AREA แถลง ฉบับที่ 93/2554: 18 ตุลาคม 2554
การรักษาและการสร้างแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ในช่วงน้ำท่วม
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ในช่วงน้ำท่วมนี้ ลูกบ้านในโครงการจัดสรรต่าง ๆ มีปัญหากับโครงการหลายแห่ง บางแห่งบ้านในโครงการจัดสรรเพิ่งขายหมดไป เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ หรือกว่าจะเข้ามาสำรวจดำเนินการ ก็ใช้เวลานาน จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร ปัญหานี้อาจก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดีทำให้แบรนด์ของบริษัทพัฒนาที่ดินด้อยลงได้ แต่ขณะเดียวกันหากสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ก็สามารถสร้างแบรนด์ได้เช่นกัน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและข้อขัดข้องจากทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อบ้าน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการสร้างและรักษาแบรนด์หรือยี่ห้อของบริษัทพัฒนาที่ดิน
โดยต่อกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน และมีโอกาสป้องกันได้ยาก โดยเฉพาะโครงการในย่านชานเมือง น้ำท่วมจึงแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามปัญหาของผู้อยู่อาศัยในโครงการต่าง ๆ ก็คือความรู้สึกว่าผู้ประกอบการไม่ค่อยรับผิดชอบ หรือตอบสนองปัญหาได้ค่อนข้างช้า ซึ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านเกิดความไม่พอใจในระดับที่แตกต่างกัน
ในโอกาสเช่นนี้ หากผู้ประกอบการลงไปทำงาน ‘มวลชนสัมพันธ์’ ที่ดีกับลูกบ้าน บางส่วนอาจจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทางการเงิน บุคลากรที่ลงไปช่วยบรรเทาปัญหา หรือเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ ซึ่งก็คงมีราคาไม่มากนัก แต่หลายแห่งอาจต้องการกำลังใจหรือความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ รวมทั้งการให้คำปรึกษาในการป้องกันหรือการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ซึ่งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินน่าจะมีทักษะในการให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
การที่ผู้ประกอบการตอบสนองต่อปัญหาได้ไวและแสดงความช่วยเหลือต่าง ๆ นี้ จะเป็นหนทางในการสร้างแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้าจะได้ ‘บอกต่อ’ (Word of Mouth) เพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่ในอนาคต โดยใช้เงินเพื่อการนี้ไม่มากนัก แต่ได้ผลคุ้มค่า กลายเป็นการสร้างผลประโยชน์ที่ชัดเจนให้กับผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินโดยตรง โดยลงทุนเพื่อการนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ
นอกจากนี้ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินยังอาจทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่น การ ‘แลกบ้าน’ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อบ้านในทำเลอื่นแทน และนำบ้านที่ขายโดยลูกค้ามาปรับปรุงเพื่อขายใหม่ ซึ่งน่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ประกอบการเอง รวมทั้งธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ซึ่งในปัจจุบันบริษัทพัฒนาที่ดินหันมาดำเนินการเองในโครงการในเครือของตนเองมากขึ้น
กิจกรรมเหล่านี้คือความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่ไม่ใช่การลูบหน้าปะจมูก แจกของหรือ ‘จิตอาสา’ แต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างแบรนด์ จากการการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้ซื้อบ้านในโครงการซึ่งเป็นลูกค้าที่ใกล้ชิดของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน กิจกรรมเช่นนี้ถือเป็นการสร้าง Internal Branding จากลูกค้าของเราโดยตรง เพื่อหาลูกค้าจากภายนอก
นอกจากนี้หากสามารถระดมพนักงานรวมทั้งสมาชิกครอบครัวของพนักงานในบริษัทมาร่วมกิจกรรมร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมกับลูกบ้านเช่นนี้ได้ ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมสร้าง Internal Branding สำหรับพนักงานและครอบครัว ซึ่งทั้งลูกจ้างและลูกค้าใกล้ชิดเราจะต่าง ‘บอกต่อ’ สินค้าและบริการของเราให้ลูกค้ารายอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ความสำเร็จจะมาจากฉันทาคติของพนักงาน ครอบครัวและลูกค้าผู้ซื้อบ้านนั่นเอง
ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ (ไม่ใช่การสร้างภาพ) ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ขอแนะนำให้ดูได้จากหนังสือ ‘CSR ที่แท้’ ซึ่งเขียนโดย ดร.โสภณ พรโชคชัย หนังสือเล่มนี้สามารถ download ได้โดยไม่คิดมูลค่าได้ที่ http://csr-thai.blogspot.com
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |