หมู่บ้าน ‘ป่าแหว่ง’ จริงหรือ ทำไงดี
  AREA แถลง ฉบับที่ 222/2561: วันพุธที่ 18 เมษายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มาฟังกันให้ชัดๆ ที่มีข้อเสนอให้ทุบทิ้งบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ถูกหาว่าอยู่ในเขตป่าสงวน รุกเข้าไปในดอยสุเทพ ความจริงคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ห้ามทุบเด็ดขาด แต่ควรนำไปใช้ประโยชน์ทางอื่น

ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://bit.ly/2J791SZ

 

ดูวิดิโอ Youtube คลิกที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/Wkly4nYiHj0

 

            เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวชี้แจงว่า "ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค5 ยันบ้านพักเชิงดอยสุเทพ ไม่รุกป่าสงวน" (http://bit.ly/2FiCCr7) โดยมีรายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561คนงานก่อสร้างยังคงเดินหน้าสร้างบ้านพัก และอาคารชุด บริเวณเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ กว่า 147 ไร่ อย่างต่อเนื่องแม้จะมีกระแสการต่อต้านก็ตาม โดยมีความคืบหน้าไปกว่า ร้อยละ 80 อาคารที่ก่อสร้างประกอบด้วย ที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้บริหาร 7 หลัง รวมบ้านพัก 45 หลัง และ อาคารชุด 13 หลัง ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท รองรับการพักอาศัยของผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการได้ประมาณ 200 คน โดยระบุว่า ที่ดินผืนนี้เป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลัง อยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังมีประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 แต่ไม่ได้กระทบสิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบก ทำให้พื้นที่นี้ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ

            ต่อกรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ดินแปลงนี้ไม่ได้อยู่ในเขตป่าดังที่เข้าใจเพราะเป็นที่ราชพัสดุตามที่ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ชี้แจงไว้แล้ว โปรดดูตามแผนที่ ที่ดินแปลงนี้ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวน อย่างไรก็ตาม สภาพที่ปรากฏอาจ "ขัดสายตา" เนื่องจากที่ผ่านมาคงไมได้ใช้ประโยชน์ ต้นไม้จึงขึ้นรกชัฏเช่นเดียวกับผืนป่า

ภาพที่ 1: ที่ดินก่อนการถากถาง ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2556 (google-earth)

 

ภาพที่ 2: ที่ดินที่เริ่มมีการถากถาง ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 (google-earth)

 

ภาพที่ 3: ที่ดินตามสภาพปัจจุบัน ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 (google-earth)

 

ภาพที่ 4: การตรวจสอบที่ดินเบื้องต้นกับเว็บไซต์ของ DSI

 

ภาพที่ 5: จุดที่ตรวจสอบตำแหน่งที่ดินเบื้องต้น

            ผลการตรวจสอบเบื้องต้นกับเว็บไซต์ของ DSI (http://map.dsi.go.th) พบว่า ที่ดินแปลงนี้ไม่ได้อยู่ในแนวเขตป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ใดๆ อย่างไรก็ตามข้อมูลในรายละเอียด อาจต้องตรวจสอบกับทางกรมธนารักษ์ การตรวจสอบเบื้องต้นกับเว็บไซต์ DSI นี้ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปในการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนการซื้อขายที่ดินด้วย

            อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ การก่อสร้าง "บ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้บริหาร 7 หลัง รวมบ้านพัก 45 หลัง และ อาคารชุด 13 หลัง ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท รองรับการพักอาศัยของผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการได้ประมาณ 200 คน"  การใช้เงินถึง 1,000 ล้าน และหากที่ดินแปลงนี้ต้องซื้อหาด้วย ก็คงเป็นเงินอีก 1,000 ล้านบาทโดยประมาณการในเบื้องต้น ก็เท่ากับข้าราชการส่วนภูมิภาคของศาล 200 คน ใช้เงินเพื่อการนี้ถึงคนละ 10 ล้านบาท

            ผลประโยชน์ที่ข้าราชการส่วนภูมิภาคได้รับถึง 10 ล้านบาทต่อคนนี้ นับว่าสูงมาก ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ณ ดอกเบี้ย 3.5% ก็เป็นเงินถึงเดือนละเกือบ 30,000 บาท  การนำเงินไปให้เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคเป็นค่าบ้านอีกเดือนละเท่านี้นับว่าสูงกว่าเงินเดือนหรือ เป็นการใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่าหรือไม่ นี่ยังไม่รวมค่าดูแลอีกต่างหาก การสร้างด้วยเงินมากมายเพียงนี้สำหรับข้าราชการส่วนภูมิภาคอาจเป็นประเด็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ  สำหรับส่วนราชการอื่น จึงควรที่จะให้รับข้าราชการในท้องถิ่น เพื่อไม่ต้องจัดหาบ้านพักให้ ดร.โสภณ เคยเสนอให้เลิกราชการส่วนภูมิภาค (http://bit.ly/2b53LRC) โดยระบุว่า

            ราชการส่วนภูมิภาค หรือก็คือแขนขาของราชการส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำตามท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น มีกำลังคนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 360,928 คน ตามข้อมูลคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2557 หรือ 17% ของข้าราชการทั้งหมด แต่ราชการส่วนท้องถิ่น มีกำลังคนเพียง 22% เท่านั้น ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในจังหวัดภูมิภาคหรือในชนบท กลับมีข้าราชการไป "รับใช้ประชาชน" น้อยมาก  ที่น่าสังเกตก็คือราชการส่วนกลาง ที่กระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครมีข้าราชการรวมกันถึง 1,267,609 คนหรือราว 61% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงองคาพยพที่ใหญ่โตมากของระบบราชการที่อาจมีกำลังคนเกินความจำเป็น (นอกจากนั้นข้อมูลข้างต้นยังรวมเฉพาะในส่วนของกำลังคนในฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ยังไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนข้าราชการทหารที่มีอีก)

            ข้อมูลล่าสุดระบุว่า จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน (ณ ปี 2558) ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล. . .เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย รองจากบาร์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%) (http://bit.ly/1zgXzfh)

            ในอดีตประเทศไทยมีแต่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจดทะเบียนต่างๆ ก็ต้องไปติดต่อที่อำเภอ หรือจังหวัด แต่ในปัจจุบันเรามีราชการส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าบทบาทของอำเภอหรือจังหวัดมีน้อยลงมาก ยกเว้นอำนาจจากส่วนกลางที่พยายามจะรักษาไว้เพื่อการควบคุมส่วนท้องถิ่น อันที่จริงควรมีการเลือกตั้งนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการกระจายอำนาจ นี่จึงเป็นการปฏิรูประบบราชการที่แท้ และให้อำนาจตกเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ดูจากแนวโน้มประเทศไทยเราคงเดินไปในแนวทางที่จะให้อำนาจข้าราชการประจำมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมท้องถิ่นให้มีอำนาจจริง

            ในการส่งเสริมส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถดำเนินการได้โดยให้อำนาจส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา การดูแลความปลอดภัย การปกครองโดยตรง โดยมีข้าราชการเป็นของตนเอง ไม่สังกัดส่วนกลาง ไทยก็จะมีองคาพยพของระบบราชการที่ไม่อุ้ยอ้าย ไม่มีกระทรวงศึกษาธิการที่ "เทอะทะ" ตัดวงจรเส้นสายต่าง ๆ ไป  ยิ่งกว่านั้นยังควรให้ท้องถิ่นสามารถแต่งตั้งหรือสรรหา "City Manager" (ผู้จัดการเมือง) "City Appraiser" (ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน) หรือผู้บริหารการศึกษา ผู้จัดการฝ่ายโยธา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา โดยมีข้าราชการประจำคอยปฏิบัติตามนโยบาย ไม่ใช่ให้ข้าราชการประจำที่ควรรับใช้ประชาชนกลับมา "ขี่คอ" และไม่ต้องจัดหาบ้านพักให้อีกด้วย

            สำหรับผู้พิพากษานั้น (กรณีฟลอริดา: http://bit.ly/2c8Dksc) ในกรณีที่ไม่ใช่ศาลปกครอง แต่เป็นศาลแพ่ง ศาลอาญาผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบกฎหมายเสียด้วย (แต่ผู้สมัครทุกคนก็จบกฎหมาย) ทั้งนี้ยกเว้นศาลปกครอง ซึ่งพิจารณาคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ก็จะมาจากการแต่งตั้ง โดยอำนาจของประธานาธิบดี การมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ดีกว่าผู้พิพากษาจากส่วนกลางที่ไม่ยึดโยงประชาชนและไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง การเลือกตั้งผู้พิพากษาจึงเหมือนการให้อำนาจ เคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่น ผู้นำ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่สำคัญไม่ต้องจัดหาบ้านพักให้ข้าราชการกลุ่มนี้

            อาจต้องทบทวนนโยบายการสร้างบ้านให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคได้แล้ว ควรนำบ้านเหล่านี้ไปให้เอกชนเช่าหรือทำประโยชน์ นำเงินเข้าหลวง เอาเงินให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคไปเช่าบ้านในตลาดเอกชน ยังคุ้มกว่าจะสร้างบ้านแบบนี้ให้ แถมต่อไปยังต้องเสียค่าดูแลอีกมหาศาล และต่อไปควรยุบราชการส่วนภูมิภาค และรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีบ้านอยู่ใกล้เคียง ไม่ควรเสียค่าก่อสร้างบ้านมหาศาลเช่านี้ ยิ่งกว่านั้นหากสังเกตให้ดี อาคารส่วนราชการใหม่ๆ มีความสวยอลังการกว่าตึกธนาคารชั้นนำเสียอีก  ไทยไม่ควรเสียเงินปรนเปรอแก่ข้าราชการขนาดนี้เลย

            ทบทวนใหม่ให้ดี อย่าให้เสียของ และอย่าได้คิดโอเวอร์กับเรื่องป่าไม้จนเกินงาม

อ่าน 3,862 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved