ยุทธศาสตร์ คสช.คือการทำให้คนไทยจนลง?
  AREA แถลง ฉบับที่ 299/2561: วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในขณะที่เราเห็นรัฐบาลคล้ายกับขมีขมันในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ แต่เศรษฐกิจของชาติก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น ยกเว้นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดูขัดกับความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง แล้วอย่างนี้ เลยทำให้คิดได้ว่า รัฐบาล คสช. กำลังพยายามทำให้ไทยจนลงหรือเปล่า เพราะถ้ายิ่งจน ก็ต้องยิ่งพึ่งพิงรัฐบาล ไม่กล้าออกมาเรียกร้องอะไรมากนัก หรือไม่ก็ไม่มีเวลาเรียกร้องแล้ว ประชาชนมัวแต่ "ปากกัดตีนถีบ" อยู่

            เมื่อเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรีออกมาโวว่าตัวเลข GDP ขยายตัวเป็น 4.8% (https://bit.ly/2IXvXEj) นั้นเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะมาจากการลงทุนของรัฐด้านสาธารณูปโภคเป็นหลัก อีกด้านหนึ่งอัตราการเติบโตของ GDP ไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ดีกว่าเฉพาะสิงคโปร์และบรูไนที่เป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวรวยกว่าไทยถึง 5-7 เท่า ตัวเลขของ ตัวเลข 4.8% นั้น "จิ๊บจ๊อย" เมื่อเทียบกับสมัยยิ่งลักษณ์ที่ GDP เติบโตจาก 0.8% ในปี 2554 เป็น 7.2% ในปีถัดมา

            ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาประชาชนผิดหวังที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ (https://bit.ly/2kf7S14) สิ่งบั่นทอนทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ยาบ้าก็ไม่ได้ปราบ ปล่อยให้หวยใต้ดินครองเมืองโดยไม่ยอมทำหวยบนดิน ให้ประชาชนอีก 4 แสนคนมีงานทำ (https://bit.ly/2HqV2H2) ที่โฆษณาว่าช่วยชาวบ้านเช่นแจกบัตรคนจน-คนชรา ก็ได้เงินกันเฉลี่ยคนละ 500 บาท ถ้าแจกสัก 12 ล้านคน ก็เป็นเงินแค่ 6,000 ล้านบาท ไม่พอซื้อเรือดำน้ำสักครึ่งลำด้วยซ้ำไป กองทุนหมู่บ้านก็เอาไปสร้างถนน เงินก็จม ไม่เกิดโภคผลต่อการหมุนเวียนต่างจากยุคทักษิณที่ให้เบ็ด ไม่ได้ให้ปลาแบบนี้

            ที่ผ่านมาไทยเอาแต่บำรุงเลี้ยงข้าราชการ

            1. ราชการส่วนภูมิภาค หรือก็คือแขนขาของราชการส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำตามท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น มีกำลังคนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 360,928 คน ตามข้อมูลคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นข้อมูลเผยแพร่ล่าสุด ข้าราชการส่วนภูมิภาคจำนวนนี้มีสัดส่วนถึง 17% ของข้าราชการทั้งหมด

            2. แต่ราชการส่วนท้องถิ่น มีกำลังคนเพียง 22% เท่านั้น ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในจังหวัดภูมิภาคหรือในชนบท กลับมีข้าราชการไป "รับใช้ประชาชน" น้อยมาก

            3. ที่น่าสังเกตก็คือราชการส่วนกลาง ที่กระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครมีข้าราชการรวมกันถึง 1,267,609 คนหรือราว 61% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงองคาพยพที่ใหญ่โตมากของระบบราชการที่อาจมีกำลังคนเกินความจำเป็น (นอกจากนั้นข้อมูลข้างต้นยังรวมเฉพาะในส่วนของกำลังคนในฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ยังไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนข้าราชการทหารที่มีอีก)

            ข้อมูลล่าสุดระบุว่า จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน (ณ ปี 2558) ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล. . .เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย รองจากบาร์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%) (http://bit.ly/1zgXzfh)

          ในอดีตประเทศไทยมีแต่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจดทะเบียนต่างๆ ก็ต้องไปติดต่อที่อำเภอ หรือจังหวัด แต่ในปัจจุบันเรามีราชการส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าบทบาทของอำเภอหรือจังหวัดมีน้อยลงมาก ยกเว้นอำนาจจากส่วนกลางที่พยายามจะรักษาไว้เพื่อการควบคุมส่วนท้องถิ่น อันที่จริงควรมีการเลือกตั้งนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการกระจายอำนาจ นี่จึงเป็นการปฏิรูประบบราชการที่แท้ และให้อำนาจตกเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ดูจากแนวโน้มประเทศไทยเราคงเดินไปในแนวทางที่จะให้อำนาจข้าราชการประจำมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมท้องถิ่นให้มีอำนาจจริง

            นี่คือสาเหตุที่ไทยเรามีการสร้าง "ศูนย์ราชการ" ใหม่ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากมายแทบทุกจังหวัด ที่ทำการศาลใหม่ๆ แต่สังเกตดูในลอนดอน ปารีส โรม ที่มีความเป็นเมืองมานับพันๆ ปี ไม่เคยต้องไปสร้างศูนย์ราชการใหม่  ทุกอย่างยังอยู่ใจกลางเมือง ทั้งนี้เพราะเขาทำระบบราชการให้มีขนาดเล็ก ไม่อุ้ยอ้ายเช่นกรณีประเทศไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีนายพลมากกว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาอันเกรียงไกรที่มีจำนวนประชากรมากกว่าเรา 5 เท่าเสียอีก (https://bit.ly/2xsMbnO) หรือการสร้างบ้านพักศาลก็ใช้เงินถึง 1,000 ล้านบาทสำหรับ 200 คนเท่านั้น (https://bit.ly/2qSPFcK)

            ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า "ในช่วงครึ่งปี (2561) หลังอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น . . . การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ . . . กลุ่มคนเพียง 6 ตระกูลถือครองความมั่งคั่งเท่ากับคนเกือบ 50 ล้านคนและครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งระบบ . . . ผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นจะไปกระจุกตัวอยู่ในมือของเจ้าของทุน คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น คนจนจะไม่ดีขึ้นนัก แต่คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นคนยากจน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโดยทั่วไป. . ." (https://bit.ly/2H321F1)

            ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช. คือ

            1. ให้ลาภแก่ข้าราชการและนายทุนใหญ่ให้รวยและสบายขึ้น

            2. ต่อประชาชนทั่วไป ปล่อยให้จนลงไปเรื่อยๆ จะได้ขาดอิสรภาพทางการเงิน และขึ้นต่อเงินช่วยเหลือของรัฐบาล

            3. โปรแกรมการช่วยเหลือต่างๆ ที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ ล้วนใช้เงินน้อยนิด ไม่ได้มีโภคผลที่ดีต่อประชาชนนัก เช่น การช่วยคนชรา คนจนที่จ่ายคนละ 300-1,000 บาท แม้จะจ่ายถึง 15 ล้านคน ก็เป็นเงินน้อยนิดเมื่อเทียบกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มต่างๆ หรือการจัดซื้ออาวุธ

            4. ภัยร้ายต่อเศรษฐกิจ เช่น ยาบ้า หวยใต้ดิน ล็อตเตอรี่แพง ก็ไม่ได้ปราบ หรือปราบแต่ไม่ได้ผล เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจมีอิทธิพลทางการเมือง

            5. โครงการกองทุนระดับหมู่บ้านก็เป็นการ "ให้ปลา" มากกว่า "ให้เบ็ด" ทำให้ไม่อาจต่อยอดได้เท่าที่ควร

            ยุทธศาสตร์แบบนี้ต่อไปจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำอย่างไม่ต้องสงสัย ประเทศก็จะขาดความมั่นคง ไม่เป็นปึกแผ่น ยิ่งแบ่งแยก ยิ่งปกครองง่าย

อ่าน 6,355 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved