รัฐบาลไทยควรช่วยผู้สูงวัยอย่างไร
  AREA แถลง ฉบับที่ 116/2561: วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย เราจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย มาดูประสบการณ์ในต่างประเทศที่ไทยพอจะปรับทำได้

ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://goo.gl/B1yutA

 

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อนและผู้ด้อยโอกาส ขอนำเสนอแนวคิดการช่วยเหลือผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จากประสบการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้:

สถานการณ์ผู้สูงวัย

            ประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดน้อยลง ขณะที่จํานวนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แสดงว่าโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนแปลงเข้าไปสู่สังคมสูงอายุ (Aging society) ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามผู้สูงอายุหมายถึง ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

            1. ระดับการก้าวเข้าส่สังคมผู้สู ูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่า 10% มีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7%

            2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่า 20% หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14%

            3.ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไป มากกว่า 20%

            สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ตามมาด้วยไทย บูรไน และเวียดนาม ตามลําดับ (http://bit.ly/2F622eL)

            รายงานยังกล่าวว่า "การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศอาเซียน ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ อย่างรวดเร็ว ทําให้จํานวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ส่งผลให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละประเทศ การมีอายุยืนยาวขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สําคัญ ที่ทําให้ประชากรสูงอายุมีจํานวนเพิ่มสูงขึ้น พิจารณาได้จาก อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด พบว่าทุกประเทศมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิงคโปร์

            รัฐบาลสิงคโปร์มีโปรแกรมช่วยเหลือที่น่าสนใจมาก (http://bit.ly/2rlGtPl)

            1. Medisave โดยประชาชนแต่ละคนต้องจ่ายเงินประมาณ 8%-10.5% ต่อปีเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ฐานะผู้สูงวัย เพื่อจะได้มีเงินไว้รักษาตัว บวกกับการสนับสนุนของทางราชการ

            2. Enhancement for Active Seniors (EASE) โดยรัฐออกเงินให้ 95% ของค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย เช่น ราวบันไดใหม่ ทำพื้นที่ไม่ลื่น ฯลฯ

            3. ComCare Long Term Assistance ผู้สูงวัยจะได้เงิน 1,180 สิงคโปร์ดอลลาร์ (28,000 บาทต่อเดือน) หากไม่สามารถช่วยตนเองได้ เจ็บป่วย และอาจมีเงินสนับสนุนทางอื่นด้วย

            4. Silver Support Scheme รัฐบาลจ่ายเงินเพิ่มให้อีกเดือนละ 300-750 เหรียญสิงคโปร์ (8,300-18,000 บาท) สำหรับคนแก่ที่มีรายได้ต่ำสุด 20% แรกที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว

            5. Pioneer Generation Package ผู้สูงวัยในฐานะผู้บุกเบิกสิงคโปร์ (เกิดก่อน 31 ธันวาคม 2492) หรือผู้ที่เปลี่ยนมาเป็นสัญชาติสิงคโปร์ก่อน 31 ธันวาคม 2529 จะได้รับเงินไม่เกิน 800 สิงคโปร์ดอลลาร์ (19,000 บาท) ต่อปีและอื่นๆ เป็นการเพิ่มเติม

            6. Lease Buyback Scheme โดยผู้สูงวัยที่มีห้องชุด 4 ห้องนอนหรือน้อยกว่านี้สามารถให้ทางราชการเซ้งห้องชุดต่อเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายได้

            7. Senior Citizen Concession Card ผู้สูงวัยมีสิทธิพิเศษในการจ่ายค่ารถราต่าง ๆ ในอัตราต่ำกว่าปกติ (ไม่ฟรี)

ประเทศอื่นๆ

            ยังมีโปรแกรมการช่วยเหลือผู้สูงวัยในประเทศอื่น ๆ (http://bit.ly/2CMVlZu) ที่สรุปไว้ ดังนี้:

            1. บรูไน รัฐบาลมีโปรแกรมสำหรับผู้สูงวัย เช่น ละเว้นภาษี การดูแลสุขภาพ การศึกษาและที่อยู่อาศัย รวมทั้งเงินบำนาญเดือนละ 6,000 บาท

            2. ฮ่องกง ยังมีศูนย์รับเลี้ยงผู้สูงวัยในเวลากลางวันให้กับผู้สูงวัยโดยมีทั้งอาหาร กิจกรรมต่าง ๆ การให้คำปรึกษา และอื่น ๆ เสริมให้อีกด้วย

            3. ญี่ปุ่น เริ่มใช้หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงวัย รวมทั้งการให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย

            4. ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะย่านมากาตี ทางราชการยังให้บัตรรักษาพยายาล ได้บัตรดูหนัง เค้กวันเกิด และเงินอีก 100,000 เปโซ (60,000 บาท) เป็นเงินบำเหน็จอีกด้วย

            5. ศรีลังกา มีเงินบำเหน็จให้ประมาณ 20,000-50,000 บาท นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ดอกเบี้ยเงินในอัตราต่ำพิเศษแก่ผู้สูงวัยอีกด้วย

            6. ไต้หวัน ทั้งนี้ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับการสนับสนุน เช่น การสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวที่ดูแลผู้สูงวัย นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมให้ผู้สูงวัยได้รับการดูแลโดยชุมชนเอง นอกจากนี้ยังทำคล้ายในญี่ปุ่นที่ให้เทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยอีกด้วย

ผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อยทำอย่างไรดี

            บางครั้งผู้สูงวัยจำเป็นต้องมีทางออกแปลกๆ เช่น เคยมีข่าวว่า "ผู้สูงวัยญี่ปุ่นตบเท้าเข้าคุก หนีค่าครองชีพสูงบำนาญต่ำ" (http://bit.ly/2ougl2S) อย่างในประเทศไทย ทางออกทางเป็นไปได้ก็ เช่น การบวชเป็นพระ หรือสำหรับสุภาพสตรี ก็บวชชี ซึ่งก็จะสามารถช่วยสนับสนุนผู้สูงวัยให้สามารถครองชีพตามอัตภาพได้ระดับหนึ่ง หากเป็นกรณีเจ็บป่วย และมีบัตรทอง ก็ยังสามารถได้รับการรับการรักษาพยาบาลตามอัตภาพอีกเช่นกัน

            การที่ในประเทศไทยมีประชากรสูงวัยประมาณ 10.5% หรือ 7.3 ล้านคนนั้น หากเป็นผู้สูงวัยที่ยากไร้ขาดที่พึ่ง น่าจะมีประมาณ 730,000 คน หรือราว 10% ของผู้สูงวัยทั้งหมด ในจำนวนนี้หากต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลคนละประมาณ 500 บาทต่อวัน ก็จะเป็นเงินปีละ 79,935 ล้านบาท หรือเพียง 2.8% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2561 เท่านั้น แสดงว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุน ยิ่งกว่านั้นหากคิด ณ อัตราคืนทุนที่ 10% เงิน 79,935 ล้านบาท ก็เป็นเงิน 799,350 ล้านบาท เงินส่วนนี้อาจต้องระดมทุนจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการวางแผนในระยะยาว

            จะเห็นได้ว่าการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงวัย คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้ หากรัฐบาลจะดำเนินการ (โดยไม่ให้มีการทุจริต)

อ่าน 2,896 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved