AREA แถลง ฉบับที่ 66/2554: 1 สิงหาคม 2554
ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกากระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาในเดือนล่าสุด (พฤษภาคม 2554) เพิ่มขึ้น 0.4% และในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งดูเหมือนว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น แต่ในความเป็นยิ่งสถานการณ์ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เปิดเผยถึงข้อมูลขององค์กรการเงินเคหะการแห่งสหรัฐอเมริกา ว่า แม้ใน 2 เดือนล่าสุด (เมษายน และพฤษภาคม 2554) ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มสูงชึ้นเล็กน้อยคือ 0.4% และ 0.2% ตามลำดับ แต่ถือว่าแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ในกรณีของผู้ที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด อาจคิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวแล้ว แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์ยังไม่ดี การตัดสินใจลงทุนใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาจกล่าวได้ว่าที่ราคาบ้านในเดือนเมษายน 2554 เพิ่มขึ้น 0.2% นั้น แต่เดิมเมื่อเดือนที่แล้วคาดการณ์ว่าเพิ่มขั้น 0.8% แต่เมื่อทบทวนใหม่กลับพบว่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องจับตามองให้ใกล้ชิด เดือนล่าสุด (พฤษภาคม 2554) ที่คาดว่าราคาบ้านจะเพิ่มขึ้น 0.4% อาจได้รับการทบทวนปรับลดหรือเพิ่มตามความเป็นจริงก็ยังเป็นไป
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ในแต่ละภูมิภาคของสหรัฐอเมริกา แม้ส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยจะเพิ่มราคาขึ้น แต่ก็ในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก ภูมิภาคแนวภูเขา ตั้งแต่มอนทานา เนวาดา อะริสโซนา นิวเม็กซิโก และอื่น ๆ แม้ราคาปรับเพิ่มขึ้นถึง 2% ในเดือนล่าสุด (พฤษภาคม) แต่ว่าในช่วงก่อนหน้าก็ปรับตัวลดลงมากมาโดยตลอด ส่วนภูมิภาคที่มีการปรับลดมากเป็นพิเศษ เช่น แปซิฟิค (รวมแคลิฟอร์เนีย) และแอตแลนติก (รวมฟลอริดา) ก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก
จากการที่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤษภาคม 2554 แต่หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2553-2554) ปรากฏว่า ราคาบ้านยังลดต่ำลงถึง 6.3% และราคาบ้านลดต่ำลงไปแล้วถึง 19.6% นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 ถึงเดือนพฤษภาคม 2554 ราคาบ้านล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2554 เท่ากับราคาบ้านเมื่อเดือนมกราคม 2547 หรือ 40 เดือนก่อนถึงจุดสูงสุดในเดือนเมษายน 2550 นั่นเอง
การที่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกายังอยู่ในภาวะไม่มั่นคง ก็เป็นเพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังไม่แข็งแรง จึงสะท้อนจากราคาที่อยู่อาศัยนั่นเอง และในภาคที่อยู่อาศัยเอง ปัญหาหนี้เสียยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชะงัดเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะระบบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้สถาบันการเงินขายสินเชื่อของตนออกสูงตลาด และไม่รับผิดชอบต่อการติดตามหนี้สินเท่าที่ควร ทำให้หนี้เสียบานปลายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ระบบสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกายังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งหากสหรัฐอเมริกาได้รับการปรับลดอัตราความน่าเชื่อถือ ก็จะยิ่งสร้างความผันผวนให้กับระบบเศรษฐกิจยิ่งขึ้น
และหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีปัญหาลุกลามออกไป อาจทำให้เกิดความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจอื่น อาจสร้างความเสื่อมทรุดให้กับประเทศอื่น ๆ ได้ ทำให้การลงทุนต่าง ๆ มีความเสี่ยงสูงขึ้น ความรุ่งเรืองของเอเชียคงจะไม่ยั่งยืนนัก หากยุโรปและสหรัฐอเมริกามีปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา อาจถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องประมาณการไว้ประกอบในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนระหว่างประเทศ และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จะได้จับตาสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคเอเซียมาเพื่อการพิจารณาประกอบการวางแผนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th) นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ ของสภาหอการค้าไทย http://www.facebook.com/pornchokchai |