ค่าแรงเพิ่ม 325 บาท ไม่กระทบราคาอสังหาริมทรัพย์
  AREA แถลง ฉบับที่ 185/2561: วันจันทร์ที่ 02 เมษายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            หลายคนกังวลว่าราคาบ้านจะเพิ่มหรือไม่ ในเมื่อค่าแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้น 8.3% ดร.โสภณ ฟันธงว่า ไม่กระทบแน่นอน

            ดร,โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ให้ความเห็นต่อการปรับค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จาก 300 บาทต่อวันเป็น 325 บาทต่อวันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (https://bit.ly/1gSrqO8) ว่าจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อราคาที่อยู่อาศัย เพราะ:

            1. ปกติค่าแรงในวงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ก็มักจ่ายมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว

            2. ค่าแรงมีสัดส่วนเป็นมูลค่าประมาณ 30% ของค่าก่อสร้าง (ค่าแรง 30: ค่าวัสดุ 70) ดังนั้น ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น 8.3% ก็จะเป็น 32.5 ส่วนค่าวัสดุไม่ได้เพิ่มขึ้นจึงยังเป็น 70 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงกลายจาก 100 เป็น 102.5 หรือเพิ่มขึ้น 2.5% เท่านั้น

            3. ปกติมูลค่าของบ้านหลังหนึ่ง เช่น บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ จะมีสัดส่วนของค่าก่อสร้าง และค่าที่ดินเป็น 1:2 รวมเป็น 3 เช่นบ้านราคา 3 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1 ล้าน ค่าที่ดิน 2 ล้านเป็นต้น ดังนั้นหากค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 1.025 ส่วนค่าที่ดินยังเท่าเดิมคือ 2 ก็จะทำให้มูลค่าของบ้านเพิ่มจาก 3 เป็น 3.025 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.83% เท่านั้น

            4. อย่างไรก็ตามในระยะยาว ค่าวัสดุก็อาจเพิ่มขึ้นตามค่าแรงในการผลิตที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็คงเป็นในอีกระยะหนึ่ง และถ้าค่าก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้น 8.3% แต่ขณะที่ค่าที่ดินยังเท่าเดิม ตามสัดส่วน 1:2 (ค่าก่อสร้างและค่าที่ดิน) ก็จะทำให้ราคาบ้านเพิ่มจาก 3 เป็น 3.083 หรือเพิ่มขึ้น 2.8% เท่านั้น

            5. สำหรับบ้านในทำเลที่ดี แม้ไม่มีการเพิ่มค่าแรงแต่ก็มีการเพิ่มราคาเพราะมีอุปสงค์มาก ในทางตรงกันข้าม แม้ค่าก่อสร้างขึ้น แต่บังเอิญโครงการนั้นตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่ดี ตั้งราคาไว้สูงเกินจริงแต่แรก หรือขายยากด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ผู้ขายก็ยังยินดีลดราคาลง เพื่อให้ขายได้ ในบางกรณีถึงขนาดต้อง "ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" ก็ยังต้องทำ เป็นต้น

            6. สำหรับในพื้นที่อื่น ค่าแรงก็ขึ้นน้อยหรือแทบไม่ขึ้นด้วยซ้ำไป ยกเว้นที่ชลบุรี ระยองและภูเก็ต ที่ขึ้นจาก 300 บาทเป็น 330 บาท ดังนั้น การขึ้นค่าแรงจึงไม่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม

            ดังนั้น ในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ คงไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญใดๆ เลยเพียงเพราะค่าแรงเพิ่มขึ้น 8.3% และอันที่จริงควรมีการเพิ่มค่าแรงปีละ 5% ด้วยซ้ำไป ที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทเมื่อปี 2554 ก็ไม่ได้ขึ้นอีกเลยจนถึงปี 2561 เป็นเวลา 6 ปี เท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 1.3% โดยเฉลี่ยเท่านั้นในขณะที่ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี และค่าที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครก็เพิ่มขึ้นปีละ 4-5% โดยค่าแรงไม่ได้ขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเลย ส่วนล้ำของมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จึงควรแบ่งให้กับผู้ใช้แรงงานบ้าง แต่ที่ผ่านมาอาจได้กับนายทุนเป็นสำคัญ

ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://goo.gl/HPHiZV
อ่าน 2,288 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved