ภาษีลาภลอย: รายละเอียดที่คุณอาจไม่รู้
  AREA แถลง ฉบับที่ 345/2561: วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ที่รัฐบาลออกร่าง พรบ.ภาษีลาภลอยนั้น ข่าวในหนังสือพิมพ์มีแค่กระจึ๋งนึง ผู้คนแทบไม่รู้ว่ามีสาระสำคัญในรายละเอียดอะไรบ้าง ผู้มีทรัพย์ไม่ควรพลาดเด็ดขาด

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มานำเสนอร่าง พรบ.ภาษีลาภลอยซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า "(ร่าง) พระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... (Windfall Tax)" โดยสรุปให้เห็นสาระสำคัญตามร่าง

            ในเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นนั้น (https://bit.ly/2JpXwpi) ระบุสาระสำคัญของภาษีนี้ไว้ดังนี้:

            ข้อ 1. ผู้เสียภาษี ได้แก่

            1.1 บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็น

            1.1.1 เจ้าของที่ดิน

            1.1.2 ครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

            1.1.3 เป็นเจ้าของห้องชุด

            1.2 บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็น

            1.2.1 เจ้าของที่ดิน

            1.2.2 ครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

            1.2.3 ครอบครองห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท

            1.3 ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย

            โดยทั้งหมดนี้อยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ

            ข้อ 2. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

            ข้อ 3. การจัดเก็บภาษีใน 2 กรณีดังนี้

            3.1 การจัดเก็บในระหว่างการดำเนินโครงการฯ จะจัดเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด

            3.2 การจัดเก็บเมื่อการดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม) และเก็บจากห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ เพียงครั้งเดียว

            ข้อ 4. พื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ ดังนี้

            4.1 รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พื้นที่ในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี

            4.2 สนามบิน พื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน

            4.3 ท่าเรือ พื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ

            4.4 โครงการทางด่วนพิเศษ พื้นที่ในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลง

            ทั้งนี้ ขอบเขตพื้นที่จัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นเพดานรัศมีสูงสุดซึ่งกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ส่วนพื้นที่จัดเก็บจริงจะพิจารณากำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี โดยออกเป็นประกาศเพื่อบังคับใช้ต่อไป

            ข้อ 5. ผู้จัดเก็บภาษีกำหนดให้

            5.1 กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดเก็บภาษีโดยมอบอำนาจให้กรมที่ดินจัดเก็บภาษีแทนในกรณีที่ 1 และ

            5.2 มอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีแทนในกรณีที่ 2

            ทั้งนี้ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจรับส่วนลดหรือค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 3 ของภาษีที่รับชำระ

            ข้อ 6. อัตราภาษีที่จัดเก็บ กำหนดอัตราเพดานภาษีสูงสุดที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษีส่วนอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

            ข้อ 7. ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

            7.1 โครงการฯ ที่ทำสัญญาก่อนร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้และยังพัฒนาโครงการฯ ไม่แล้วเสร็จ ให้คำนวณฐานภาษีจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างมูลค่าในวันที่ร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ และมูลค่าในวันที่โครงการฯ แล้วเสร็จ เว้นแต่ในกรณีห้องชุดที่ปลูกสร้างใหม่ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดโดยใช้มูลค่าห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยร้อยละยี่สิบ เนื่องจากไม่สามารถคำนวณมูลค่าห้องชุดที่เพิ่มขึ้นมาได้

            7.2 โครงการฯ ที่ทำสัญญาหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ ให้คำนวณฐานภาษีจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างมูลค่าวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการฯ และมูลค่าในวันที่โครงการฯ แล้วเสร็จ เว้นแต่ในกรณีห้องชุดที่ปลูกสร้างใหม่ ให้คำนวณส่วนต่างของ มูลค่าห้องชุดโดยใช้มูลค่าห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยร้อยละยี่สิบ เนื่องจากไม่สามารถคำนวณมูลค่าห้องชุดที่เพิ่มขึ้นมาได้

            การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

            รายละเอียดของการคำนวณฐานภาษีปรากฏตามเอกสารแนบ

            “วันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการฯ” หมายถึง วันที่ทำสัญญาก่อสร้างโครงการฯ

            “วันที่โครงการฯ แล้วเสร็จ” หมายถึง วันที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีมติตรวจรับโครงการฯ เสร็จสิ้นทุกระบบและได้รับส่งมอบงาน

            ข้อ 8. การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยอัตราภาษี

            ข้อ 9. เงินภาษี นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

            ข้อ 10. กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปลัดกระทรวงคมนาคมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เป็นกรรมการและอธิบดีกรมสรรพากร เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติให้กำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี และวินิจฉัยปัญหา ให้คำปรึกษาหรือแนะนำในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นผู้แทนในระดับกรมดำเนินการตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย

            ข้อ 11. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษีเป็นโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และโครงการฯ ที่จะเริ่มดำเนินโครงการฯ หลังจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

            ข้อ 12. บทลงโทษ กรณีผู้เสียภาษีมิได้ชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือน เมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้ แต่ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเกินกว่าความจำเป็นที่พอจะชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายดังกล่าว

            ดังนั้นเจ้าของทรัพย์สินจึงต้องอ่านให้กระจ่าง จะเพียงดูแต่สรุปในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้


ที่มาของรูปภาพ: http://media.thansettakij.com/2017/05/tax.jpg

อ่าน 5,403 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved