หมดยุคโรงแรมม่านรูดแล้ว ถึงเวลาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ทั้งนี้เพราะทำเล ราคาที่ดิน และความไม่รโหฐานอีกต่อไป
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าศูนย์ข้อมูลฯ ทำสำรวจวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินทุกประเภท รวมทั้งโรงแรม ซึ่งก็ไม่เว้นกระทั่งโรงแรมม่านรูด ปรากฏว่าในอนาคต โรงแรมประเภทนี้คงจะ "สูญพันธุ์" หรือหมดยุคไปแล้ว สินค้าอื่นมาแทนที่ได้แนบเนียนกว่า
โรงแรมม่านรูดอาจเรียกได้ว่าคือ Love Hotel คือโรงแรมสำหรับการประกอบกามกิจในระยะสั้น (http://bit.ly/2HqzeeX) มีแพร่หลายในญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และอื่นๆ ในนครโฮจิมินห์ซิตี้ค่อนข้างจะ "โจ๋งครึ่ม" คือผู้ใช้บริการสามารถเดินเข้าไปเลย แต่อย่างในญี่ปุ่นจะค่อนข้างเงียบสงบ (แทบ) ไม่พบผู้คน ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อรักษาความรโหฐานไว้ให้มากที่สุด
กิจการโรงแรมม่านรูดของไทยจะเป็นในลักษณะที่ผู้ใช้บริการขับรถเข้าไป แล้วม่านก็จะรูดเพื่อปกปิดรถ หรือไม่ก็เรียกใช้บริการแท็กซี่เข้าไป แล้วเรียกใช้บริการแท็กซี่หลังเสร็จกิจ สนนราคามีตั้งแต่ 300-1,000 บาท แล้วแต่คุณภาพ ภายในห้องมี่โทรทัศน์พร้อมภาพยนตร์ "ปลุกใจเสือป่า" ดนตรี กาแฟ ชา น้ำดื่ม ตู้เย็น บางแห่งมีบริการ "เก้าอี้นายพราน" ผู้ใช้บริการสามารถสั่งซื้ออาหาร-เครื่องดื่มได้ด้วย เป็นต้น ผู้ใช้บริการมีตั้งแต่คู่ที่มากันเอง หรือผู้ที่มาผู้ขายบริการทางเพศ เป็นต้น บางครั้งก็อาจมีกรณีอาชญากรรมเกิดขึ้นในโรงแรมม่านรูดเพราะการดูแลต่างๆ อาจไม่ทั่วถึงหรือทันการณ์ เป็นต้น
ที่ผ่านมามีบทความที่น่าสนใจหลายอันที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ เช่น "‘Love Hotel’ ยกสองของ ‘โรงแรมม่านรูด’" (http://bit.ly/2GmDFGp 2 มีนาคม 2558) และ "ม่านรูดซบเซา! เปิดใจเจ้าของ PEEP INN ในวันที่คนไม่เข้าม่านรูดอีกต่อไป" (http://bit.ly/2GlVyFs 14 กุมภาพันธ์ 2561) อันที่จริงธุรกิจโรงแรมม่านรูดเกิดขึ้นมามากกว่า 60 ปีแล้ว สมัยก่อนอาจเป็น "โรงน้ำชา" แต่ที่เป็นม่านรูดรุ่นแรก ๆ ที่มีมาตรฐานที่ดี คงเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2530
อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้ซบเซาลงเพราะ
1. ที่ตั้งแต่เดิมเป็นที่รโหฐานแต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งชุมชนไม่เหมาะกับการใช้บริการอีกต่อไป
2. มีโรงแรมตามปกติหลายแห่งเปิดให้เช่าชั่วคราวหรือค้างคืนเดียว สามารถไปใช้บริการได้อย่างแนบเนียนกว่าการขับรถเข้าไปในโรงแรมม่านรูด
3. ราคาที่ดินที่ตั้งของโรงแรมม่านรูดสูงขึ้นทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
4. มีโรงแรมแบบรีสอร์ทหลายแห่งที่บรรยากาศดีกว่าเหมาะสมสำหรับการประกอบกามกิจ
5. หลายแห่งอาจเหมาะสมนำมาทำบูติคโฮเต็ล hostel หรือโรงแรมตามปกติและน่าจะสร้างรายได้ได้มากกว่าการเป็นแรมม่านรูด โรงแรมม่านรูดจึงรูดม่านด้วยประการฉะนี้
อย่างกรณีโรงแรมปีปอิน ถนนเทียมร่วมมิตร ที่ดินในปัจจุบันคงมีราคาประมาณ 250,000 บาทต่อตารางวา ในขณะที่เริ่มเปิดกิจการเมื่อปี 2530 อาจมีราคาเพียงตารางวาละ 8,000 บาทเท่านั้น หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 12% การยังคงสภาพเป็นโรงแรมม่านรูดจึงอาจไม่คุ้มค่า และในบริเวณใกล้เคียงก็มีการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์อื่นแล้ว
โรงแรมม่านรูดในฐานะอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งจึงอาจถึงคราวอวสาน เช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น โรงภาพยนตร์ประเภท "Drive In" หรือแม้แต่โรงภาพยนตร์แบบ Stand Alone ทั่วไปก็คงถึงเวลาอวสานเช่นกัน
สังขารไม่เที่ยงหนอ
รูปโรงแรมม่านรูด
ที่มา: http://bit.ly/2HMgNlf
สภาพห้องพัก
ที่มา: http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000002575602.JPEG
โรงแรมม่านรูดชื่อดัง ปีปอิน ถ.เทียมร่วมมิตร
ที่มา: https://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=3508501