เขาว่า "ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น" มาดูร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อก่อนบอกว่า "นักการเมือง" ไม่เอาเพราะพวกเขามีที่ดินแยะ แต่ตอนนี้ไม่มีนักการเมืองมา 4 ปีแล้ว ยังปกป้องคนรวยหรืออภิชนที่ชักใยเบื้องหลังผู้มีอำนาจอยู่ใช่หรือไม่ มาดูร่างกฎหมายที่มีช่องโหว่ให้คนรวยเลี่ยงกฎหมายอย่างถูกกฎหมายแบบเท่ๆ เมพขิงๆ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษี แถวไม่เสียฟอร์มอีกต่างหาก
ช่องว่างที่กฎหมายนี้เปิดช่องไว้เพื่อช่วยคนรวยโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ เป้งๆ ผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังผู้มีอำนาจอีกทีหนึ่ง เลี่ยงแล้วไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังไม่ผิดกฎหมาย บ้างยังอาจได้โล่ ได้รับคำชมเชยในฐานะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเสียอีก เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ แม้เป็นการเลี่ยงกฎหมาย แต่ก็ไม่ผิดกฎหมายใดๆ นี่แหละครับประโยชน์ของการมีเทพแบบ "ศรีธนญชัย" ในประเทศไทย หรือบางคนเรียกว่าเราอยู่ในยุค "ตอแหลแลนด์" นั่นเอง
ทางเลี่ยงกฎหมายที่กฎหมายเปิดช่องโหว่ และเป็นช่องทางทำมาหากินของนักกฎหมายหรือที่ปรึกษากฎหมายไปได้อีกนานเท่านานได้แก่
1. การไม่ซื้อบ้านที่มีราคาเกินกว่า 50 ล้านบาทตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งมักต่ำกว่าราคาตลาด โดยทั่วไป ราคาประเมินราชการมักต่ำกว่าราคาตลาด คือมีมูลค่าเพียง 20% - 60% ของมูลค่าตลาด ดังนั้น ถ้าเรามีบ้านที่มีราคา 49 ล้านบาทตามราคาประเมินราชการ ก็เท่ากับเป็นราคาตลาดที่ 81- 245 ล้านบาท เพราะหากไม่ใช่ "บ้านหลัก" เป็น "บ้านหลังที่ 2 ที่มีราคาประเมินที่ 49 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 0.02% หรือ 9,800 บาทต่อปี หรือเดือนละ 817 บาท สำหรับบ้านราคาตลาดที่ 81-245 ล้านบาท ถือว่า "ขี้ๆ" มาก "ขนหน้าแข้งไม่ร่วง" ทำบุญหรือ "เลี้ยงเด็ก" หรือ Tip นักร้องรวมๆ กันยังมากกว่านี้นั่นเอง
2. กรณีเป็นที่ดินเปล่า ทางเลี่ยงที่กฎหมายเปิดช่องให้คนรวย อภิสิทธิชนหรืออภิชนก็คือ
2.1 เอาไปทำอย่างอื่นแทน อย่าให้มีสภาพเป็นที่ดินเปล่า เพราะที่ดินเปล่าต้องเสียภาษีหนัก เช่น เจ้าของที่ดินมีที่ดินสัก 100 ตารางวาใจกลางเมือง เป็นเงินตารางวาละ 1 ล้านบาท ก็เท่ากับ 100 ล้านบาท แต่ราคาประเมินราชการอาจจะราว 500,000 บาทต่อตารางวา ก็เป็นเงินที่ 50 ล้านบาท เขาอาจต้องเสียภาษีปีละ 150,000 บาท แต่ถ้าเขามาทำกิจกรรมอื่น เช่น อยู่อาศัย หรือเกษตรกรรมหรือเรียกให้เท่ๆ ว่า "Urban Farm" ก็เสียเพียง 0.01% หรือประมาณ 5,000 บาท ประหยัดไปถึง 145,000 บาท เอาไปซื้อความสุข เสพสุข เข้าแหล่งอบายมุข ยังได้ความสุขชั่ววูบได้อีกมหาศาล!?! ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนคนจนก็ก้มหน้าเสียภาษีสารพัดกันไป
2.2 ถ้าเอาไปทำนา หรือทำเกษตรกรรมนั้น เจ้าที่ดินต้องทำเอง อย่าให้เช่าใครเช่าเด็ดขาดเพราะจะเข้าข่าย พรบ.เช่านา พ.ศ.2517 (https://goo.gl/U2nGuC) ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขใหม่แล้วในปี 2559 ก็อาจยังมีความยุ่งยากไม่สามารถที่จะนำที่ดินกลับคืนมาได้โดยง่าย
2.3 เจ้าที่ดินใหญ่สามารถเอาไปปลูกพืชอายุสั้น เพื่อรื้อไปทำประโยชน์ง่าย ไม่ปลูกพืชระยะยาว เช่น ต้นสัก ซึ่งกว่าจะตัดมาใช้ประโยชน์ได้ก็อาจมีอายุ 30-50 ปี หรือต้นยาง กว่าจะใช้งานได้ก็ต้องมีอายุราว 7 ปี และมีอายุขัยทางเศรษฐกิจประมาณ 25 ปี เป็นต้น การปลูกพืชอายุสั้น จะทำให้เขาสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย ไม่สูญเสียทรัพยากรอะไรมากนัก
2.4 ช่องโหว่สุดยอดก็คือให้หลวงใช้ประโยชน์ เช่น การใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้เป็นสนามฟุตบอลของเขต การใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพของประชาชนตามที่อำเภอส่งเสริม หรือเป็นสถานที่เพื่อบริการประชาชนให้กับเทศบาลที่ที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ เป็นต้น ถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ เลยแม้แต่บาทเดียว อย่างไรก็ตามต้องมีการทำสัญญาให้รัดกุม เป็นการให้ใช้ประโยชน์ต่อปี หรือต่อทุกไม่เกิน 3 ปี เพื่อจะได้ไม่มีผลผูกพันในระยะยาวจนเกินควรนั่นเอง นี่เองที่คนรวยทำดี ได้ดี ทันตาเห็น เผลอๆ อาจได้อวยลาภยศสรรเสริญอีกต่างหาก
3. นายทุนใหญ่ให้บริษัทถือครองแทนบุคคลธรรมดา เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ ซึ่งก็เท่ากับไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง วิธีการนี้จึงจะเป็นที่นิยมโดยเฉพาะกรณีที่ดินแปลงใหญ่ๆ มาใช้กับบริษัทใหญ่ๆ เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมากนั่นเอง
นี่แหละคือการลด ละ เลิกเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบเมพๆ หรือแบบเทพๆ หรือแบบเมบขิงๆ (เทพจริงๆ) ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เสียภาษี แถมยังได้หน้าได้ตา ได้อะไรดีๆ อีกหลายอย่าง หรืออาจได้รับเกียรติยศอีกต่างหาก สบายไปแปดตลบ (ฮา) แต่จริงๆ แล้วการเสียภาษีเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเรานะครับ นี่แหละที่เรียกว่า "ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น" ตกลงพอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บไม่ได้ประสิทธิผล ก็ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ประชาชนทั่วไปก็ถูก "โยนบาป" รับภาระภาษีเป็นด่านสุดท้าย
คนรวยก็สบายๆ อยู่ดี เพราะเขาไม่เก็บภาษีคนรวย คนรวยอภิชนผู้ยิ่งใหญ่ก็อยู่อย่างเอาเปรียบในสังคมต่อไป
ที่มาของรูปภาพ: https://bit.ly/2v10NK0