สุดเว่อร์ เสือตัวละ 12.7 ล้าน มั่วนิ่ม???
  AREA แถลง ฉบับที่ 220/2561: วันอังคารที่ 17 เมษายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            กรมอุทยานฯ ประเมินราคาเสือดำที่ 'เปรมชัย' ยิง 12.7 ล้าน เวอร์สุดๆ หรือมั่วนิ่มหรือไม่ หน่วยราชการมีความคิดในการคำนวณได้แค่นี้จริงหรือ

            เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า "กรมอุทยานฯได้สรุปค่าเสียหายทางระบบนิเวศ 12.7 ล้านบาท. . . เสือดำมีอายุสูงสุดประมาณ 18 ปี ค่าเฉลี่ยอายุคือ 12 ปี เสือดำเพศเมียเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2.5-3 ปี ในวงจรชีวิตหนึ่งจะให้ลูกได้ประมาณ 8 ตัว เสือดำที่ตายเป็นเพศเมีย อายุ 3-5 ปี ราคาซื้อขายทั่วไปประมาณ 2,550,000 บาท เมื่อเทียบเคียงกับโครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่งเพื่อคืนสู่ถิ่นกำเนิดในธรรมชาติบริเวณพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าอนุรักษ์อื่นๆ ประจำปีงบประมาณ 2558 สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี ประกอบกับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติของกรมอุทยานฯ มีอัตรารอดตายประมาณ 20% เมื่อคิดมูลค่าตั้งแต่เสือดำตัวเล็กๆ การฝึก ค่าอาหาร ยารักษาโรคเป็นเวลา 5 ปี กระทั่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ มีการสรุปความเสียหายของเสือดำรวมทั้งสิ้น 12,750,000 บาท" (https://bit.ly/2HDnlmx)

            นอกจากนี้ในรายงานข่าวยังระบุว่า "มูลค่าความเสียหายของไก่ฟ้าหลังเทาอยู่ที่ 25,224 บาท มูลค่าความเสียหายของหมูป่าอยู่ที่ 22,500 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทางแพ่งในคดีทั้งสิ้น 12,797,724 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าเสียหายทางระบบนิเวศจากการสูญเสียสัตว์ป่าทั้ง 3 ชนิด อันหมายถึงกลไกการทำหน้าที่ของสัตว์แต่ละชนิดในระบบนิเวศ เนื่องจากยังไม่มีผลงานวิจัยทางวิชาการรองรับ จึงยังไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้"

            ข้อนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่า การคำนวณของกรมอุทยานฯ คงมีความผิดพลาด เชื่อถือไม่ได้หรือไม่ โดยมีข้อสังเกต ดังนี้:

            1. ที่ว่าเสือดำเพศเมียที่ตายมีอายุ 3-5 ปี ราคาทั่วไปอยู่ที่ 2.55 ล้านบาทนั้น ในปี 2553 มีการซื้อขายซากเสือตัวใหญ่ในราคา 0.2 ล้านบาท (https://bit.ly/2H4aEQI) ในปี 2555 มีการซื้อขายเสืออายุ 2 ปีในราคา 0.6-1.0 ล้านบาท (https://bit.ly/2H4WCOx) ในปี 2559 มีการขายเสือในราคา 0.15 ล้านบาท ถ้าเป็นเพศผู้ราคาจะสูงกว่าคือ 0.2 ล้านบาท แต่ถ้าส่งถึงต่างประเทศราคาจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า กลายเป็น 0.8 ล้านบาท (https://bit.ly/2H4uMGo) ปรากฏว่าไม่มีที่ไหนที่ราคาสูงถึง 2.55 ล้านเลย

            2. การคำนวณไปถึง 12.7 ล้านบาท โดยเทียบเคียงกับค่าเลี้ยงดูนั้น ค่าเลี้ยงดูคงไม่สูงปานนั้นอย่างแน่นอน หากค่าเลี้ยงดูสูงเช่นนั้น คงอาจมีการทุจริตในการเลี้ยงดู ซึ่งควรได้รับการตรวจสอบ เพราะต้นทุนไม่น่าจะมีโอกาสสูงกว่าราคาตลาดอยู่แล้ว

            3. ยิ่งกว่านั้นยังกรมอุทยานฯ ยังบอกว่า เสือตัวเมียสามารถออกลูกได้อีกมากนั้น เป็นการคำนวณที่ขาดฐานที่เป็นจริง เป็นเรื่องในอนาคต และลำพังเสือตัวเมียก็ไม่อาจออกลูกเองได้ และในท้องตลาดจริง เสือที่มีราคาแพงกว่าคือเสือตัวผู้ เพราะมีผู้นิยมรับประทานอวัยวะเพศของเสือ (แต่ก็เป็นความเชื่อที่ขาดฐานความจริงเช่นกัน)

            4. ยิ่งบอกว่า มีความเสียหายต่อทางระบบนิเวศจากการสูญเสียสัตว์ ก็เป็นแค่การกล่าวอ้างลอยๆ แบบขู่ส่งเดช เพราะกรมอุทยานฯ เองก็บอกชัดว่าไม่มีผลงานวิจัยทางวิชาการรองรับ

            5. ยิ่งถ้าคิดถึงค่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง เช่น กรณีการชดใช้ค่าชีวิตแก่พี่น้องคนไทยเสื้อเหลือง และเสื้อแดง คนละ 7.5 ล้านบาท หรือการชดใช้ให้กับผู้เสียหายทางภาคใต้ ซึ่งได้รับน้อยกว่านี้ ก็ยังได้รับค่าความเสียหายน้อยกว่าเสือ 1 ตัว ดังนั้นการคำนวณแบบนี้จึงใช้ไม่ได้

            การคำนวณที่ใช้ไม่ได้นี้ แสดงถึงมาตรฐานการคิดและอคติที่อาจมีปัญหาต่อการมองประเด็นมิติทางสังคมเศรษฐกิจ  การคำนวณแบบนี้อาจทำให้สังคมมองว่าเจ้าหน้าที่ในกรมอุทยานฯ นี้ เห็นค่าของสัตว์มากกว่าคนเสียอีก

            ต่อกรณีนี้ ดร.โสภณ เสนอให้ทางราชการส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์เสือเพื่อการค้า เพราะทุกวันนี้ เสือถูกล่าเพราะมีราคาสูงผิดปกติ สวนเสือที่เลี้ยงเสือนั้น ก็ต้องแจ้งต่อกรมอุทยานฯ และต้องปล่อยให้เสือชราแก่ตาย เมื่อตายก็ต้องเผาทิ้งโดยใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเสือ เพื่อขายส่งไปต่างประเทศ เสือในป่าก็คงไม่ถูกฆ่าตายหรือลักลอบล่าอย่างเช่นทุกวันนี้

            ท่านทราบไหม เสือในป่าตัวหนึ่งมีพื้นที่หากินตั้ง 100 ตารางกิโลเมตร ถ้ายกพื้นที่กรุงเทพมหานครขนาด 1,568 ตารางกิโลเมตร คงให้เสืออยู่ได้แค่ 16 ตัวเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครมีคนอยู่ถึง 6 ล้าน ประเทศไทยที่มีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร สามารถให้เสืออยู่ได้แค่ 5,132 ตัวเท่านั้น แต่คนไทยอยู่กันเกือบ 70 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่ในสหรัฐอเมริกา มีเสือเลี้ยง (ไม่ได้อยู่ในป่า) มากกว่า 5,000 ตัว เสือที่เราเห็นแข็งแรงกว่าคนเรามากมายนั้นมีอายุเพียง 16 ปีในป่า แต่ถ้าเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ (เปิด) ก็จะมีอายุได้ถึง 26-30 ปี (https://goo.gl/9ze1Nz)

            บางทีความคร่ำครึของกฎหมายและคนดูแลป่าที่คร่ำครึ อาจเป็นตัวทำลายสัตว์ป่าและชาติของเราเอง



ที่มาของรูปภาพ: https://bit.ly/2H89W4O

อ่าน 3,033 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved