อ.โจน จันได มีแนวคิดที่แปลกและน่าสนใจยิ่ง นับเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งในชีวิตที่ยากที่ใครจะเลียนแบบได้ง่ายๆ เราอาจชื่นชมชีวิตของท่าน แต่ใช่ว่าจะเป็นแบบอย่างให้คนอื่นเป็นแบบนี้ได้ หรือสมควรทำแบบนี้เป็นแบบอย่างได้
ผมเพิ่งได้ฟังคลิป "ชีวิต ช่างแสนเรียบง่าย ทำไมเราทำให้มันแสนยาก" โดยอาจารย์โจน จันได (https://goo.gl/evUvYX) และพบว่ามีคนศรัทธาในแนวคิดของอาจารย์อยู่มากทีเดียว อย่างไรก็ตามผมฟังแล้วคิดว่าเป็นแนวคิดที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขออนุญาตมองต่างมุมเพื่อสังคมอุดมปัญญา
1. นาทีที่ 0:40 แต่พอ มีโทรทัศน์ เข้ามามีผู้คนมาที่หมู่บ้านพวกเขาบอกว่าเธอยากจนนะ เธอต้องไล่ล่าหาความสำเร็จในชีวิต เธอต้องไปกรุงเทพไปไขว่คว้าหาความสำเร็จในชีวิต
ข้อโต้แย้ง: การเข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นหนทางสู่ความสำเร็จมาแต่โบราณแล้ว ในสมัยก่อนคนอีสานจะยกฐานะขึ้นได้ต้องรับราชการหรือบวช ซึ่ง อ.โจนก็ทำเช่นนั้น ไม่ใช่เพิ่งเป็นเพราะอิทธิพลของโทรทัศน์
2. นาทีที่ 1:04 เมื่อผมไปกรุงเทพ มันไม่สนุกเลยคุณจำเป็นต้องเรียน ศึกษาหาความรู้ และต้องทำงานหนักมากมาย คุณจึงจะประสบความสำเร็จ
ข้อโต้แย้ง: อันนี้เป็นธรรมดาของคนที่ต้องสู้ก่อนจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ท่านทำไม่สำเร็จ
3. นาทีที่ 1:18 ผมทำงานหนักมากแปดชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างน้อย . . .
ข้อโต้แย้ง: 8 ชั่วโมงก็ไม่ได้มากมายอะไร คนที่จะประสบความสำเร็จ อาจต้องทำงานถึง 12-16 ชั่วโมงก็มี ชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงตั้งตัวก็มักอัตคัตอยู่แล้ว
4. นาทีที่ 1:59 ผมพยายามที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มันยากมาก ที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะมันน่าเบื่อ
ข้อโต้แย้ง: อ.โจนอาจไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา จึงรู้สึกน่าเบื่อ เป็นธรรมชาติ
5. นาทีที่ 2:20 ในมหาวิทยาลัย มันไม่มีความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผมเลย ถ้าคุณเรียนเพื่อจะเป็นสถาปนิกหรือวิศวกร. . .คุณต้องทำลายล้างมากขึ้น ยิ่งคนพวกนี้ทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ ภูเขาก็จะถูกทำลายมากขึ้น
ข้อโต้แย้ง: อ.โจนไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา ก็ไม่ควรดูแคลนวิชาชีพอื่น
6. นาทีที่ 2:43 ถ้าเราไปที่คณะเกษตรศาสตร์. . .มันหมายความว่าเรากำลังเรียนรู้การใช้ยาพิษเพื่อทำให้ผืนดินและแม่น้ำเป็นพิษ
ข้อโต้แย้ง: อ.โจนไม่พึงตีขลุมหรือมองอะไรแคบๆ เฉพาะจุดแค่นี้
7. นาทีที่ 3:12 ผมคิดถึงสมัยเมื่อตอนเป็นเด็ก ไม่มีใครต้องทำงานวันละแปดชั่วโมง ทุกคนทำงานแค่สองชั่วโมง ปีละแค่สองเดือน ปลูกข้าวเดือนนึง และเก็บเกี่ยวข้าวอีกเดือนนึง ที่เหลือคือเวลาว่างสิบเดือน
ข้อโต้แย้ง: วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมนี้ก็เหมือนกันทุกที่ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะที่อีสาน แต่หากคิดแบบเด็กที่ไม่ต้องรับผิดชอบก็คงสนุก แต่ผู้ใหญ่ก็คงไม่สนุกกับชีวิตที่แร้นแค้นเช่นนี้ เขาจึงดิ้นรนเข้าเมืองมาก่อนมีโทรทัศน์นานแล้ว
8. นาทีที่ 3:33 เป็นเพราะพวกเขามีเวลาว่างกันมากมายในเวลากลางวัน ทุกคนสามารถงีบหลับกันได้ แม้ในปัจจุบันในประเทศลาว
ข้อโต้แย้ง: อ.โจนคงเข้าใจผิด การนอนกลางวันอย่างเป็นจริงเป็นจังเกิดขึ้นเพราะฝรั่งเศสมาปกครองอินโดจีน ดังนั้นชาวลาวและเวียดนามจึงมีนอนกลางวัน แต่สำหรับไทยนั้น ไม่มีระบบนอนกลางวัน
9. นาทีที่ 4:02 เมื่อพวกเขามีเวลามากพอสำหรับตัวเอง. . .พวกเขาจึงแสดงออกถึงความสวยงามเหล่านั้นออกมาในแบบที่หลากหลายบ้างก็แกะสลัก. . .พวกเขาสานตะกร้าอย่างประณีตสวยงาม
ข้อโต้แย้ง: ความจริง ศิลปของชาวบ้านแค่พื้นๆ การสร้างบ้านในสมัยโบราณก็ไม่ซับซ้อนอะไร บ้านทรงไทยวิจิตรพิสดารพร้อมแกะสลักลวดลายฉลุเฉลาสวยงามมักมาจากช่างของขุนนางหรือพ่อค้า ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป
10. นาทีที่ 4:51 เมื่อผมกลับบ้าน ผมเริ่มใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่ผมจำได้ เหมือนเมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก
ข้อโต้แย้ง: ท่านเคยบอกว่าแรกๆ ก็ยังเทียวไปเทียวมา ไม่ได้อยู่ตัว แต่ที่ได้ดีคงเป็นเพราะ อ.โจน (โชคดี) ได้ภริยา NGO ชาวอเมริกัน และไปอยู่อเมริกามา 2 ปี จนได้ภาษา ได้แนวคิดการสร้างบ้านดินมาเผยแพร่ต่างหาก
11. นาทีที่ 4.58: ผมเริ่มทำงานปีละสองเดือน ผมได้ผลผลิตเป็นข้าวสี่ตัน. . .สามารถขายข้าวบางส่วนได้ ผมทำบ่อปลา. . .ทำสวนเล็กๆ. . .ผมใช้เวลาวันละ 15 นาที ดูแลสวน. . .เราสามารถสร้างรายได้ได้อีกด้วย
ข้อโต้แย้ง: ถ้าทุกคนมีที่มีนาทำแบบนี้ได้ ก็คงดี แต่ความจริงคือ ไม่มี เขาจึงต้องมาหากินในเมือง ท่านทำได้เพราะโชคช่วย มีที่ทาง ท่านยังย้ายจากอีสานไปภาคเหนือเพราะดินที่นั่นดีกว่า
12. นาทีที่ 5:46 . . .ทำไมผมจึงไปอยู่ที่กรูงเทพ เป็นเวลาถึงเจ็ดปี ทำงานอย่างหนัก แต่ไม่เคยกินอิ่ม . . .
ข้อโต้แย้ง: อ.โจนไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีผู้ประสบความสำเร็จหลายรายที่น่ายกย่องเช่น อดีตสาวโรงงาน (https://goo.gl/oT7oqX) และเด็กชาวม้ง (https://goo.gl/TqKS4R) ก็เรียนนิติศาสตร์เหมือนท่านและประสบความสำเร็จเป็นผู้พิพากษาในเวลาต่อมา
13. นาทีที่ 6:09 คนที่ฉลาดกว่าผม คนที่สอบได้ที่หนึ่งของชั้นทุกปี พวกเขาได้ทำงานดีๆ แต่เขาต้องทำงานมากกว่า 30 ปี จึงจะมีบ้านได้
ข้อโต้แย้ง: อันนี้เป็นความเข้าใจผิดของ อ.โจน คนไทยมีระดับความสามารถในการซื้อบ้านสูง อาจกล่าวได้ว่าคนส่วนใหญ่มีความสามารถในการซื้อบ้านในตลาดเปิดได้ (https://goo.gl/TQ4RWx) การผ่อน 30 ปีมีเป็นส่วนน้อย
14. นาทีที่ 6:34 แต่เมื่อผมได้เริ่มต้นทำบ้านดิน มันช่างแสนง่ายดาย ผมใช้เวลาวันละสองชั่วโมงจากตีห้า ถึงเจ็ดโมงเช้าสองชั่วโมงต่อวัน ภายในสามเดือนผมได้บ้านหนึ่งหลัง
ข้อโต้แย้ง: การสร้างบ้านดิน ใครๆ ก็ทำได้ (อ.โจนเคยบอกว่าเด็กอายุ 9 ขวบยังสร้างได้) แต่ประเด็นที่ อ.โจนไม่ได้คิดก็คือที่ดิน ใช่ว่าใครๆ จะไปสร้างในพื้นที่ป่าเขาในภาคเหนือได้เช่น อ.โจน
15. นาทีที่ 7:16 และผมยังคงสร้างบ้านทุก ๆ ปี อย่างน้อยปีละหนึ่งหลัง. . .
ข้อโต้แย้ง: อ.โจนพูดอันนี้ในปี 2554 แต่ไม่นานก็เปลี่ยนจาก "โจน บ้านดิน" ไปเล่นเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์แทน
16. นาทีที่ 9:25 สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือเมื่อผมซื้ออะไรสักอย่างและผมจะคิดว่าผมซื้อเพราะชอบมัน หรือผมซื้อเพราะผมต้องการมัน ฉะนั้น ถ้าผมซื้อเพราะผมชอบ นั่นแสดงว่าผิดแล้ว
ข้อโต้แย้ง: รัก โลภ โกรธ หลงเป็นเรื่องปกติ ที่ อ.โจนมีภริยา ไม่ใช่เพราะชอบดอกหรือ
17. นาทีที่ 10:12 ผมได้เรียนรู้วิธีการใช้น้ำเพื่อบำบัดตัวเอง วิธีการใช้ดินเพื่อรักษาตัวเอง ผมเรียนรู้วิธีที่จะใช้ความรู้พื้นฐานในการรักษาตัวเอง
ข้อโต้แย้ง: คนที่รู้จักรักษาสุขภาพให้แข็งแรงที่อยู่ในเมือง ก็สามารถบำบัดตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นปีๆ เหมือนกัน
18 นาทีที่ 12:35 ปัจจัยสี่: อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค จะต้องถูกและง่าย สำหรับทุกคน นั่นคือความเจริญ
ข้อโต้แย้ง: ที่อยู่อาศัยนั้น ตัวบ้านดินสร้างง่าย แต่ที่ดินก็ต้องซื้อ ถ้าไปบุกรุกของส่วนรวม คงไม่แฟร์สำหรับคนอื่น เสื้อผ้าทอเองคุ้มกว่าจริงหรือ ถ้าจริง คงทอกันทั่วประเทศแล้ว ยารักษาโรคพื้นๆ แทบไม่ต้องมีสำหรับโรคพื้นๆ แต่โรคอื่นล่ะ หาไม่คงไม่ต้องมีหมอ
19. นาทีที่13:32 เป็นคนปกติธรรมดาเท่าเทียมกับเหล่าบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย นกน้อยทำรัง เพียงหนึ่งวันหรือสองวัน เจ้าหนูขุดรูเพียงแค่คืนเดียว
ข้อโต้แย้ง: คนไม่ใช่เดรัจฉาน ไม่ใช่อยู่ในยุคสังคมบุพกาล มนุษย์โครมันยองจึงจะอยู่แบบนั้นได้
20. นาทีที่ 14:14 แต่ผู้คนมองว่าผมเป็นคนผิดปกติ คนที่บ้าบอคนหนึ่ง แต่ผมไม่สนใจหรอกนะ เพราะมันไม่ใช่ความผิดของผม มันเป็นความผิดของพวกเขา
ข้อโต้แย้ง: ความจริงไม่มีใครผิด เป็นสิทธิของทุกคน อ.โจนก็มองเขาผิดปกติไม่ได้ อ.โจนอยากเป็น "ฮิปปี้" (https://goo.gl/73KBVx) ก็เป็นเรื่องของท่านเอง
โดยสรุปแล้ว ชีวิต อ.โจน เปลี่ยนจากผู้ไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้ ก็เพราะได้ภริยาชาวอเมริกัน ได้ไปอยู่อเมริกา ไปเห็นการทำบ้านดินมา แล้วมาทำเมืองไทยในยุคที่ "เสมสิกขาลัย" กำลังส่งเสริมการทำบ้านดิน แต่วันนี้ ท่านไม่ได้อยู่แบบสมถะเดิมๆ แล้ว ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรทั่วโลก คงได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง มีความสุขในการเดินทางที่คนอื่นไม่ได้รับ แถมยังได้แรงงานที่ไม่ต้องจ้างมาช่วยงานอีกมากมาย จริงหรือไม่ ลองพิจารณาดูครับ