ตามที่มักมีข่าวว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังเติบโตยิ่งขึ้น แต่แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจกำลังทรุดหนักลงอย่างมาก ทั้งนี้สำรวจจากห้างสรรพสินค้าชั้นนำในใจกลางกรุงเอง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) และคณะได้ทำการสำรวจผู้ค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำประกอบด้วย
1. ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (www.centralworld.co.th)
2. ห้างเซ็นทรัลเอ็มบาสซี (www.centralembassy.com)
3. ห้างเทอร์มินอล 21 อโศก (ww.terminal21.co.th)
4. ห้างสยามพารากอน (www.siamparagon.co.th)
5. ห้างเอ็มควอเทียร์ (www.emquartier.co.th)
การสำรวจนี้ดำเนินการในวันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2561 ในช่วงเวลา 10:00 - 20:00 น. โดยสัมภาษณ์ผู้ค้าในร้านค้าประเภทต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นพลาซาของห้างเหล่านี้ เพื่อสอบถามความคิดเห็น ทั้งนี้สอบถามให้ผู้ให้สัมภาษณ์ตอบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (เมษายน 2560-2561) สถานการณ์การขายของร้านของตนเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้น หรือแย่ลง โดยคะแนน 5 เท่ากับเหมือนเดิมหรือปานกลาง คะแนนต่ำกว่า 5 (1-4) แสดงแนวโน้มแง่ลบ และคะแนนสูงกว่า 5 (6-9) แสดงแนวโน้มแง่บวก
สาเหตุที่สำรวจห้างเหล่านี้ก็คือ
1. ห้างเหล่านี้อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
2. เป็นห้างที่มีความนิยมสูง
3. เป็นห้างที่มีคุณภาพ
ผลการสำรวจพบว่า
1. คะแนนเฉลี่ยที่ได้ก็คือ 4.6 จาก 10 แสดงว่าสถานการณ์ไม่ดี ดร.โสภณ กล่าวว่านี่ขนาดห้างดังๆ ดี ๆ ก็ยังปรากฏว่าค่าเฉลี่ยตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 5 หากเป็นห้างชานเมือง ห้างในหัวเมืองในจังหวัดภูมิภาคอื่น เชื่อว่าจะย่ำแย่กว่านี้มาก
2. หากนำห้างหนึ่งในห้าออก (Terminal 21 อโศก) ซึ่งเป็นห้างที่ไม่ได้มีลูกค้าที่มาเดินถึงระดับสูงสุดจริง ๆ คะแนนเฉลี่ยก็เพิ่มมาอยู่ที่ 4.8 จาก 10 เท่านั้น นี่แสดงว่าลำพังห้างดังๆ หรูๆ ก็ยังประสบปัญหาในการขาย และสถานการณ์การขายไม่ได้ดีขึ้นจริง (ขออภัยที่ไม่สามารถให้รายละเอียดของแต่ละห้างได้ เพราะอาจเป็นการกระทบต่อภาพพจน์ของห้างนั้นๆ)
3. การที่มีนักท่องเที่ยวมามาก ก็ไม่ได้ทำให้ซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน มาดูมากกว่า นักท่องเที่ยวตะวันตกก็เป็นพวกที่มีกำลังซื้อจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มสะพานเป้ ซึ่งก็ไม่ได้ซื้อสินค้าในห้างเหล่านี้อยู่แล้ว
ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ค่อนข้างเสื่อมทรุดสำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ได้ดีขึ้นดังที่ทางราชการนำเสนอ จากการพบปะกับผู้เกี่ยวข้องในพัทยาหลายรายเมื่อวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2561 ตามคำบอกเล่าของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนจีนที่มากันมาก ซื้อโรตีถุงเดียวทานกัน 5 คน การท่องเที่ยวก็แย่เพราะปิดบริการเร็วกว่าเดิม และยิ่งในช่วง Low Season (พฤษภาคม - ตุลาคม) นี้ จะยิ่งแย่กว่าเดิม โดยรวมแล้วแย่กว่า 4 ปีก่อน
ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบริเวณวัดอรุณราชวราราม ท่าเตียนแถววัดโพธิ์ ท่าช้างแถวพระบรมมหาราชวัง และถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจไปท่องเที่ยวมากที่สุด พบว่า นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจริง คือประมาณ 2.5% จากต้นปี 2560 แต่รายได้ลดลงเหลือ 97.2% ซึ่งแม้ไม่ได้ลดลงมาก แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของชาติก็ดูตกต่ำลงจาก 100% เหลือ 96.7% เท่านั้น และที่สำคัญในปี 2562 คาดว่ายังจะลงต่อไปเหลือ 93.3% (https://goo.gl/qnscHx)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2560 ในการสำรวจผู้ค้าในบริเวณพัฒน์พงศ์ครั้งนี้ (http://bit.ly/2wzVgFL) ในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ในกรณีปกติ อาจอนุมานว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 100% แต่ผู้ค้าประเมินเหลือเพียง 63% จากที่ควรจะเป็น แสดงว่าลดลงมากถึง 37% ทีเดียว ในอีกแง่หนึ่งผู้ค้าที่เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากมีถึง 64% ที่เห็นว่าค่อนข้างลดลงมี 27% และที่เห็นว่าปานกลาง (เหมือนเดิม) มี 6% ส่วนที่เห็นว่าเพิ่มขึ้น มีเพียง 3% และที่เห็นว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมามากที่สุดมีเพียง 1% เท่านั้น
ในด้านรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งในแง่หนึ่งก็น่าจะล้อไปตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ก็อาจแตกต่างกันได้ ผลการศึกษาพบว่า ในกรณีปกติ อาจอนุมานว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 100% แต่ผู้ค้าประเมินเหลือเพียง 62% จากที่ควรจะเป็น แสดงว่าลดลงมากถึง 38% ทีเดียว แสดงว่าประเมินลดลงไปในทำนองเดียวกัน ในอีกแง่หนึ่งผู้ค้าที่เห็นว่ารายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมากมีถึง 65% ที่เห็นว่าค่อนข้างลดลงมี 27% และที่เห็นว่าปานกลาง (เหมือนเดิม) มี 5% ส่วนที่เห็นว่าเพิ่มขึ้น มีเพียง 3% เท่านั้น
และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ดร.โสภณ ก็ได้ให้คณะไปสำรวจความเห็นของคนขับแท็กซี่ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ปรากฏว่าต่างมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง (http://bit.ly/1TgPQra) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่มาเป็นหมู่คณะไม่ได้มาใช้บริการแท็กซี่ แต่นักท่องเที่ยวชาติอื่นก็ลดน้อยลงเช่นกัน แท็กซี่ ซึ่งเป็นเสมือน "ทูต" หรือ "หน้าต่าง" ของประเทศไทย กลับไม่รู้สึกรู้สาด้วย เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา
การที่ผลสำรวจภาคสนามกับตัวเลขของทางราชการสวนทางกันเช่นนี้ ผู้เกี่ยวข้องจึงควรศึกษาให้แน่ชัด การลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การสร้างโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยว จึงควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงที่แฝงอยู่ การวิเคราะห์ทางการเงินจึงควรเพิ่มค่าความเสี่ยงหรือ Risk Premium ให้มากขึ้น เผื่อกรณีที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าตัวเลขที่เป็นทางการนั่นเอง
ทุกฝ่ายจึงพึงสังวร เศรษฐกิจกำลังทรุด ต้องอดออม อย่าลงทุนเกินตัว