——————-
วิพากษ์ "เหตุที่พุทธสูญสิ้น ที่อินเดีย” (ป.อ.ปยุตฺโต)
ดร.โสภณ พรโชคชัย
มีข้อเขียนที่โด่งดังเรื่อง "เหตุที่พุทธสูญสิ้น ที่อินเดีย" โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙) ซึ่งอ่านผ่านๆ ก็น่าเชื่อถือ แต่ถ้าลองใช้หลักกาลมสูตรดู ข้อเขียนนี้มีข้อพึงวิพากษ์ เรามาดูกันเพื่อสังคมอุดมปัญญา ไม่ใช่เป็นการโจมตีภิกษุรูปใด
บทความที่ว่าไม่ได้มีการอ้างอิง ไม่ใช่บทความวิชาการที่มีหลักฐานชัดเจน เป็นการพรรณนาความ ในบทความของผู้เขียนนี้ก็เช่นกันเป็นการมองต่างมุมด้วยตรรก เผื่อไปหาประจักษ์หลักฐานเพิ่มเติม
ในบทความสรุปเหตุแห่งความเสื่อมไว้เป็นข้อๆ ซึ่งผู้เขียนขอมองต่างมุมเป็นประเด็นๆ ไว้ดังนี้:
1. “เหตุอันแรกที่เราเห็นได้ พูดง่ายๆ ว่า ชาวพุทธเราใจกว้าง (จนลืมหลัก) แต่ศาสนาอื่นเขาไม่ใจกว้างด้วย” (เลยไปกลมกลืนกับฮินดู) ข้อนี้ดูเหมือนจริง แต่หลักพุทธที่ให้พึ่งตนเอง ถือคนเท่ากัน บวชจัณฑาลให้พราหมณ์กราบได้ เป็นสิ่งที่เราซึ่งอยู่ไกลจากอินเดียยังเข้าใจได้ง่ายๆ แม้ผ่านมา 2,560 ปี ดังนั้นที่พุทธสูญที่อินเดีย คงไม่ใช่เรื่องแค่นี้
2. “จุดที่เสื่อมก็คือตอนที่ชาวพุทธลืมหลักกรรม ไม่เอาการกระทำของตัวเองเป็นหลัก ไปหวังพึ่งเทพเจ้า ไปหวังพึ่งฤทธิ์พึ่งปาฏิหารย์” ข้อนี้ก็ดูคล้ายถูกเหมือนกัน แต่คติธรรมอันดับต้นๆ ที่พวกเราเคยได้ยินมาแต่เด็กก็คือ “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ประเด็นคงไม่ใช่ชาวพุทธลืมกระมัง
3. “อีกอย่างหนึ่งที่ควรระวัง คือพอมีภัยหรือเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวม ชาวพุทธไม่น้อยมีลักษณะที่วางเฉย. . .โจรเข้ามาปล้นศาสน์ เลยยกวัดให้แก่โจร” อันนี้เป็นแค่การประดิษฐ์ประดอยคำพูดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ คือ หลักศาสนาไม่อาจถูกปล้นได้ ในอีกแง่หนึ่ง วัดก็แค่วัตถุ ใครมาครองครองก็แค่ทางกายภาพเท่านั้น
4. “ฝากศาสนาไว้กับพระ. . .พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระศาสนานั้นอยู่ด้วยบริษัท 4. . .ชาวพุทธคฤหัสถ์ของเราไม่ค่อยมีข้อปฏิบัติของตัวเองที่ชัด” อันที่จริงพุทธบริษัท 4 ก็เรื่องหนึ่ง พระรัตนตรัยก็อีกเรื่อง พระเป็นหลักในการจรรโลงศาสนาจึงถูกแล้ว
5. “พระ พอได้รับการอุปถัมภ์มากมีความสุขสบาย บางส่วนก็มีความประพฤติย่อหย่อน และอาจจะเหินห่างจากประชาชนทั่วๆ ไป” ข้อนี้ก็ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว คงไม่ใช่ข้ออ้าง การมีมหาวิทยาลัยนาลันทะ ก็เป็นการศึกษาให้ลึกซึ้ง ไม่งั้นคงไม่โดนเผา
6. “เมื่อมีการสร้างสิ่งใหญ่โต มากๆ ไม่ช้าศาสนามักจะค่อยๆ เสื่อม บางทีพระอาจจะมัววุ่นวายหรือเพลินกับงานพวกนี้” ข้อนี้ก็ไม่น่าจะจริง วัดเชตวันในสมัยพุทธกาลสร้างด้วยเงินถึง 54 โกฏิ (http://bit.ly/2uB4IYr) และมีวัดอื่นราคาแพงมากมาย
7. “การลืมสร้างคนนี้ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไป” ข้อนี้ก็เป็นวาทกรรมหรือไม่ เหมือนกำปั้นทุบดินหรือไม่
สิ่งที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙) ไม่กล่าวถึงก็คือศาสนาพุทธเน้นความเท่าเทียม ขัดหลักปกครองบ้านเมือง พวกกษัตริย์ต้องอาศัยความเป็นเทพมาบังคับผู้ถูกปกครอง ศาสนาพุทธจึงขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์ในอินเดีย และเมื่อกษัตริย์ไม่ใช่พุทธมามกะ ก็ต้องกำจัดพุทธศาสนาหรืออย่างน้อยอาณาจักรต้องควบคุมพุทธจักรได้ด้วยการให้คุณให้โทษต่างๆ หาไม่พระซึ่งเป็นผู้นำศาสนาก็อาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องได้
การไม่มองประเด็นหลัก ไพล่ไปพูดประเด็นปลีกย่อยอื่น จึงอาจทำให้ความจริงถูกบิดเบือนได้