AREA แถลง ฉบับที่ 77/2554: 12 กันยายน 2554
การผังเมืองในกรุงปารีส
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เอาเยี่ยงกา แต่ไม่ใช่เอาอย่างกา ปารีสก็กำลังจะสร้างความหนาแน่นแต่ไมใช่แออัด ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ไม่ควรเน้นแนวราบ
ในระหว่างวันที่ 9-17 กันยายน 2554 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธาน มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้พาคณะผู้สนใจด้านอสังหาริมทรัพย์ไปดูงานอสังหาริมทรัพย์ ณ กรุงปารีส เมืองกอลมา ประเทศฝรั่งเศส และนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่นี้จึงสรุปสาระเกี่ยวกับผังเมืองปารีสมาให้เปรียบเทียบกับกรณีประเทศไทย
ปารีสมีขนาดเพียง 105 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 2.2 ล้านคน หรือประมาณ 22,000 คนต่อตารางกิโลเมตร หรือมากกว่ากรุงเทพมหานครที่มีประชากร 3,800 คนต่อตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตามมหานครปารีส ซึ่งรวมเทศบาลกรุงปารีสและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นโดยรอบแล้ว มีขนาด 12,072 ตารางกิโลเมตร มีประชากรถึง 12 ล้านคน แต่มีความหนาแน่นน้อยกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก (1,000 คนต่อ ตารางกิโลเมตร)
จะสังเกตได้ว่าผังเมืองปารีสนี้วางผังได้ดี โดยเลียนแบบมาจากอังกฤษหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.2396-2413 โดยการตัดถนนสายตรงๆ ใหญ่ ๆ เพิ่ม ขยายถนน สร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม และจำกัดความสูงโดยปรับความสูงมาเรื่อยจาก 16 เมตร 20 เมตรและจนปัจจุบันไม่เกิน 37 เมตร วัตถุประสงค์ของผังเมืองก็คือ การพัฒนาเมืองให้เหมาะแก่การอยู่อาศัย การเรียกร้องของชนชั้นกลางในยุค 100 ปีก่อน และการวางยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อที่กองทหารจะเข้ามาในกรุงได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
การวางผังเมืองใหม่ พร้อมกับสร้างที่อยู่อาศัยสองข้างถนนยังเป็นการคืนกำไร คือทำให้การสร้างถนนใช้เงินแต่น้อย โดยเอา 2 ข้างทางที่เวนคืนมา ทำการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ โดยการเวนคืนดำเนินการอย่างขนานใหญ่เป็นเวลากว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อำนวยสินเชื่อให้กับการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในเมือง
นอกจากนี้การเวนคืนที่ดินยังใช้เพื่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง นอกเหนือจากการตัดหรือขยายถนน ทำให้เมืองมีสภาพที่น่าอยู่อาศัย จะสังเกตได้ว่าใจกลางกรุงปารีสมีการเวนคืนก่อสร้างสะพานมากถึง 24 สะพานในระยะทาง 14.3 กิโลเมตรของแม่น้ำแซน หรือมีสะพานทุกระยะ 600 เมตรโดยเฉลี่ย ในขณะที่ใจกลางกรุงโซลมีสะพานทุกระยะ 1.16 กิโลเมตร ส่วนใจกลางกรุงเทพมหานคร จากสะพานพระราม 6 - สะพานภูมิพล 1 ระยะทาง 23 กิโลเมตรมีสะพานเพียง 12 สะพานหรือ 1.9 กิโมเมตรต่อหนึ่งสะพาน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของความเจริญในฝั่งธนบุรี กับฝั่งกรุงเทพมหานคร ทำให้เสียโอกาสการพัฒนาฝั่งกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ใกล้ใจกลางเมือง
อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะไม่มีตึกสูงในนครปารีส เพียงแต่ในเขตเมืองเก่าพื้นที่เล็ก ๆ ประมาณ 105 ตารางกิโลเมตรเท่านั้นที่จำกัดไว้ แต่นอกเมืองออกไปยังมีอาคารสูงใหญ่หลายแห่งโดยอาคารสูงสุดสูงถึง 59 ชั้นชื่อ Tour Maine Montparnasse นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างตึกสูงประมาณ 90 ชั้นอีกต่างหาก
แม้อาคารส่วนใหญ่ใจกลางกรุงปารีสจะสูงเพียง 37 เมตร แต่หากพิจารณาจากพื้นที่ก่อสร้าง ยังมีความหนาแน่นกว่ากรุงเทพมหานครมาก การที่กรุงปารีสมีการดูแลเรื่องความสูงมาก เพราะมีสถานที่สำคัญมากมาย แต่กรุงเทพมหานครมีจำกัดกว่า การเลียนแบบการจำกัดความสูงจึงควรได้รับการทบทวน ยิ่งกว่านั้นขณะนี้ในกรุงปารีส กำลังจะมีการพิจารณาอนุญาตให้ขึ้นตึกสูงให้มากขึ้นเพื่อสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |