ผมได้มีโอกาสพบท่านประดิษฐ์ สิงหทัศน์ และท่านชัยฤทธิ์ ลีลาเกรียงศักดิ์ ข้าราชการตุลาการบำนาญ ท่านเล่าให้ฟังว่าตอนนี้กำลังเริ่มทุบบ้านพักตุลาการธนบุรีซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 100 หน่วย เพื่อสร้างห้องชุด 100 หน่วย ไม่ได้สร้างให้เพิ่มจำนวนเพื่อการใช้สอยพื้นที่ให้คุ้มค่าเลย แถมยังไม่ประหยัด คือกลับ "ฟู่ฟ่า" ด้วยเงินค่าห้องชุดห้องละ 5 ล้านบาทเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมค่าที่ดิน อย่างนี้จะไหวหรือไม่
บ้านพักตุลาการธนบุรี ตั้งอยู่ในซอยกำนันแม้น อยู่ด้านหลังของศาลแขวงธนบุรี ในบริเวณนี้มีกลุ่มอาคารของศาล ได้แก่ ศาลแขวงธนบุรี ศาลอาญาธนบุรี ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 สำนักงานอัยการสูงสุดธนบุรี หากเข้าทางซอยกำนันแม้น (เอกชัย 36) เมื่อถึงทางเข้าศาลแพ่งธนบุรี ก็เลี้ยวเข้าไป หลังจากผ่านอาคารศาลแพ่งแล้ว ก็จะพบสนามเทนนิส ต่อจากสนามเทนนิสก็คือบ้านพักตุลาการธนบุรีแห่งนี้
ท่านประดิษฐ์ ตุลาการบำนาญเล่าให้ฟังบว่าตนเคยทำหนังสือเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 หรือเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แต่เรื่องเงียบไปว่า "โปรดยับยั้งความเสียหายที่จะบังเกิดแก่ทรัพย์สินของทางราชการ กล่าวคือ ศาลยุติธรรมมีบ้านพักตุลาการอยู่แห่งหนึ่งที่ข้างศาลธนบุรี ลักษณะเป็นเรือนแถว 100 หน่วย ก่อสร้างมาพร้อมกับศาลธนบุรี 3 ศาล (ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแขวง) มีอายุการใช้งานมาแล้ว 37 ปี ถึงเวลานี้ทั้งศาลและบ้านพักยังมีสภาพมั่นคงแข็งแรงดีมาก ท่านประดิษฐ์ ขอให้นายกฯ ยับยั้งการทุบอาคารเพื่อช่วยสงวนรักษาสมบัติของทางราชการไว้ (ใช้) ได้อีกนานเท่านาน และช่วยผดุงรักษาชื่อเสียงของสถาบันศาลยุติธรรมไว้มิให้เสื่อมเสีย
ส่วนท่านชัยฤทธิ์ ซึ่งเป็นตุลาการบำนาญอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การใช้เงินสร้างห้องชุด ห้องละ 5 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าที่ดิน) และสร้างได้แค่ 100 หน่วยเท่ากับไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มขึ้นเลย เพราะแต่เดิมก็มี 100 หน่วยแล้ว แล้วอย่างนี้จะรื้อสิ่งที่มีอยู่และมีสภาพดีไปทำอะไร ท่านบอกว่าในฝั่งธนบุรี ยังมีที่ดินราชพัสดุที่ศาลใช้สอยอยู่ในบริเวณอื่นที่ควรสร้างอีกหลายแห่ง น่าจะนำงบประมาณไปสร้างที่อื่น ซึ่งจะก่อประโยชน์ได้มากกว่านี้ การใช้เงินถึง 500 ล้านในการสร้างอาคารชุดจึงถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นความสูญเปล่าประการหนึ่ง
ท่านประดิษฐ์ และท่านชัยฤทธิ์ พาเดินดูสภาพของหมู่บ้านที่เป็นบ้านพักตุลาการธนบุรีปรากฏว่า
1. สภาพโครงสร้างอาคารแข็งแรงมาก แม้ก่อสร้างมา 37 ปีแล้วก็ตาม คาดว่าจะสามารถใช้สอยได้นาน อายุทางกายภาพของอาคารน่าจะอยู่ได้นับร้อยปี อย่างไรก็ตามอายุทางเศรษฐกิจของอาคารก็ยังมีอยู่เช่นกัน
2. บ้านแต่ละหลังมีรั้วรอบขอบชิด มีพื้นที่ว่างหลังบ้านในลักษณะเป็นสวน ทำให้มีลักษณะผ่อนคลาย น่าอยู่อาศัยพอสมควร
3. ระบบสาธารณูปโภค เช่น ท่อระบายน้ำ ถนน ก็อยู่ในสภาพที่ดีมาก รวมทั้งมีรั้วรอบขอบชิดของโครงการเพื่อความปลอดภัยของโครงการ สภาพรั้วก็ยังอยู่ในสภาพดี
4. มีต้นไม้ พื้นที่สีเขียวร่มรื่นน่าอยู่อาศัย ทำให้บรรยากาศดี โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีต่าง ๆ หากอยู่อาศัยในลักษณะนี้ น่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในการทำงานได้ดีกว่าการอยู่อาศัยในอาคารชุด
อย่างไรก็ตามบ้านทาวน์เฮาส์นี้ คาดว่ามีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 180 ตารางเมตร หากทำการปรับปรุงด้วยงบประมาณ ตารางเมตรละ 4,000 บาท ก็จะเป็นเงินหลังละประมาณ 720,000 บาท ในจำนวนทาวน์เฮาส์ 100 หลัง ก็จะใช้เงินเพียง 72 ล้านบาท แทนที่จะใช้เงินถึง 500 ล้านบาทในการก่อสร้างอาคารชุดหรือาคารที่อยู่อาศัยรวมขึ้นมาใหม่ สามารถประหยัดเงินได้ถึง 428 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้เงิน 500 ล้านบาทมาสร้างใหม่เช่นนี้ จึงไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
บ้านพักตุลาการที่สร้างมานี้ ค่าก่อสร้างใหม่จะเป็นเงินประมาณ ตารางเมตรละ 10,000 บาท ทั้งนี้ตามราคาค่าก่อสร้างอาคารของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (https://bit.ly/1NYCpdF) ซึ่งก็เท่ากับหลังละ 1.8 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมลงครึ่งหนึ่ง ก็เหลือหน่วยละ 0.9 ล้านบาท การทุบทิ้งไปเลย ก็เท่ากับว่าเราสูญเสียเงินไป 90 ล้านบาท และค่าสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบต่าง ๆ อีกประมาณ 20 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 110 ล้านบาท การทำโครงการอาคารชุดใหม่ 100 หลังนี้ จึงเท่ากับได้ทำลายทรัพย์สินที่ควรจะยังรักษาไว้อีกถึง 110 ล้านบาทเลยทีเดียว
ตุลาการบำนาญทั้งสองท่านให้ข้อเสนอว่า ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยของข้าราชการตุลาการในบริเวณอื่นที่ควรสร้าง และคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งหากดำเนินการให้ดีดังกล่าว การที่มีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่ไม่คุ้มค่าแบบนี้ อาจทำให้เกิดข้อครหาต่าง ๆ นานา เช่น เรื่อง "เงินทอน" ก็เป็นไปได้ แต่เรื่องอย่างนี้จะไปกล่าวหากันลอยๆ ไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่า ในระยะหลังมานี้ มีหน่วยราชการต่างๆ สร้างบ้านพัก สร้างอาคารสำนักงานกันมากมาย ความคุ้มค่าหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการตรวจสอบเป็นอย่างยิ่ง
มาช่วยกันคิดครับว่าเราควรใช้เงินอย่างไรจึงจะเหมาะสม โดยเฉพาะในแวดวงตุลาการ ความพอเพียง น่าจะเป็นสิ่งที่ควรพิจารณามากที่สุด
คลิกดูรูปใหญ่
ท่านประดิษฐ์ สิงหทัศน์ และท่านชัยฤทธิ์ ลีลาเกรียงศักดิ์ ข้าราชการตุลาการบำนาญผู้ให้ข้อมูลบ้านพักตุลาการธนบุรี