ศรีลังกาเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ครั้งหนึ่งเคยเจริญกว่าไทยเสียอีก ยังมีสิ่งก่อสร้างนับพันปีให้ชมอย่างเต็มตา แม้ตอนนี้จะด้อยกว่าไทย แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจในการลงทุนอยู่ไม่น้อย
ในระหว่างวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้มีโอกาสไปร่วมท่องเที่ยวและประสานงานด้านธุรกิจ ณ ประเทศศรีลังกา ได้พบเห็นสิ่งที่น่าสนใจมานำเสนอเพื่อประกอบการศึกษาเพื่อความรอบรู้และการลงทุน
เทียบไทยกับศรีลังกา
ประเทศศรีลังกามีขนาดเล็กคือเพียง 13% ของประเทศไทยเท่านั้น สำหรับประชากร ก็มีเพียง 22.4 ล้านคนหรือเพียงหนึ่งในสาม (33%) ของขนาดประชากรไทย อย่างไรก็ตามประชากรศรีลังกามีอัตราการเพิ่มสูงกว่าไทย ดังนั้นในด้านความหนาแน่นของประชากร ไทยจึงมีความหนาแน่นน้อยกว่าคือ 133 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ศรีลังกามีประชากรถึง 342 คนต่อตารางกิโลเมตร
ในด้านเศรษฐกิจปรากฏว่า ขนาดเศรษฐกิจของศรีลังกาเป็นเพียงหนึ่งในห้า (19%) ของไทยเท่านั้น แต่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย โดยเมื่อปี 2550 ขนาดเศรษฐกิจศรีลังกาเป็นเพียง 14% ของไทยเท่านั้น ทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวของศรีลังกาเป็นเพียง 58% ของไทย แต่ก็เติบโตกว่าในช่วงปี 2550 ที่รายได้ต่อหัวเป็นเพียง 43% ของไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตามศรีลังกามีอัตราการว่างงานมากกว่าไทย สำหรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ศรีลังกาเพิ่มขึ้นจาก 566,000 คนเป็น 2.116 ล้านคนในระหว่างปี 2550-2560 แต่ก็ยังน้อยมาก คือเพียง 6% ของนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ประเทศไทย แม้อัตราเพิ่มของนักท่องเที่ยวเข้าศรีลังกาจะมีมากกว่าไทยก็ตาม
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ในหนังสือคู่มือคนไทยในศรีลังกา (https://goo.gl/8CBtTv) ระบุถึงการเยือนระดับราชวงศ์ของไทย ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ เยือนศรีลังกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2482 โดยมีภาพประกอบที่วัดธีปทุตตมาราม กรุงโคลัมโบ)
ในปี 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนศรีลังกา เมื่อปีพ.ศ. 2493 โดยมีสำเนาภาพถ่ายในวัดเดียวกัน ผ่านมาจนถึงปี 2532 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จฯ เยือนศรีลังกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนศรีลังกา เมื่อวันที่ 19 – 24 มกราคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (เมื่อวันที่ 23 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2542) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (6 มีนาคม พ.ศ. 2548)
เมืองหลวงใหม่
นอกจากกรุงโคลัมโบที่เราเข้าใจว่าเป็นเมืองหลวงใหม่แล้ว ยังมีเมืองชื่อ ศรีชยวรรธนปุระโกฏเฏ หรือรู้จักกันในชื่อ ศรีชยวรรธนปุระ หรือ โกฏเฏ เป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่ทางชานเมืองด้านตะวันออกของนครโคลัมโบ บางครั้งเรียกว่า "เขตเมืองหลวงใหม่" อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของศรีลังกาก็ตั้งอยู่ที่นี่ด้วย เมืองนี้อยู่ห่างจากกรุงโคลัมโงบประมาณ 7.2 กิโลเมตรโดยทางรถยนต์ เมืองนี้มีพื้นที่ 17 ตารางกิโลเมตร มีมหาวิทยาลัยชื่อ President's College, Sri Jayawardenapura Kotte
การสร้างเมืองใหม่แบบนี้ไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของภาคมหานครกรุงโคลัมโบ ไม่ได้มีความเป็นเอกเทศ และทำให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องมากกว่าที่จะเป็นเมืองที่มีความเป็นตัวของตัวเอง อันที่จริงการสร้างเมืองใหม่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก เช่น กรุงแคนบรา กรุงเนปิดอว์ กรุงวอชิงตันดีซี เมืองปุตราจายา ก็เป็นเมืองหลวงทางด้านการบริหาร ส่วนเมืองหลวงหลวงทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่ที่เดิม ดูแล้วการสร้างเมืองหลวงก็เพื่อประโยชน์ของข้าราชการในการมีที่ทางปฏิบัติงานได้สบายมากขึ้นโดยใช้เงินภาษีอากรของประชาชอย่างมหาศาล มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
สังคมศรีลังกา
ในศรีลังกาการเป็นคนลักเพศ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและห้ามแสดงออก แต่ยังไม่มีโทษขนาดต้องติดคุกเช่นในอิหร่าน หรือยูกันดา หรือในอีกหลายประเทศ ยิ่งถ้าให้แต่งงานกันเองได้ ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ สำหรับพระสงฆ์ที่นี่ ไม่มีการบวช ใส่เครื่องแบบพระให้บุพการีเกาะชายผ้าเหลืองแบบประเทศไทย คนจะบวช มักเป็นผู้ที่คิดจะบวชตลอดชีวิต โดยต้องอยู่วัด 3 เดือนล่วงหน้า และเมื่อเป็นพระแล้ว ก็ไม่มีการสาดน้ำมนต์ หรือไม่มีการตั้งศาลพระภูมิในบ้าน พระที่นี่จับเงินได้ จับหัวผู้หญิงเพื่อให้พรได้ ถ่ายรูปยืนชิดติดกับผู้หญิงได้
ในเรื่องพุทธศาสนาที่ศรีลังกานี้ค่อนข้างแรง เพราะต้องต่อกรกับศาสนาฮินดู คริสต์และอิสลามมาแต่เดิมในประวัติศาสตร์ ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีคนแอบมาบวชในศาสนาพุทธ แล้วไปตั้งศาสนาใหม่บ้าง หรือแสร้งมาบวชบ่อนทำลายพุทธให้ล่มสลายลงในที่สุดเช่นกัน ดังนั้นเราจึงมักเห็นภาพเขียนการต่อสู้เพื่อรักษาศาสนาอยู่ในประวัติพุทธในศรีลังกา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีในประเทศไทย
อิทธิพลของจีนและอินเดีย
ทุกวันนี้มหาอำนาจเช่นจีนและอินเดียต่างแผ่เข้ามาในศรีลังกา จีนไหลบ่าเข้ามาอย่างรุนแรง นักลงทุนจีนได้สร้างท่าเรือขนาดใหญ่ และกิจการอื่น ๆ เป็นอันมาก แต่ท่าทีของนักลงทุนจีน ก็ไม่ต่างจากญี่ปุ่น ซึ่งในยุคหนึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" ศรีลังกาจึงพยายามถอยห่างจากจีน โดยหวังพึ่งอินเดียและสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แต่ก็ยังหวังพึ่งอะไรไม่ได้มากนัก
จากคำบอกเล่าของ ดร.ดาริน อดีตรองผู้ว่าการธนาคารชาติศรีลังกา ในศรีลังกามีคนงานต่างชาติราว 300,000 คน เป็นชาวอินเดียราว 200,000 คน และเป็นคนจีนราว 80,000 คน เป็นคนงานระดับล่าง ทำให้เป็นการแย่งงานคนท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่นต้องตกงาน สร้างความไม่พอใจกับคนท้องถิ่นไม่น้อยเช่นกัน นโยบายให้นำเข้าแรงงานต่างชาติแบบนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อชาติเลย
นี่แหละครับประเทศศรีลังกาที่ผมได้เห็นมา