Bloomberg มั่วว่าไทยมีความทุกข์ยากน้อยที่สุด
  AREA แถลง ฉบับที่ 98/2561: วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าสำนักข่าว Bloomberg สำรวจพบว่าไทยมีความทุกข์ยากน้อยที่สุด นี่เป็นเรื่องเท็จ ไม่แน่ว่า Bloomberg วิเคราะห์ผิดหรือ "ถูกซื้อ" ลองมาพิจารณากัน

            ข่าวดีสำหรับประเทศไทยก็คือ "Bloomberg ยกไทยอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุด ชนะสิงคโปร์และญี่ปุ่น" (http://bit.ly/2HpiLYP) โดยระบุว่า ไทยรั้งอันดับ 1 ทำเนียบประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลกในปี 2018 จากการจัดอันดับของ Bloomberg สำนักข่าวชั้นนำของโลก สิงคโปร์และญี่ปุ่นยังครองอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนไอซ์แลนด์หลุดท็อป 5 ขณะที่จีนร่วงจากท็อป 10 ในปีที่แล้วลงมาอยู่ที่ 17 ประเทศที่มีความทุกข์ยากมากที่สุดในโลกคือ เวเนซุเอลา, แอฟริกาใต้, อาร์เจนตินา, อียิปต์, กรีซ และตุรกี

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เห็นว่าการวิเคราะห์ของ Bloomberg น่าจะมีความผิดพลาด จึงขอเสนอบทวิเคราะห์ในทางตรงกันข้าม ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ดร.โสภณ ไม่รักประเทศไทย ไม่ยินดีกับการเป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุด ดร.โสภณ ก็อยากให้ประเทศไทย ซึ่งก็หมายถึงประชาชนไทยโดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อยมีความสุข  เพียงแต่การวิเคราะห์ของ Bloomberg ไม่ตรงความจริง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชะล่าใจ และพากัน "ลงเหว" ได้ในที่สุด

            ข้อมูลของ Bloomberg จัดอันดับ 1-10 ของที่ทุกข์ยากน้อยที่สุดและที่ทุกข์ยากมากที่สุด (Miserable https://bloom.bg/2BZ5shV) แต่ไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลทั้งชุด ดร.โสภณ จึงนำข้อมูลอื่นมาประกอบการวิเคราะห์ได้แก่:

            1. ดัชนีการทุจริต/โปร่งใส Corruption Perception Index (http://bit.ly/2j3Y63K)

            2. ดัชนีอาชญากรรม (Crime) ในแต่ละประเทศ (http://bit.ly/2dRWb0Y)

            3. ต้นทุนการครองชีพ (Costs of Living) ในแต่ละประเทศ (http://bit.ly/2legFDr)

            4. ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ในแต่ละประเทศ (http://bit.ly/2EB3shQ)

            5. ดัชนีการฆาตกรรม (Homicide) ในแต่ละประเทศ (http://bit.ly/1baalwg) และ

            6. ดัชนีความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) ในแต่ละประเทศ (http://bit.ly/2CrXsC1)

            ผลการวิเคราะห์ตัวเลขความทุกข์ยากด้วยตัวแปร/ดัชนี 6 อันข้างต้น ด้วย Simple Regression Analysis โดยให้ความทุกข์ยากเป็นตัวแปรตาม และแต่ละตัวแปรทั้ง 6 เป็นตัวแปรอิสระ ปรากฏว่า ค่า Adjusted R Square ต่ำมาก แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรกันเลย โดยความสัมพันธ์เชิงตัวแปรในค่า Adjusted R Square ของดัชนีความทุกข์ยาก กับดัชนีอื่นเป็นดังนี้:

            1. ดัชนีการทุจริต/โปร่งใส มีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.383477

            2. ดัชนีอาชญากรรม มีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.533329

            3. ต้นทุนการครองชีพ มีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.375025

            4. ภาวะเงินเฟ้อ มีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.012248

            5. ดัชนีการฆาตกรรม มีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.264251

            6. ดัชนีความเสี่ยงของประเทศ มีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.066282292

            การที่ค่า Adjusted R Square ต่ำกว่า 1 เป็นอย่างมาก แสดงว่าไม่มีนัยสำคัญของความสัมพันธ์เชิงตัวแปรเท่าที่ควร ดัชนีความทุกข์ยาก จึงไม่มีส่วนสัมพันธ์กับดัชนีอื่น กล่าวคือความทุกข์ยากน้อย กลับไม่สัมพันธ์กับการทุจริต อาชญากรรม ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ อัตราการฆาตกรรม และดัชนีความเสี่ยงของประเทศ แสดงว่าดัชนีความทุกข์ยาก เป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อาจจัดทำขึ้นโดยมีความผิดพลาด เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในเชิงบวกให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย หรืออาจด้วยเหตุผลอื่นใดที่ไม่อาจทราบได้

            ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่าตัวเลขของ Bloomberg จึงไม่น่าจะเชื่อถือได้เท่าที่ควร

อ่าน 3,857 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved