เปิดโผรถไฟฟ้าหัวเมืองทั่วประเทศ
  AREA แถลง ฉบับที่ 457/2561: วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            รถไฟฟ้าหัวเมืองจะมีที่ไหนบ้าง มาดูกันรายจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก ภูเก็ต

            มาดูกันที่จังหวัดแรกขอนแก่น เป็นการร่วมมือของ 5 เทศบาลของจังหวัดลงทุนโครงการรถไฟฟ้ามวลเบาขอนแก่นนี้คาดว่าจะมีระยะทาง 22.6 กิโลเมตร ใช้งบประมาณลงทุน 15,000 ล้านบาท โดยมีแนวคิดจะใช้ที่ดิน 200 ไร่ของสถานีวิจัยข้าว ขอนแก่น (https://bit.ly/2IuALA6) ทำศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่การค้า

            สำหรับจังหวัดเชียงใหม่เป็นรถไฟฟ้ามวลเบา ใช้งบลงทุน 105,735 ล้านบาท มีทั้งอุโมงค์ใต้ดินในเมืองและยกระดับนอกเมือง มี 3 เส้นทาง รวม 36 กม. โดยให้รฟม.ออกแบบเส้นทางนำร่อง ซึ่ง 3 เส้นทางดังกล่าวแยกเป็น

            สายสีแดง รวม 12 สถานี วงเงิน 28,727 ล้านบาท ระยะทาง 12.54 กม. แยกเป็นส่วนระดับดิน 5.17 กม. ช่วง รพ.นครพิงค์-แยกช่วงสิงห์ และสนามบินเชียงใหม่-แยกแม่เหียะ และส่วนอุโมงค์ใต้ดินยาว 7.37 กม. เริ่มที่สถานีช่วงสิงห์-สนามบินเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวต้องผ่านเมืองชั้นใน ย่านเมืองเก่าซึ่งต้องขุดดินลึก 10 เมตร ซึ่งอาจมีโบราณวัตถุ และโบราณสถาน

            สายสีน้ำเงิน จากสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกห้างพรอมเมนาดา 10 สถานี 10.47 กม. วงเงิน 30,399 ล้านบาท

            สายสีเขียว แยกรวมโชค-สนามบินเชียงใหม่ 13 สถานี 11.92 กม. วงเงิน 36,195 ล้านบาท จะดำเนินการหลังสายสีแดงแล้วเสร็จ ซึ่ง รฟม.กำลังจ้างที่ปรึกษาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และศึกษารูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน

            ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา เป็นรถไฟฟ้ามวลเบา ใช้งบลงทุน 32,600 ล้านบาท มี 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ปี 2563-2565 วงเงิน 13,600 ล้านบาท มีสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า 9.81 กม. 17 สถานี วงเงิน 8,400 ล้านบาท และสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีวัสดิ์ 11.17 กม. 18 สถานี วงเงิน 5,200 ล้านบาท

            ระยะที่ 2 ปี 2566-2568 วงเงิน 4,800 ล้านบาท มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.92 กม. 9 สถานี

            ระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง วงเงิน 14,200 ล้านบาท รฟม.จะจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

            จังหวัดพิษณุโลก จะมีความแตกต่างจากอีก 4 จังหวัด โดยจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ รถโดยสารขนาดปกติ รถไมโครบัส และรถรางล้อยาง (tram) มีลักษณะคล้ายรถไฟแต่จะสั้นกว่าและมีน้ำหนักเบากว่า มีทั้งหมด 8 เส้นทาง รวม 110.6 กม. วงเงิน 13,493 ล้านบาท มี 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 มี 6 เส้นทาง รวม 80.5 กม. ในวงเงิน 3,206.57 ล้านบาท วิ่งเชื่อมในเมืองกับพื้นที่รอบนอกและสนามบิน เช่น สายสีแดง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งแห่งที่ 2-แห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-ศาลากลาง-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามทะเลแก้ว-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่ 12.6 กม. 15 สถานี เป็นรถ tram เป็นต้น ระยะที่ 2 ปี 2572-2574 มี 2 เส้นทาง และ 3 ส่วนต่อขยายอีก 30.1 กม. วงเงิน 911.42 ล้านบาท

            จังหวัดภูเก็ต เป็นรถไฟฟ้ามวลเบา เงินลงทุน 39,406 ล้านบาท เป็นบนดินตลอดเส้นทาง 24 สถานี ยกเว้นสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อยู่บริเวณ อำเภอถลาง โดยจุดเริ่มอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา เชื่อมต่อระบบรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ธานี-พังงา สิ้นสุดทางเหนือของห้าแยกฉลองห่างจากห้าแยก 200 เมตร รวม 58.525 กม. จะเริ่มช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงิน 30,154 ล้านบาท

            อย่างไรก็ตามท่านใดจะลงทุนอะไรต้องคิดให้รอบคอบก่อนเพราะลำพังโครงการรถไฟฟ้าเหล่านี้เองยังไม่รู้จะรอดหรือไม่ โปรดอ่าน http://bit.ly/2MNnBjR


ที่มาของรูปภาพ: https://f.ptcdn.info/361/045/000/oc9fiwebhW6JsaQ9SpJ-o.jpg

อ่าน 5,436 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved