อ่าน 1,113 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 65/2554: 28 กรกฎาคม 2554
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2554 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับเชิญจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ให้ไปอภิปรายในงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ เพชรบุรี
          ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีอัตราการจัดเก็บคือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยไม่ประกอบการในเชิงพาณิชย์ จัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.1% ของฐานภาษี อัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์เกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.05% นอกนั้นจัดเก็บไม่เกิน 0.5%
          อย่างไรก็ตามในร่างดังกล่าวให้มีการยกเว้น คือ ให้ยกเว้นแก่ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางวาทั้งหลายและมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทในพื้นที่หรืออาจมากน้อยกว่านี้ตามแต่ละพื้นที่ ยิ่งกว่านั้นหากทรัพย์สินเกิดความเสียหายยังมีข้อยกเว้นด้วย เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ พระราชวัง ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติ นอกจากนี้ยังจะมีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อยที่ทรัพย์สินมีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนด
          ภาษีนี้ ภาษีนี้มีภาระต่ำมาก ยกตัวอย่างเช่น คน ๆ หนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือปีละเพียง 1,000 บาท หรือเดือนละ 83 บาท ซึ่งยังถูกกว่าค่าเก็บขยะและดูแลชุมชนเสียอีก ในประเทศยุโรปและอเมริกา เขาจัดเก็บภาษีกันในอัตรา 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สิน ทำให้มีเงินไปพัฒนาท้องถิ่นได้มากมาย เขาจึงมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าไทย
          ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่ ท้องถิ่นนั้น ๆ ยิ่งเจริญ ท้องถิ่นนำไปปรับปรุงถนน ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น พอท้องถิ่นนั้นเจริญ มูลค่าทรัพย์สินก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เจ้าของที่ดินก็ได้ประโยชน์ เข้าทำนอง “ยิ่งให้ ยิ่งได้” และโดยนัยนี้ เราจึงไม่ควรมีข้อยกเว้นการเก็บภาษีนี้แก่ใครทั้งสิ้น
          มีความเข้าใจผิดบางประการว่า ในพื้นที่เทศบาลบางแห่งที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญเช่นมาบตาพุด การจัดเก็บภาษีจะลดลง ซึ่งจากการสอบถามของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง กลับพบว่าไม่ลดลงแต่อย่างใด
          แม้รัฐบาลมีข้อยกเว้น แต่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นว่าไม่จำเป็น ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมพัฒนาชาติด้วยการเสียภาษี เพราะภาระภาษีต่ำกว่าความภาคภูมิใจที่จะได้รับมาก เช่น บางคนอาจมีห้องชุดราคาเพียง 300,000 บาท ต้องเสียภาษี 0.1% หรือปีละ 300 บาท (เดือนละ 25 บาท) เงินเพียงเท่านี้ควรจะเสียเพื่อตัวเองและประเทศชาติ บางท่านไปทำบุญ แทงหวยหรือซื้อล็อตเตอรี่ยังมากกว่านี้
          ผู้ที่มีทรัพย์สิน 300,000 บาท แม้จะน้อยเมื่อเทียบกับคนมีบ้านหลังใหญ่กว่า แต่ก็ไม่ถือเป็นผู้มีรายได้น้อย และที่สำคัญชาวบ้านอาจทำบุญ ทำสังฆทาน (อาจเพราะเมื่อคืนฝันไม่ดี) เป็นเงินครั้งละมากกว่า 300 เสียอีก บางคนยังอาจเสียไปกับอบายมุขต่าง ๆ มากกว่านี้นัก ดังนั้นการเสียภาษีเพื่อประโยชน์สุขของตนเองโดยตรง จึงไม่พึงเป็นปัญหา และควรรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันมีสำนึกเสียภาษี
          ยิ่งถ้าเป็นชาวนาที่มีที่ดินขนาดเล็กเพียง 15 ไร่ อยู่ในที่ทุรกันดารที่มีราคาไร่ละ 10,000 บาท ชาวนาดังกล่าวก็มีทรัพย์สินเป็นเงิน 150,000 บาท หากเขาต้องเสียภาษี ณ อัตรา 0.05% เขาจะเสียเป็นเงินเพียง 75 บาทต่อปีเท่านั้น ภาระภาษีเช่นนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหากับชาวนาเลย และอย่างน้อยชาวนาท่านนี้ก็ยังมีทรัพย์สิน ไม่ใช่ชาวนาเช่านาแต่อย่างใด เงิน 75 บาทที่เสียไปเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ควรสร้างความภูมิใจแก่ชาวนาท่านนั้นต่างหาก
          บางท่านให้ความเห็นว่า ภาษีทรัพย์สินนี้ไม่มีทางผ่านเพราะนักการเมืองในสภาคงไม่ยอม แต่ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ความเห็นว่าถึงแม้ไม่มีนักการเมือง มีแต่รัฐบาลรัฐประหาร เช่น รสช. หรือ คมช. ในอดีต ภาษีนี้ก็เกิดยาก เพราะผู้มีอำนาจไม่ยอมให้เกิดเพราะเข้าใจผิดว่าจะทำให้ตัวเองต้องเสียภาษี ทั้งที่การเสียภาษีนี้ ยิ่งเสีย ยิ่งทำให้มูลค่าทรัพย์สินของตนเองเพิ่มขึ้น
          รัฐบาลควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงประโยชน์ของภาษีที่ “ยิ่งให้ ยิ่งได้”

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th) นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ ของสภาหอการค้าไทย http://www.facebook.com/pornchokchai

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved