ต่อไปจะมีแต่ห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้า
  AREA แถลง ฉบับที่ 95/2561: วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ทิศทางใหม่ของตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคือการสร้างห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้าเป็นสำคัญ ถ้าอยู่ไกลกว่านั้น หรืออยู่ในที่อื่นๆ จะขายได้ยาก!

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้แจกแจงข้อมูลการเปิดตัวโครงการอาคารชุดในพื้นที่หลักๆ เฉพาะในเขตเมืองของกรุงเทพมหานครและไม่รวมห้องชุดนอกเขตหรือที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ หรือเพียงอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างระยะแรกๆ เช่น สายสีชมพู และสายสีส้ม เป็นต้น โครงการรถไฟฟ้าที่นำเสนอประกอบด้วย

            1. MRT หัวลำโพง-คลองเตย

            2. MRT เพชรบุรี-เซ็นทรัล

            3. MRT-น้ำเงิน บางซื่อ

            4. MRT-น้ำเงิน จรัญสนิทวงศ์

            5. MRT-น้ำเงิน เพชรเกษมตลอดเส้น

            6. MRT-สีม่วง บางซื่อ-ก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

            7. MRT-สีม่วง แม่น้ำเจ้าพระยา-บางใหญ่

            8. BTS สีสม-สาทร

            9. BTS ฝั่งธนฯ

            10. BTS เพลินจิต ชิดลม สยาม - อนุสาวรีย์ชัย

            11. BTS พหลโยธิน-หมอชิต

            12. BTS นานา-พระโขนง

            13. BTS อ่อนนุช-แบริ่ง

            จะสังเกตได้ว่ารถไฟฟ้า BTS ส่วนที่กำลังก่อสร้างถึงบางปู หรือส่วนที่ก่อสร้างทางเหนือไปคูคด รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไม่ได้รวมไว้ในการสำรวจเบื้องต้นนี้

            จะเห็นได้ว่าในแต่ละปี มีห้องชุดจำนวนหน่วยรวมกันถึงประมาณ 32%-38% ที่พัฒนาตามแนวรถไฟฟ้าเหล่านี้ ถ้าคิดเป็นมูลค่า ก็สูงถึง 40%-45% ของทั้งหมดที่พัฒนาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในกรณีนี้ หากรวมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง ก็จะมีห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้ามากกว่านี้ โดยหากประมาณการตามจำนวนหน่วย ก็อาจสูงถึง 50% ของทั้งหมด แต่หากประมาณการตามมูลค่า ก็จะสูงถึงราว 60"% ของทั้งหมด นี่แสดงว่าแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยจะเกาะไปตามแนวรถไฟฟ้าเป็นสำคัญ เพราะทำให้การคมนาคมสะดวก ในอนาคตการเกาะตามแนวรถไฟฟ้าก็จะทวีมากขึ้นอีกตามลำดับ โอกาสที่จะสร้างอาคารชุดในพื้นที่ห่างไกลรถไฟฟ้าก็จะน้อยลง

            อย่างไรก็ตามค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยค่อนข้างแพง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ค่าโดยสารรถใต้ดินเที่ยวเดียวในนิวยอร์กตกเป็นเงินประมาณ 80 บาท (http://bit.ly/1jrU5ex) ใกล้เคียงกับของไทยเข้าไปแล้ว ในขณะที่รายได้ของประชาชนไทยอาจต่ำกว่าสหรัฐอเมริการาว 4 เท่า ซึ่งก็เท่ากับว่าค่ารถไฟฟ้าของไทยแพงกว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก บริษัทที่ดำเนินการอยู่จึงกำไรมหาศาล และยังสามารถดำเนินการต่อไปจากการต่อสัมปทาน แถมยังได้สิทธิก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง รวมทั้งจะไปทำต่อในระยองเสียอีก (http://bit.ly/2GjgqwQ) กรณี้ในอนาคตอาจเข้าข่ายการผูกขาดหรือไม่

            รัฐควรสนับสนุนการสร้างรถไฟฟ้าใจกลางเมืองมากขึ้น โดยกระจายให้มีการแข่งขัน และอนุญาตให้ก่อสร้างโดยมี FAR ที่สูงขึ้นถึง 20:1 หรือ 30:1 เพื่อให้เมืองไม่ขยายออกไปทำลายชนบท พื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตกรรมนั่นเอง และทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยถูกลง ประชาชนทั่วไปก็จะสามารถอยู่อาศัยในเมืองได้มากขึ้น

อ่าน 2,929 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved