ดร.โสภณ ฟันธง ตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้หดตัว 13% ทั้งนี้มาจากผลสำรวจภาคสนามอย่างกว้างขวางที่สุด-ต่อเนื่องรายเดือนในรอบ 24 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่พูดแบบนายหน้าข้ามชาติหรือนักพัฒนาที่ดินที่ต้องเชียร์สินค้าที่ตนขายสถานเดียว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะหดตัวลง -13% ในแง่จำนวนหน่วย และหดตัว -6% ในแง่มูลค่าการพัฒนา แต่ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มกว่าปี 2560 ประมาณ 7% ทั้งนี้เป็นผลจากการสำรวจตลาดอย่างครอบคลุมที่สุดเพราะสำรวจการเปิดตัวโครงการทุกแห่ง โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 เป็นเวลา 24 ปีแล้ว
การเปลี่ยนแปลงตลาดที่อยู่อาศัย กทม.และปริมณฑล พ.ศ.2560-1 | ||||
ปี | จำนวน | จำนวน | มูลค่า | เฉลี่ย/หน่วย |
โครงการ | หน่วย | (ล้าน บ) | (ล้าน บ) | |
ไตรมาส 1/2561 | 96 | 25,026 | 103,443 | 4.133 |
คาดการณ์ปี 2561 | 384 | 100,104 | 413,772 | 4.133 |
พ.ศ.2560 | 410 | 114,477 | 441,661 | 3.858 |
การเปลี่ยนแปลง | -6% | -13% | -6% | 7% |
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย | ||||
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) |
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 พบว่า มีการเปิดตัวโครงการกันถึง 96 โครงการ รวมจำนวนหน่วย 25,026 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาทั้งหมด 103,443 ล้านบาท ทำให้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงถึง 4.133 ล้านบาท การพัฒนาส่วนใหญ่มาจากการเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2561 เพราะมีการเปิดงานมหกรรมที่อยู่อาศัย โครงการหลายแห่งจึงได้เปิดตัวขึ้นมาให้ผู้ซื้อเลือกซื้อ และบ้างก็เปิดตัวเพื่อ "ชิมลาง" ดูตลาดก่อน
โดยที่ใน 2 เดือนแรกเปิดตัวน้อยกว่าปกติมาก แต่เดือนที่ 3 เปิดตัวมากเป็นประวัติการณ์ ในที่นี้จึงยังไม่ได้พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล จึงคาดการณ์สถานการณ์ทั้งปีจากข้อมูลการเปิดตัวของตลาดในไตรมาสที่ 1 โดยคูณด้วย 4 เข้าไปอย่างง่าย ผลปรากฏว่า ปี 2561 นี้ น่าจะมีโครงการเปิดใหม่ 384 โครงการ รวมจำนวนหน่วยถึง 100,104 หน่วย ทั้งนี้รวมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุด และที่ดินจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัย และมีรวมมูลค่าถึง 413,772 ล้านบาท
โดยนัยนี้ ขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2561 เทียบกับปี 2560 จึงถือว่าจะหดตัวลง -13% ในแง่จำนวนหน่วย และหดตัว -6% ในแง่มูลค่าการพัฒนา แต่ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มกว่าปี 2560 ประมาณ 7% ดร.โสภณคาดว่าสินค้าราคาแพงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะผู้มีรายได้สูงยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่โดยผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางเป็นสำคัญ
ดร.โสภณ ขอเตือนผู้บริโภค นักพัฒนาที่ดิน ผู้บริหารสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่วนราชการที่กำหนดนโยบายที่อยู่อาศัย ว่า ในขณะนี้มีบริษัทนายหน้าข้ามชาติพยายามนำเสนอข้อมูลบิดเบือนมากมาย เพื่อรายงานสถานการณ์ (เท็จ) หรือรายงานสถานการณ์ว่าดี เฉพาะในบริเวณที่ตนกำลังขายอยู่เพื่อผลทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ดร.โสภณ จึงขอให้ทุกฝ่ายเสนอข่าวที่ไม่บิดเบือน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้เป็นผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลฯ มาจากการสำรวจตลาดอย่างครอบคลุมที่สุดเพราะสำรวจการเปิดตัวโครงการทุกแห่ง โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 เป็นเวลา 24 ปีแล้ว
จับตาสถานการณ์ให้ชัดเจนเพื่อการลงทุนที่ไม่ผิดพลาด