ในประเทศไทยของเรา มีกรณีศึกษามีลักษณะดรามาจนทำให้ดูคล้ายประเทศนี้เป็น "ตอแหลแลนด์" หรือ "กะลาแลนด์" เพราะไม่ได้พูดกันด้วยเหตุผล แต่กลับใช้อำนาจ ใช้พวกมากลากไปอย่างไรเหตุผลสิ้นดี
อย่างกรณีของการฟื้นฟูป่า "หมู่บ้านป่าแหว่ง" ปรากฏว่าในพื้นที่ 147 ไร่นี้ ถ้าใช้ราคาของเขื่อนแม่วง ก็เป็นเงินไม่ถึง 90,000 บาทต่อไร่ แต่หากเป็นราคาปัจจุบันอาจกลายเป็น 150,000 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงินประมาณ 22 ล้านบาท แต่ที่ดินที่ใช้ก่อสร้าง "หมู่บ้านป่าแหว่ง" ที่เสียค่าก่อสร้าง 1,000 บาทนี้ น่าจะมีมูลค่าเป็น 2 เท่าของค่าก่อสร้างหรือ 2,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาป่าเกือบ 100 เท่าตัว
กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า การนำพื้นที่หมู่บ้านนี้ไปฟื้นฟูเป็นป่าคงเป็นความคิดที่ "เหลวไหลสิ้นดี" เพราะไม่คุ้มค่า นี่ยังไม่รวมค่ารื้อถอนและค่า "สร้าง" ป่าขึ้นมาอีกนับเป็นเงินอีกนับสิบหรือนับร้อยล้าน การรื้อถอนจึงเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า กรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เสนอไว้ว่า ควรให้ออกประมูลให้เอกชนมาทำประโยชน์ ทรัพย์มูลค่าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทนี้ หากนำไปหารายได้ได้ปีละ 3.5% ตามดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ก็ได้เงินปีละ 70-100 ล้านบาท นำเงินนี้ไปจ้างอาสาสมัครตรวจจับการบุกรุกทำลายป่าที่เกิดขึ้นปีละ 1,000,000 ไร่ ก็จะได้ผลดีกว่าการรื้ออาคารและปลูกป่าใหม่บนพื้นที่ 147 ไร่นี้เป็นไหนๆ (https://bit.ly/2qSPFcK)
กรณีศึกษา "หมู่บ้านป่าแหว่ง" เกิดขึ้นเพราะเราทำให้ข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีมากเกินไป ราชการส่วนภูมิภาค หรือก็คือแขนขาของราชการส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำตามท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น มีกำลังคนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 360,928 คน ตามข้อมูลคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2557 หรือ 17% ของข้าราชการทั้งหมด แต่ราชการส่วนท้องถิ่น มีกำลังคนเพียง 22% เท่านั้น ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในจังหวัดภูมิภาคหรือในชนบท กลับมีข้าราชการไป "รับใช้ประชาชน" น้อยมาก
ที่น่าสังเกตก็คือราชการส่วนกลาง ที่กระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครมีข้าราชการรวมกันถึง 1,267,609 คนหรือราว 61% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงองคาพยพที่ใหญ่โตมากของระบบราชการที่อาจมีกำลังคนเกินความจำเป็น (นอกจากนั้นข้อมูลข้างต้นยังรวมเฉพาะในส่วนของกำลังคนในฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ยังไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนข้าราชการทหารที่มีอีก) นายพลไทยก็มีมากกว่านายพลสหรัฐอเมริกา ทั้งที่สหรัฐมีขนาดประชากรมากว่าไทยราว 4 เท่า
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน (ณ ปี 2558) ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล. . .เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย รองจากบาร์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%) (http://bit.ly/1zgXzfh)
ตามแผนภูมิที่แนบชี้ให้เห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นมีขนาดประชากรใหญ่กว่าไทย 2 เท่า แต่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ไทยกลับมีส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นหลัก ทำให้ไทยต้องสร้างบ้านพักข้าราชการ สร้างศูนย์ราชการต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา สำนักงานของราชการระดับกรมหรือกระทรวงหลายแห่ง มีความวิริสมาหรามากว่าสำนักงานใหญ่ของธนาคารเสียอีก อย่างนี้สิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก
สำหรับผู้พิพากษานั้น (กรณีฟลอริดา: http://bit.ly/2c8Dksc) ในกรณีที่ไม่ใช่ศาลปกครอง แต่เป็นศาลแพ่ง ศาลอาญาผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบกฎหมายเสียด้วย (แต่ผู้สมัครทุกคนก็จบกฎหมาย) ทั้งนี้ยกเว้นศาลปกครอง ซึ่งพิจารณาคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ก็จะมาจากการแต่งตั้ง โดยอำนาจของประธานาธิบดี การมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ดีกว่าผู้พิพากษาจากส่วนกลางที่ไม่ยึดโยงประชาชนและไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง การเลือกตั้งผู้พิพากษาจึงเหมือนการให้อำนาจ เคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่น ผู้นำ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่สำคัญไม่ต้องจัดหาบ้านพักให้ข้าราชการกลุ่มนี้
อาจต้องทบทวนนโยบายการสร้างบ้านให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคได้แล้ว ควรนำบ้านเหล่านี้ไปให้เอกชนเช่าหรือทำประโยชน์ นำเงินเข้าหลวง เอาเงินให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคไปเช่าบ้านในตลาดเอกชน ยังคุ้มกว่าจะสร้างบ้านแบบนี้ให้ แถมต่อไปยังต้องเสียค่าดูแลอีกมหาศาล และต่อไปควรยุบราชการส่วนภูมิภาค และรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีบ้านอยู่ใกล้เคียง ไม่ควรเสียค่าก่อสร้างบ้านมหาศาลเช่านี้ ยิ่งกว่านั้นหากสังเกตให้ดี อาคารส่วนราชการใหม่ๆ มีความสวยอลังการกว่าตึกธนาคารชั้นนำเสียอีก ไทยไม่ควรเสียเงินปรนเปรอแก่ข้าราชการขนาดนี้เลย
ทางออกที่ควรจะเป็นจีงเป็นการลดข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้เหลือแต่น้อย ให้อำนาจประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ข้าราชการที่ไม่พร้อมจะทำงานก็ควรที่จะลาออกไป