หลายคนอยากไปลงทุนเมืองนอก แต่ไม่รู้จะหาลู่ทางไปอย่างไร ยิ่งเห็นรายใหญ่ๆ เจ๊งกลับมายิ่งคิดหนัก เรามาดูการลงทุนที่ชาญฉลาดนอกประเทศกันเถอะ
ที่ว่าเมืองไทย 0.4 ไม่ใช่ 4.0 ก็เพราะว่าเป็นการตั้งตัวเลขส่งเดช บอกว่า 1.0 คือเกษตร 2.0 คืออุตสาหกรรมเบา 3.0 คืออุตสาหกรรมหนัก 4.0 อุตสาหกรรมบริการ นี่ก็ลำดับผิดแล้ว แต่อันที่จริงหลังยุคเกษตรกรรม เราพัฒนาอุตสาหกรรมกันขนานใหญ่โดยถือเป็นอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า (import-substitution economy) ยุคนั้น 50 ปีก่อน ไทยเกรียง อเมริกันเทคไทล์และอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ก็เกิดขึ้น จน GDP หลักเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม แต่เมื่อ 30 ปีก่อน อุตสาหกรรมบริการก็ทะยานขึ้นมาแทน ไม่ใช่เพิ่งเกิดอย่างที่เข้าใจ
ในยุค 0.4 ของไทย เราฝากความหวังไว้กับ EEC ในขณะที่เราลืมไปแล้วว่าเราเพิ่งส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก สระแก้วและตามเมืองชายแดนอื่นๆ EEC ที่เราฝากความหวังไว้ ยังไม่มีกระทั่งผังเมือง ซึ่งคงออกมาแบบพิกลพิการคล้ายเดิม แถมหลายโครงการใน EEC ก็เพี้ยนๆ เช่น รถไฟไประยอง ผ่าต้องอ้อม ‘ไปเยี่ยมญาติ’ ที่ฉะเชิงเทรา จะสร้างเมืองใหม่พัทยา เมืองใหม่ระยอง เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา (เพื่ออะไรก็ไม่รู้) แต่ไม่มีแผนขยายนิคมอุตสาหกรรมหนักมาบตาพุด จะสร้าง Logistic Hub ทั้งที่ควรสร้างรอบสุวรรณภูมิ ขณะเดียวกันก็มีคู่แข่งชาติอื่นอีกมากรอบบ้านเรา
การจะไปลงทุนในต่างแดน ไม่จำเป็นต้องไปพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ พวกรายใหญ่ๆ ที่ไปทำโครงการแบบนั้นเคยเจ๊งมานักต่อนักแล้ว เพราะไปร่วมทุนกับรายใหญ่ๆ ในท้องถิ่น (ซึ่งต่างก็ไม่มีความจำเป็นในกันและกันอยู่แล้ว) ไปยืมจมูกเขาหายใจ แถมทะนงตนไม่ศึกษาตลาดให้ดี คิดแต่จะรวยได้ในชั่วลัดนิ้วมือเดียว เลยเจ๊งเหลือกางเกงในกลับมาตามคำบอกเล่าของท่านอนันต์ อัศวโภคินที่เคยไปลงทุนเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน
การจะไปลงทุนต่างแดนไม่ใช่การหาคู่แบบรักแรกพบ หรือปุบปับแบบคลุมถุงชน แต่จะต้องคบกันนานๆ เพื่อดูใจและศึกษากันและกันให้ดีก่อน ไม่จำเป็นต้องไปแต่งงานกับลูกหลานรายใหญ่ เริ่มต้นกับรายเล็กแบบค่อยเป็นค่อยไป สะสมกำลังคน และประสบการณ์เพื่อขยายตัวในอนาคต ค่อยๆเติบโตจากโครงการเล็กๆ ธรรมดาๆ สู่โครงการใหญ่และยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น ผมเคยเรียนท่านทองมา วิจิตรพงศ์พันธ์แห่งพฤกษาว่า ถ้าเริ่มไปอินโดนีเซียเมื่อไหร่ อีกไม่เกิน 15 ปี บมจ.พฤกษา อินโดนีเซีย จะใหญ่กว่า บมจ.พฤกษา ประเทศไทย แน่นอน! เพราะประชากรมากและกำลังรวยขึ้นๆ
ก่อนจะไปปักหลักลงทุนในต่างประเทศ เราต้องไปงานชุมนุมก่อน เช่น งาน ASEAN Real Estate Network Alliance (ARENA) ซึ่งปีนี้จะจัด ณ กรุงพนมเปญในระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 สิงหาคม 2561 งานนี้เป็นงานชุมนุมนายหน้า ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในอาเซียน ผู้อยู่ในวิชาชีพนี้ควรไปร่วมงาน นักพัฒนาที่ดินก็ควรไปร่วมงานเพื่อหานายหน้ามาช่วยซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ท่านใดสนใจ ติดต่อผู้เขียนได้ในฐานะประธาน ARENA ประจำประเทศไทย และเคยเป็นประธานจัดงานนี้ในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2559 มาแล้ว
นักพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์หรือยักษ์ใหญ่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม ก็ควรเป็นสมาชิกของ FIABCI (www.fiabci.org) หรือสหพันธ์อสังหาริมทรัพย์นานาชาติซึ่งในประเทศไทยก็มีสำนักงานอยู่แล้วโดยผู้เขียนเป็นประธานสมาคม FIABCI ประจำประเทศไทย การเข้าร่วมสมาคมนี้จะทำให้เราได้พบปะกับนักพัฒนาที่ดินใหญ่น้อยทั่วโลก รวมทั้งนักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในระดับนานาชาติและระดับชาติ อันเป็นการแสวงหาความร่วมมือเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตนั่นเอง
ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 FIABCI ไต้หวันก็จะจัดงานมอบรางวัลอสังหาริมทรัพย์ดีเด่นระดับชาติ สมาชิก FIABCI จากประเทศต่างๆ ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเพื่อการเชื่อมสัมพันธ์และความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต ในวันที่ 20-22 กันยายน 2561 FIABCI เกาหลีก็จะจัดงาน EXPOREAL ซึ่งในการแสดงอสังหาริมทรัพย์จากทั่วโลก และเราก็ไม่ควรพลาด นอกจากนี้ FIABCI ในประเทศอื่นๆ รวมทั้งภูมิภาค เช่น ยุโรป อาฟริกา อเมริกา และเอเซียแปซิฟิก ก็มีการจัดงานที่ผู้เข้าร่วม จะได้ทั้งความรู้ความบันเทิงและที่สำคัญก็คือการสานสัมพันธ์ทางธุรกิจนั่นเอง
การไปพบปะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากหน้าหลายตาจะทำให้เราสามารถเลือกสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล หรือไม่พลาดในการเลือกสรรนั่นเอง เมื่อเรามีพันธมิตรที่ดีก็จะสามารถไปร่วมทำธุรกิจในต่างแดนได้อย่างมั่นใจ โอกาสที่จะแยกทางกันหรือเกิดความผิดพลาดในการทำธุรกิจ ก็จะน้อยลง นี่คือเครื่องหมายแห่งความสำเร็จในอนาคต นอกจากนี้ เรายังควรไปร่วมประชุมหรือเป็นสมาชิกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นซึ่งมีทั้งสมาคมนักพัฒนาที่ดิน สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน สมาคมนายหน้าและอื่นๆ เพื่อที่จะหาพันธมิตรทางธุรกิจในแต่ละประเทศอีกด้วย
สำหรับรายเล็กๆ หรือแม้แต่ช่วงเริ่มต้นของบริษัทรายใหญ่ ก็อาจเริ่มต้นด้วยการไปซื้อหาทรัพย์สินในต่างประเทศ เช่น ห้องชุดพักอาศัยห้องหนึ่งหรือจำนวนหนึ่ง โครงการที่อยู่อาศัย โรงแรมอาคารสำนักงาน เป็นต้น เมื่อคุ้นชินกับท้องถิ่น โดยเฉพาะเมื่อมีที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ดี ก็ค่อยๆ ลุยทำโครงการจากเล็กสู่ใหญ่ต่อไป ผู้ที่จะบุกตลาดต่างประเทศมักเป็น SMEs มากกว่ารายใหญ่ๆ ยังมี โครงการที่ทำกำไรได้มากมาย เช่น ที่ดินจัดสรร ทาวน์เฮาส์ราคาถูก อาคารชุดราคาปานกลางในหลายประเทศที่ควรไปลงทุน แต่พวกรายใหญ่ๆ มักมองข้ามไป
เราต้องออกนอก ‘กระดอง’ เพราะ
1. ประเทศไทยในขณะนี้มีความเสี่ยงสูงแม้รัฐบาลจะบอกว่าดี ดีและดี แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เรามีหนี้สินถึง 5 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว ยังไม่รู้ไทยจะเป็นกรีซหรืออาร์เจนตินาในอนาคต
2. ประเทศเพื่อนบ้านกำลังเติบโตกันอย่างขนานใหญ่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงกว่าเรามาแทบทุกปีแทบทุกประเทศในอาเซียน เราจึงพึงเกาะผลการเติบโตของพวกเขาไปด้วยกัน หาใหม่ก็เท่ากับเราจนลงไป
3. การที่เราออกไปลงทุนในต่างแดนถือเป็นการขยายภาพลักษณ์ของแบรนด์ของเราเอง ว่าไม่ใช่แค่แบรนด์ท้องถิ่น แต่เป็นแบรนด์ในภูมิภาคหรือต่อไปเป็นแบรนด์นานาชาติ เราพึงทำธุรกิจกระทั่งแบรนด์ของเราเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า
นี่แหละการไปลงทุนต่างประเทศเป็นการกระจายความเสี่ยง แสวงหาโอกาสใหม่ๆ และสร้างแบรนด์ เราต้องไปสร้างชื่อให้กับประเทศไทย