มีคำถามว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นกู-มึงกับผู้ใต้บังคับบัญชา ถือว่าปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเหมาะสมหรือไม่
สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ ไปดูการปฏิบัติการช่วยเหลือคณะทีมฟุตบอลที่ติดถ้ำ และได้เอ่ยทักผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยคำว่า "กู-มึง" พฤติกรรมแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ขอให้ความเห็นส่วนตัวในการนี้
ปกติการ "ขึ้นกู-มึง" กับผู้ใช้บังคับบัญชา อาจถือเป็นศิลปะในการบังคับบัญชา และเป็นสิ่งที่ทหารและตำรวจดำเนินการอยู่แล้วตามปกติ แม้ในความเป็นจริง ไม่ควรพูดเช่นนี้ก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยมีคำสรรพนามบุรุษที่ 1, 2 และ 3 แตกต่างออกไปตามอารมณ์ ซึ่งต่างจากภาษาอังกฤษที่มีเพียงคำเดียว เช่น สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ I สรรพนามบุรุษที่ 2 คือ You และสรรพนามบุรุษที่ 3 คือ He, She และ They นั่นเอง ซึ่งแยกตามเพศและกลุ่ม
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติจนเป็นปกติ (แต่ไม่ใช่ปกติสุข) ในหมู่ข้าราชการหลายภาคส่วน เป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ การอ้างว่าหากไม่กล่าวคำเช่นนี้ จะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะหากมีความกระด้างกระเดื่องก็สามารถลงโทษได้ตามกฎหมาย หรือในอีกแง่หนึ่งอาจอ้างว่าจะได้เกิดความสนิทสนมกัน แต่เราก็สามารถสร้างความสนิทสนมจากความจริงใจ ไม่ใช่จากการเหยียดยามกันด้วยคำพูดเช่นนี้
สำหร้บ ดร.โสภณ เองก็เคยกล่าวคำบริภาษกับการทำงานที่ผิดพลาดของเพื่อนร่วมงานเช่นกัน ซึ่งเมื่อ "ได้สติ" ก็ได้ขออภัยเพื่อนร่วมงานเช่นกัน แต่จะไม่กล่าวคำบริภาษเหล่านี้ต่อผู้สื่อข่าว ไม่ได้บริภาษต่อหน้าแขกเหรื่อธารกำนัลเพื่อแสดงอำนาจหรือเหยียดหยามเพื่อนร่วมงาน แต่ปกติ ดร.โสภณ จะปฏิบัติด้วยความเคารพต่อเพื่อนร่วมงานในฐานะที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกันแม้จะมีสถานะเป็นลูกจ้างและนายจ้างก็ตาม
ในแทบทุกวันที่อยู่ประจำสำนักงาน ดร.โสภณ จะเดินไปทักทายให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานตามโอกาสอำนวย ณ ที่โต๊ะทำงานของแต่ละคน โดยไม่ต้องให้เพื่อนร่วมงานเดินไปหา ในโอกาสประชุมต่าง ๆ ก็อาจประชุมรอบโต๊ะทำงานของเพื่อนร่วมงานโดยไม่ต้องยกขบวนมาประชุมที่โต๊ะของ ดร.โสภณ หรือในห้องประชุม และยิ่งเมื่อถึงโอกาสวันคล้ายวันเกิด ก็จะ "ตบเท้า" พาคณะเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เดินไปอวยพรแก่เพื่อนร่วมงานแต่ละคนถึงโต๊ะทำงานเป็นประจำ การปฏิบัติเช่นนี้ก็มุ่งที่จะซื้อใจเพื่อนร่วมงานให้มีความสบายใจในการทำงานร่วมกัน เนื่องจากในภาคธุรกิจ ต้นทุนในการหาเพื่อนร่วมงานใหม่ค่อนข้างสูง การรักษาเพื่อนร่วมงานไว้ จึงมีความสำคัญมากกว่า
ต่อกรณีนี้ ในยุคปฏิรูปทางการเมือง ดร.โสภณ จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 สั่งให้มีการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 2 และ 3 เพียงคำเดียวแต่แยกเพศ เช่น
สรรพนามบุรุษที่ 1: ผม/ดิฉัน
สรรพนามบุรุษที่ 2: คุณ
สรรพนามบุรุษที่ 3: เขา
ยกเว้นกรณีญาติพี่น้อง อาจมีคำแสดงความเป็นญาติเช่น พี่ น้อง ป้า น้า อา ฯลฯ ทั้งนี้ควรห้ามใช้คำหยาบหรือคำเหยียดหยาม เช่น กู มึง มัน ไอ้ อี ฯลฯ หรือคำยกยอปอปั้น เช่น ท่าน เป็นต้น ถ้ามีการพูดในที่สาธารณะและมีพยานหลักฐานพบเห็น ให้มีโทษปรับ 2,000 บาท ถ้ารัฐบาลมุ่งปฏิรูปวัฒนธรรมจริงจังต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสามารถลบคำเหยียดเพศ เหยียดสถานะ เหยียดหยามต่างๆ ได้ในสังคมไทยในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันในหมู่ชน
การรณรงค์เช่นนี้น่าจะประสบความสำเร็จหากไม่ใช่การกระทำแบบไฟไหม้ฟาง เช่น ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็สามารถรณรงค์ให้คนเลิกกินหมากจนสำเร็จ เราไปเมียนมา ยังพบคนกินหมากมากมาย ในแง่หนึ่งก็รักษาวัฒนธรรมเก่าดี แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ดูไม่ดีเช่นกัน แต่เราก็ทำได้มาแล้ว อยู่ที่ความจริงจังที่จะพัฒนาสังคมให้รุดหน้าไปเพื่อคนรุ่นหลังหรือไม่นั่นเอง
การแสดงความเคารพของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อแสดงความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ