นิราศยูกันดา
  AREA แถลง ฉบับที่ 92/2561: วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ไปยังไงมายังไงกับการเข้าประเทศยูกันดา  ตอนไปนึก "จะรอดไหมนี่" "จะได้กลับไหมนี่" ตอนกลับกลับเสียดายที่ไม่ได้อยู่เที่ยวต่อ

            ผมในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) และผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.trebs.ac.th) ได้รับเชิญจาก Kampala Capital City Authority (KCCA) หรือ "กทม." ของยูกันดา ให้ไปบรรยายเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินโดยวิธีสร้างแบบจำลองทางสถิติ (Computer-assisted Mass Appraisal: CAMA) ณ กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา ในโครงการความช่วยเหลือของธนาคารโลก นี่คือที่มาของนิราศยูกันดา

            พอได้รับเชิญให้ไปสอน ผมก็หวั่นใจอยู่ไม่น้อย เพราะต้องไปอยู่ถึง 2 สัปดาห์ แถมเป็นประเทศในอาฟริกาที่มีโรคร้ายมากมาย โดยก่อนไปต้องไปฉีดวัคซีนสารพัดตามคำแนะนำของแพทย์และกระทรวงการต่างประเทศ ยิ่งกว่านั้นประเทศยูกันดาก็มีชื่อเสีย (ง) ไม่ดี โดยเฉพาะที่จำได้แม่นก็คือนายพลอีดี อามิน (http://bit.ly/2AjNRgg) จอมโหดผู้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และกรณีการชิงตัวประกัน ณ สนามบินเอ็นเทบเบ (http://bit.ly/2syJ8rC) อันก้องโลก หลายคนไม่กล้าไปอย่างแน่นอน แต่กลับมีคนจีนไปทำมาหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันนับหมื่นๆ คน นี่คือวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศก็ว่าได้!

            พอตกลงทำสัญญาได้ไปแน่นอนแล้ว ผมก็ซื้อตั๋วเครื่องบิน แน่นอนว่าผมซื้อที่ถูกที่สุดก็คือสายการบินเคนยาแอร์เวย์ ราคา 27,000 บาท ถูกกว่าสายการบินอื่นๆ เกือบครึ่ง แถมบินตรงถึงประเทศเคนยา ซึ่งติดอยู่กับประเทศยูกันดาอีกต่างหาก ใช้เวลาเดินทางเพียง 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ขากลับเครื่องบินล่าช้าไป 3 ชั่วโมง ก็เลยต้องรอแกร่วอยู่นานหน่อย แถมเป็นช่วงเที่ยงคืนถึงตีสามเสียด้วย แต่โชคดีที่ศรีภริยาให้บัตร Priority Pass จึงสามารถไปนั่งสบายๆ ในเลาจน์ดี ๆ พักผ่อน และรับประทานอาหารได้เสียอีก

            ไปอยู่ที่นั่น ค่าโรงแรมที่อยู่ใกล้สถานที่สอนคือ Uganda Management Institute ที่สุด (ประมาณ 800 เมตร) ก็คือโรงแรม Hotel Africana แต่สนนราคาค่อนข้างแพงคือคืนละ 4,500 บาท ผมไม่เคยนอนโรงแรมแพงขนาดนี้เลย ถ้าในกรณีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่นี่เขาจ่ายให้ดี แต่ผมก็พยายามประหยัด ด้วยการนอนคู่กับเพื่อน (เพศชาย) ที่ไปช่วยกันสอนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในเทศบาลแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย เพื่อนผมคนนี้ก็ใจดี ยินดีพักคู่ เพื่อนผมคนนี้ทำประเมินเพื่อการเก็บภาษีให้กับเทศบาลโดยตรง ตรงตามที่ทางยูกันดากำลังจะทำงานแบบนี้พอดี

            ในระหว่างที่อยู่ในโรงแรมแห่งนี้กับเพื่อนคนนี้ ความเป็นอยู่ก็ดีมาก มีอาหารเช้าอย่างดี มีห้องซอนา (Sauna) ให้พวกเราไปอบตัวในตอนเช้า แถมด้วยว่ายน้ำในช่วงเย็นหลังเลิกสอน จนท้ายด้วยซอนาอีกรอบก่อนไปทานอาหารค่ำกัน เราก็ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอย่างดี ผมนอนหลับเวลา 20:00 น. ส่วนเพื่อนนอนเวลาประมาณ 23:00 น. แรก ๆ เขาก็ช่วยหรี่ไฟ หรี่เสียงโทรทัศน์ แต่ผมบอกไม่ต้อง เพราะหัวถึงหมอนก็หลับด้วยความรวดเร็วแล้ว

            ผมตื่นเช้ากว่าเพื่อนโดยตื่นเวลา 03:00 น. (ตีสาม) หรือประมาณ 07:00 น. ของประเทศไทย เวลาที่ยูกันดา ช้ากวาไทยถึง 4 ชั่วโมง ผมตื่นขึ้นมาก็ลงมาที่ล็อบบี้ เขาเปิดไฟไว้อย่างดี อากาศที่ยูกันดาในช่วงเช้าค่อนข้างเย็นคือประมาณ 20 องศาเท่านั้น กำลังสบาย ๆ ผมก็ส่งข่าวคราว ติดต่อธุรกิจสำหรับงานที่ผมสามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้ แถมในเวลา 11:00 น. ของประเทศไทย ก็เป็นเวลาราว 07:00 น ของประเทศยูกันดา ผมเลยได้เริ่มทำ FB Live ตั้งแต่นั้นมา และจะพยายามทำทุกวันเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่อไป

            แทบทุกวัน พอทานอาหารเช้ากันเสร็จ พวกเราก็ไปอบซอนากัน จากนั้นก็แต่งตัวไปสอนหนังสือในเวลา 09:00 น. ระยะทางในการเดินเกือบ 1 กิโลเมตร ก็เดินกันสบายๆ ในยามเช้า มีเฉพาะบางวันที่แดดจัดบ้าง แต่ก็พอเดินไหว เพราะต้นไม้ที่กรุงกัมปาลามีมาก ไม่ค่อยได้เดินกลางถนนตากแดดเลย ยิ่งกว่านั้นแดดที่นี่ก็ยังดีกว่าที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะแดดที่นั่นโดยเฉพาะนิวซีแลนด์อันตรายจนถึงขั้นก่อให้เกิดมะเร็ง (http://bit.ly/2pAQms4) ขากลับจากบรรยายเวลา 16:30 น. ก็เดินกลับสบายๆ เช่นเดียวกับช่วงเช้า

            ที่กรุงกัมปาลา มีจักรยานยนต์รับจ้างดาษดื่นเต็มไปหมดเหมือนบ้านเรา สนนราคาก็พอๆ กับบ้านเรา ซึ่งนับว่ายังค่อนข้างแพง เนื่องจากในกรุงกัมปาลา แทบไม่มีรถประจำทาง มีแต่ "แท็กซี่" ที่เหมือนรถตู้เล็กๆ จอดรับไปเรื่อยๆ ไม่ประจำเส้นทาง อาศัยมีใครไปในทางเดียวกัน การเดินทางจึงไม่สามารถกะระยะเวลาได้นัก  โดยเฉพาะในช่วงเช้า ผู้คนต้องเดินทางออกจากบ้านก่อน 06:00 น. (ก็คล้าย กทม. บ้านเรา) จึงจะไปทำงานทัน ว่ากันว่าในกรุงกัมปาลา มีประชากรอยู่ราว 2 ล้านคน  แต่เวลากลางวันมีประชากรราว 4 ล้านคนเลยทีเดียว

            สิริรวมแล้วผมไปอยู่ที่ยูกันดา 14 วัน โดยไปตั้งแต่กลางดึกวันเสาร์ที่ 27 มกราคม ไปถึงวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม กว่าจะกลับก็วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ และมาถึงกรุงเทพมหานครในตอนเย็นวันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2561 โชคดีที่โลกนี้มีอินเตอร์เน็ต ก็เลยไม่ต้องเขียนจดหมาย ไม่ต้องใช้โทรสาร ไม่ต้องใช้โทรศัพท์ทางไกล มี FB Email Line Whatsapp ติดต่อได้ทั่วโลก ตั้งแต่คุยเล่นกับแม่ คุยธุรกิจกับลูกค้าจากประเทศอื่น ๆ โทรศัพท์เข้ามาร่วมประชุมเพื่อนร่วมงานรายปักษ์ เป็นต้น โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ Package อินเตอร์เน็ตอีกต่างหาก เพราะใช้ของฟรีของโรงแรมและของสถาบันนั่นเอง

            นับเป็นประโยชน์ที่ดีสำหรับผม ทุกท่านก็น่าจะไปกันบ้างนะครับ ผมคิดว่าจะไปอีกครับ

คลิปการสอนที่ยูกันดา https://goo.gl/vh3RPW

 

ภาพเลาจน์ที่กรุงไนโรบี

 

การต้อนรับที่สนามบินนครเอ็นเทบเบ

 

บรรยากาศการเดินไปสอน 1

 

บรรยากาศการเดินไปสอน 2

 

เดินถอยหลัง 1

 

เดินถอยหลัง 2

 

อบซอนาทุกวัน

 

อบไอน้ำทุกวัน

 

กับจักรยานยนต์รับจ้างที่ยูกันดา (ที่นั่นเขาไม่มีหมวกให้ผู้โดยสารครับ อันตราย)

อ่าน 1,900 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved