วันนี้มีข่าวเท็จในหน้าหนังสือพิมพ์อีกแล้วว่าจำนวนที่อยู่อาศัยที่ยังเหลือขายมีอยู่แค่ 142,000 หน่วย นัยว่าเศรษฐกิจคงดี จึงเหลือขายน้อย แท้จริงแล้วคลาดเคลื่อนไป 34% เลยทีเดียว ใครเชื่อไม่ใช่ออกลูกเป็นลิงนะ แต่จะเจ๊งต่างหาก
การเปรียบเทียบตัวเลขจริงกับตัวเลขเท็จเรื่องภาวะตลาดที่อยู่อาศัย | |||||
ห้วงเวลา | แหล่งข่าว | หน่วยเหลือขาย | |||
จำนวน | ล้านบาท | ||||
ตัวเลข | % | ตัวเลข | % | ||
ณ ไตรมาสที่ 4/2560 | จากข่าว นสพ. | 142,000 | 0% | 549,000 | 0% |
จากศูนย์ข้อมูล AREA | 195,227 | 37% | 779,478 | 42% | |
ณ ไตรมาสที่ 1/2561 | จากศูนย์ข้อมูล AREA | 189,574 | 34% | 777,657 | 42% |
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) |
ตามที่มีข่าวคราวเผยแพร่ผ่านสื่อว่า ขณะนี้มีหน่วยขายรอขายอยู่ทั้งหมด 142,000 หน่วย รวมมูลค่า 549,000 ล้านบาท ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง มีลักษณะเป็นเท็จ ทำให้เกิดความไขว้เขวว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งความเข้าใจผิดนี้ จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนผิดได้
ดร.โสภณ กล่าวว่าสังคมอย่าได้ไปหลงเชื่อข่าวเท็จที่ว่าที่อยู่อาศัยใน กทม.และปริมณฑลเหลือขาย 142,000 หน่วย ณ สิ้นปี 2560 แต่ในความเป็นจริง ณ ห้วงเวลาดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่ามีหน่วยเหลือขาย เหลืออยู่ถึง 195,227 หน่วย ซึ่งมากกว่าตัวเลขตามแหล่งข้าวดังกล่าว ถึง 37% อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้สำรวจข้อมูลล้ำหน้าไปถึงไตรมาสที่ 1/2561 แล้ว ปรากฏว่าจำนวนหน่วยที่เหลือขายลดลงเหลือ 189,574 หน่วย แต่ก็ยังมากกว่าตัวเลขที่มีหน่วยงานแห่งหนึ่งรายงานไว้ถึง 34%
ในแง่ของมูลค่าของหน่วยที่ยังเหลือขายอยู่นั้น หน่วยงานดังกล่าวรายงานว่ามีมูลค่า 549,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 แต่ในความเป็นจริงเหลืออยู่ถึง 779,478 ล้านบาท ในห้วงเวลาดังกล่าว หรือเหลือสูงกว่ามีการประมาณการถึงประมาณ อย่างไรก็ตาม ณ ไตรมาสที่ 1/2561 ปรากฏว่ามูลค่าของหน่วยขายที่เหลือ ลดลงเล็กน้อยคือ เหลือ 777,657 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าตัวเลขคลาดเคลื่อนอยู่ถึง 42% หรือเกือครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
การนำเสนอตัวเลขให้แลดูต่ำๆ จะได้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังไปได้ด้วยดี ทั้งที่ในความเป็นจริงกำลังย่ำแย่นั้น เป็นการบิดเบือนความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง สื่อต่างๆ จึงควรมีความระมัดระว้งในการนำเสนอข่าว เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการมอมเมาประชาชนด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ หากนักลงทุนแห่ไปลงทุนโดยไม่รู้ข้อมูลจริง ก็อาจทำให้เจ๊งตามๆ กันไป อันจะยิ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจตกหนักลงไปอีกได้
ยิ่งกว่านั้นก่อนหน้านี้ก็มีการแพร่ข่าวเท็จว่าตลาดที่อยู่อาศัยส่งสัญญาณดีขึ้น โดยให้เหตุผลว่าอุปทานในไตรมาสของปี 2561ในแง่จำนวนโครงการ จำนวนหน่วย และมูลค่าการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าตัวเลขของไตรมาสแรกปี 2560 ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นเท็จ เพราะในความเป็นจริงจำนวนโครงการ และจำนวนหน่วยที่เปิดในปี 2560 มีมากกว่าปี 2561 ถึง 13-14%
การที่หน่วยงานดังกล่าววิเคราะห์ผิดพลาดก็เป็นเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงเข้าใจว่าการเปิดตัวโครงการในปีที่แล้วมีจำนวนน้อยกว่า อย่างไรก็ตามมูลค่าการพัฒนาในไตรมาสแรกของปีนี้มีมากกว่าปีที่แล้วจริง ทั้งนี้เป็นเพราะโครงการต่าง ๆ เน้นเปิดที่อยู่อาศัยในระดับราคาสูง ส่วนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนระดับปานกลางและล่างเปิดน้อยกว่าเดิมมาก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อจึงตกต่ำ การหลงเชื่อข้อมูลที่ผิดอาจนำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาด ดร.โสภณจึงออกมาเตือนดังกล่าว
สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย กทม.และปริมณฑล | |||
รายการ | ไตรมาส 1/2561 | ||
2560 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | |
จำนวนโครงการ | 112 | 96 | -14% |
จำนวนหน่วย | 28,924 | 25,026 | -13% |
มูลค่า | 95,390 | 103,443 | 8% |
ราคาเฉลี่ย | 3.298 | 4.133 | 25% |
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย | |||
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) |
ยิ่งกว่านั้นจากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ฯ ยังพบว่า ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2561 ปรากฏว่ามีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 109 แห่ง รวม 26,590 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 108,280 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 4.072 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากนำตัวเลขนี้ไปคูณด้วย 12 และหารด้วย 4 และบวกเพิ่มอีก 20% เพื่อให้ได้ตัวเลขประมาณการโดยรวมของทั้งปีโดยเกลี่ยกับการผกผันตามฤดูกาล แล้วนำผลนี้ไปเทียบกับปีที่แล้ว จะพบว่า ปีนี้น่าจะมีโครงการเปิดใหม่ 392 โครงการ 95,724 หน่วย รวมมูลค่า 389,808 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2560 จะพบว่า
จำนวนโครงการลดลง 4%
จำนวนหน่วยขายลดลง -16%
มูลค่าการเปิดตัวใหม่ ลดลง -12%
ราคาเพิ่มขึ้น 6%
การนี้ชี้ว่าภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังหดตัวลง เพราะกำลังซื้อลดลงตามลำดับ การพัฒนาที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลมากเป็นพิเศษ นักลงทุน นักพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงินและประชาชนผู้ซื้อบ้าน ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ อย่าเชื่อแต่ข่าวในสื่อต่างๆ