การทุบบ้านพักตุลาการธนบุรีซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 100 หน่วย เพื่อสร้างห้องชุด 100 หน่วย ถือเป็นกรณีตัวอย่างของความไม่พอเพียง ไม่คุ้มค่า ควรได้รับการทบทวนเป็นอย่างยิ่ง
นี่ไม่ใช่หมู่บ้าน "ป่าแหว่ง" เชียงใหม่ แต่เป็นบ้านพักตุลาการธนบุรี ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้เอง ที่ซอยกำนันแม้น อยู่ด้านหลังของศาลแขวงธนบุรี ในบริเวณนี้มีกลุ่มอาคารของศาล ได้แก่ ศาลแขวงธนบุรี ศาลอาญาธนบุรี ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 สำนักงานอัยการสูงสุดธนบุรี หากเข้าทางซอยกำนันแม้น (เอกชัย 36) เมื่อถึงทางเข้าศาลแพ่งธนบุรี ก็เลี้ยวขวาเข้าไป หลังจากผ่านอาคารศาลแพ่งแล้ว ก็จะพบสนามเทนนิส ต่อจากสนามเทนนิสก็คือบ้านพักตุลาการธนบุรีแห่งนี้
บ้านพักตุลาการแห่งนี้มีลักษณะเป็นเรือนแถว 100 หน่วย ก่อสร้างมาพร้อมกับศาลธนบุรี 3 ศาล (ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแขวง) มีอายุการใช้งานมาแล้ว 37 ปี ถึงเวลานี้ทั้งศาลและบ้านพักยังมีสภาพมั่นคงแข็งแรงดีมาก การใช้เงินสร้างห้องชุด ห้องละ 5 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าที่ดิน) และสร้างได้แค่ 100 หน่วยเท่ากับไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มขึ้นเลย เพราะแต่เดิมก็มี 100 หน่วยแล้ว แล้วอย่างนี้จะรื้อสิ่งที่มีอยู่และมีสภาพดีไปทำอะไร ทุกวันนี้ยังมีที่ดินราชพัสดุที่ศาลใช้สอยอยู่ในบริเวณอื่นที่ควรสร้างอีกหลายแห่ง น่าจะนำงบประมาณไปสร้างที่อื่น ซึ่งจะก่อประโยชน์ได้มากกว่านี้ การใช้เงินถึง 500 ล้านในการสร้างอาคารชุดจึงถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นความสูญเปล่าประการหนึ่ง
ในเบื้องต้นบ้านทาวน์เฮาส์นี้ คาดว่ามีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 180 ตารางเมตร หากทำการปรับปรุงด้วยงบประมาณ ตารางเมตรละ 4,000 บาท ก็จะเป็นเงินหลังละประมาณ 720,000 บาท ในจำนวนทาวน์เฮาส์ 100 หลัง ก็จะใช้เงินเพียง 72 ล้านบาท แทนที่จะใช้เงินถึง 500 ล้านบาทในการก่อสร้างอาคารชุดหรือาคารที่อยู่อาศัยรวมขึ้นมาใหม่ สามารถประหยัดเงินได้ถึง 428 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้เงิน 500 ล้านบาทมาสร้างใหม่เช่นนี้ จึงไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
บ้านพักตุลาการที่สร้างมานี้ ค่าก่อสร้างใหม่จะเป็นเงินประมาณ ตารางเมตรละ 10,000 บาท ทั้งนี้ตามราคาค่าก่อสร้างอาคารของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (https://bit.ly/1NYCpdF) ซึ่งก็เท่ากับหลังละ 1.8 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมลงครึ่งหนึ่ง ก็เหลือหน่วยละ 0.9 ล้านบาท การทุบทิ้งไปเลย ก็เท่ากับว่าเราสูญเสียเงินไป 90 ล้านบาท และค่าสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบต่าง ๆ อีกประมาณ 20 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 110 ล้านบาท การทำโครงการอาคารชุดใหม่ 100 หลังนี้ จึงเท่ากับได้ทำลายทรัพย์สินที่ควรจะยังรักษาไว้อีกถึง 110 ล้านบาทเลยทีเดียว
ในอีกแง่หนึ่ง การสร้างห้องชุดด้วยเงิน 500 ล้านบาท ได้ห้องชุด 100 หน่วย ๆ ละ 5 ล้านบาทนั้น หากนับรวมที่ดินเข้าไปด้วย โดยเบื้องต้นประมาณการว่าที่ดินแปลงนี้มีขนาด 7 ไร่ หรือ 2,800 ตารางวา ที่ดินแถวนี้มีราคาตารางวาละ 80,000 บาท หรือเป็นเงินรวม 224 ล้านบาท ก็เท่ากับโครงการสร้างใหม่นี้ มีราคา 724 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 7.24 ล้านบาท ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือ
1. การสร้างบ้านพักข้าราชการด้วยเงินหน่วยละ 7.24 ล้านบาทนี้มันมากเกินไปหรือไม่ ขาดความไม่พอเพียงหรือไม่
2. ยังจะมีค่าบำรุงรักษาที่อาจเป็นงบหลวงผูกพันอีกมากมายหรือไม่
3. ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ณ อัตราดอกเบี้ย 3% จะได้เงินดอกเบี้ยปีละ 217,200 บาท หรือเดือนละ 18,100 บาท สามารถนำไปให้ผู้พิพากษาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ โดยที่เงินต้นทุนก็ยังอยู่ครบไปชั่วกัลปาวสานเลยทีเดียว
การสร้างบ้านพักตุลาการหรือแม้แต่ข้าราชการอื่นๆ ก็ควรได้รับการทบทวนเช่นกัน โดยเฉพาะระบบราชการส่วนภูมิภาคที่ต้องหมุนเวียนคนออกไปนอกเมือง และกลับมีข้าราชการส่วนกลางถึงราว 60"% ของข้าราชการทั้งหมด (http://bit.ly/2b3seDL) ทำให้ต้องจัดหาสวัสดิการที่เกินความจำเป็นอยู่อย่างต่ำเนื่อง งบประมาณที่จะนำไปพัฒนาประเทศจึงจำกัด เช่น "ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมีผู้ต้องขังจำนวน 355,543 คน แต่เรือนจำรองรับได้ 200,000 คน" (https://bit.ly/2PAzDil)
ถ้าห้องขังสำหรับผู้ต้องขังคนหนึ่งใช้เงินสร้างใหม่เป็นเงิน 50,000 บาท (ตัวเลขสมมติ) เงิน 500 ล้านบาทที่คิดจะสร้างบ้านพักตุลาการ จะสามารถสร้างคุกให้ผู้ต้องขังอยู่ได้ถึง 10,000 คนเข้าไปแล้ว การเก็บ "คนที่ไม่ดี" ไว้ในคุก ย่อมดีกว่าปล่อยให้ออกมาง่ายๆ ประเทศไทยของเราควรมีคุกที่มีมาตรฐาน พอเพียง และมีการดูแลให้เป็น "คนดี" ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กันอย่างยัดเยียด กลายเป็นกลุ่มแก๊งรังแก ทำร้ายกันและกัน หาไม่จะทำให้ "คนดีๆ" ที่ติดคุกพลอยเสื่อมเสียหนักมากขึ้น
ประเทศไทยจึงควรใช้สอยงบประมาณอย่างประหยัดเพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยเป็นสำคัญ