHs82). . .มังกรแผลงฤทธิ์! เปิดผลศึกษารถไฟไทย-จีน ระยะทาง 873 กม. เม็ดเงินพุ่งทะลุ 5.3 แสนล้านบาท ตะลึงคิดค่าแรงขั้นต่ำ 800บาท/วันสูงกว่าไทยเท่าตัว ล็อกสเป็กเหล็กบางตัวต้องนำเข้าจากจีน "อาคม" สั่ง ร.ฟ.ท. เอกซเรย์รายการก่อสร้างละเอียดยิบ"
ในการทำงานจริงในอนาคตของโครงการรถไฟ หากมีข่าวคราวการ "เอาเปรียบ" ไทย ก็จะทำให้ภาพพจน์ของจีนเสียหายแนวเดียวกับ "สัตว์เศรษฐกิจ" แบบญี่ปุ่น หรือ "จักรวรรดินิยม" แบบสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในความเป็นจริง จีนอาจไม่ได้มุ่งเอาเปรียบก็ได้ ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็ควรมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี หาไม่ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของจีนเอง เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับนักลงทุนญี่ปุ่นในอดีตนั่นเอง
การสร้างและดูแลภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ