ผมไปเยี่ยมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เห็นการจัดการบ้านพักเขาใหญ่แล้ว รู้สึกว่าไม่ใช่มืออาชีพเลย ที่สำคัญยังเอาบ้านพักของข้าราชการมาดัดแปลงเป็นบ้านพัก เท่ากับเป็นการใช้เงินหลวงไปโดยผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ การจัดการที่พักหรือบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติควรเป็นอย่างไรกันแน่
ว่ากันว่า "รัฐบาล 'โปร่งใส' ของอานันท์ ปันยารชุน สั่งเลิกกิจการโรงแรมและสนามกอล์ฟเขาใหญ่ ที่บริหารงานโดย ททท. ด้วยหลักการและเหตุผลสั้นๆ 'ให้เขาใหญ่ได้พัก'” (https://bit.ly/2KNQpZg) อันนี้เป็นข้ออ้างที่ "ไร้เหตุผลสิ้นดี" อันที่จริง อานันท์มองด้วยวิสัยทัศน์สั้นๆ ว่า ถ้าขืนมีที่พักแบบนั้น เขาจะไม่ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง ในอุทยานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ล้วนแต่มีโรงแรมที่พักที่สำคัญดำเนินการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (https://bit.ly/2u0YLFZ) ไม่ใช่ให้รัฐทำแบบตามมีตามเกิดโดยไม่มีความเชี่ยวชาญใดๆ
เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนสตรีเล่าให้ฟังว่าพากลุ่มนักเรียนเก่าร่วมรุ่นไปพักในบ้านพักของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปรากฏว่าเพื่อนถูกตัวเรือดกัด กว่าจะเอาตัวเรือดออกมาได้ ก็เป็นแผล ตัวเรือดอ้วนไปเลย การนี้อาจกล่าวได้ว่าการจัดการบ้านพักของอุทยานอาจยังควรปรับปรุง อย่างไรก็ตามแม้ทางอุทยานจะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็ไม่ใช่วิชาชีพหลักของผู้ปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นจึงควรให้เอกชนดำเนินการมากกว่า
อุทยานหลายแห่งนำบ้านพักข้าราชการมาทำเป็นบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว กรณีนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะประการแรก บ้านพักข้าราชการ ควรใช้สำหรับข้าราชการเป็นหลัก งบประมาณที่ใช้ก็เพื่อให้ข้าราชการได้อยู่อาศัยเพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรสร้างบ้านพักข้าราชการ คนที่จะทำงานควรที่จะลงไปพักข้างล่าง หรือมีบ้านพักอยู่ใกล้เคียง เดินทางไปกลับ ยกเว้นเวลาเข้าเวรยามมากกว่า
นอกจากนี้งบประมาณในการซื้อสบู่ ผ้าขนหนู และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็ไม่รู้ว่าได้เบิกงบประมาณมาจากส่วนใด มาจากการหารายได้ของที่พักหรือไม่ มีการตรวจสอบหรือไม่ รายได้จากการให้พักได้รับการตรวจสอบและตั้งราคาเหมาะสมเพียงใด มี "บัตรเบ่ง" หรือไม่อย่างไร เงินที่ได้รับมานำไปใช้ "แบ่งกันเอง" ตามแบบสวัสดิการเช่นหน่วยงานหลายแห่งหรือไม่ นำไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่ามากน้อยเพียงใดหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการให้ชัดเจนโปร่งใส
อันที่จริงการมีบ้านพักชื่อ "โรงแรมเขาใหญ่" ในสมัยที่ ท.ท.ท. หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดำเนินการนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม ไม่ได้รุกล้ำธรรมชาติแต่อย่างใด และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แบบ "ฉิ่งฉาบทัวร์" หรือไม่ใช่แบบที่มากางเตนท์กันสุดลูกหูลูกตาทำร้ายธรรมชาติอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่สิ่งที่จะสามารถทำได้ดีกว่านี้ก็คือ การให้เอกชนรับสัมปทานไปบริหารจัดการ แล้วรัฐบาลหรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้รับผลประโยชน์
การจะเซ้งให้ได้ราคาที่เหมาะสม ก็ต้องให้นักวิชาชีพผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอย่างผม (แต่ไม่ต้องจ้างบริษัทของผมก็ได้ จะได้ไม่เป็นที่ครหา) การตั้งราคาแบบ "ซูเอี๋ย" กันระหว่างกรมกับเอกชน คงไม่ได้เรื่องแน่นอน และเมื่อได้เงินที่สมควรแล้ว ก็จะสามารถนำเงินเหล่านี้มาเพื่อการ "อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" ให้ยั่งยืนต่อไป เพราะลำพังรายได้จากค่าที่พักและค่าเข้าชมที่เก็บอยู่ทุกวันนี้ก็อาจไม่เพียงพอหรืออาจรั่วไหลได้หรือไม่
การมีโรงแรมดีๆ ไม่ได้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เขาใหญ่ที่ทรุดโทรมลงก็เพราะการบุกรุกโดยรอบ เขาใหญ่มีขนาดประมาณ 2,168.75 ตารางกิโลเมตร (https://bit.ly/2MLwKda) ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่มีขนาดเพียง 1,568 ตารางกิโลเมตรเสียอีก การบุกรุกโดยรอบโดยบุคคลที่ "มีเส้น" อยู่รอบๆ เขาใหญ่มากกว่า แต่การปราบปรามต่าง ๆ อาจทำได้ไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดงบประมาณ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจมีอะไร "ลับลมคมใน" กว่านั้นหรือไม่ก็ควรจะได้รับการพิสูจน์
เรารักษาธรรมชาติ รักษาป่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การบรรลุวัตถุประสงค์เช่นนี้ได้ ก็ต้องใช้เงินและทรัพยากรอื่นให้ดี อย่าว่าแต่ทำเป็นโรงแรมเลย แม้แต่ที่เกนติ้งไฮแลนด์ (https://bit.ly/2MIjxll) ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีทั้งสนามกอล์ฟ กาสิโนและโรงแรมขนาดใหญ่กลางยอดเขาสูง 2,000 เมตร ก็ยังไม่เคยมีข่าวการบุกรุกทำลายล้างธรรมชาติของกิจการแห่งนี้ แต่การมีกิจการเช่นนี้ต่างหากที่นำรายได้มาเข้าหลวงเพื่อมาพัฒนาการอนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ราชการไทยจึงไม่ควรมองเถรตรงเกินไป ราชการไทยจึงไม่ควรมองเห็นแต่ต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่าทั้งป่า ราชการไทยจึงไม่ควรมองไกลแค่ปลายจมูก
ชื่อวิทยากรผู้ร่วมอภิปราย
นายธรรมนูญ อัครพินท์ ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาต กรมป่าไม้
นายลภน ซ่อมประดิษฐ์ อุปนายกสมาคม ธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ
นายมานพ ชมพูจันทร์ ที่ปรึกษามูลนิธิอนุรักษ์ป่าภูเขียว
อ.สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
นายธนพล สาระนาค ประธานชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ (ดำเนินการอภิปราย)