บ้านพักตุลาการ-บิ๊กทหาร ไม่ควรสร้าง
  AREA แถลง ฉบับที่ 472/2561: วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ถ้าเรายึดหลักความพอเพียง ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ เราไม่ควรสร้างบ้านพักข้าราชการโดยเฉพาะในส่วนกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างในราคาแสนแพง

            อย่างกรณีหมู่บ้าน "ป่าแหว่ง" ก็สร้างด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาทสำหรับข้าราชการตุลาการ 200 ราย หรือรายละประมาณ 5 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่าที่ดิน ซึ่งอาจมีค่าเท่ากับ 2 เท่าของค่าก่อสร้าง รวมเป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท ลำพังแค่เงินก่อสร้าง 5 ล้านบาท หากนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล แล้วนำเงินไปให้ผู้พิพากษาไปเช่าบ้านแทน ซึ่งจะทำให้ได้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดที่อยู่อาศัย ยังคุ้มกว่า เพราะเงินต้นก็ยังอยู่

            อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างอาคารชุดโดยทุบทิ้งบ้านพักตุลาการศาลธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้เอง ที่ซอยกำนันแม้น อยู่ด้านหลังของศาลแขวงธนบุรี กรณีนี้จะรื้อเรือนแถว 100 หน่วย และสร้างห้องชุด 100 หน่วย เป็นเงิน 500 ล้านหรือหน่วยละ 5 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าที่ดิน) การใช้เงินถึง 500 ล้านในการสร้างอาคารชุดจึงถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นความสูญเปล่าประการหนึ่ง อันที่จริงถ้าซ่อม ก็จะใช้เงินหลังละแค่ 720,000 บาท รวมเป็นเงินเพียง 72 ล้านบาท สามารถประหยัดเงินได้ถึง 428 ล้านบาท การรื้อทิ้งเท่ากับสร้างความสูญเสียไปประมาณ 110 ล้านบาทเลยทีเดียว (http://bit.ly/2wJt85J

            ในอีกแง่หนึ่ง การสร้างห้องชุดด้วยเงิน 500 ล้านบาท ได้ห้องชุด 100 หน่วย ๆ ละ 5 ล้านบาทนั้น หากนับรวมที่ดินเข้าไปด้วย โดยเบื้องต้นประมาณการว่าที่ดินแปลงนี้มีขนาด 7 ไร่ หรือ 2,800 ตารางวา ที่ดินแถวนี้มีราคาตารางวาละ 80,000 บาท หรือเป็นเงินรวม 224 ล้านบาท ก็เท่ากับโครงการสร้างใหม่นี้ มีราคา 724 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 7.24 ล้านบาท ซึ่งมากเกินไปหรือไม่ ขาดความไม่พอเพียงหรือไม่ และยังจะมีค่าบำรุงรักษาที่อาจเป็นงบหลวงผูกพันอีกมากมายหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ณ อัตราดอกเบี้ย 3% จะได้เงินดอกเบี้ยปีละ 217,200 บาท หรือเดือนละ 18,100 บาท สามารถนำไปให้ผู้พิพากษาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ โดยที่เงินต้นทุนก็ยังอยู่ครบไปชั่วกัลปาวสานเลยทีเดียว

            การสร้างบ้านพักตุลาการหรือแม้แต่ข้าราชการอื่นๆ ก็ควรได้รับการทบทวนเช่นกัน โดยเฉพาะระบบราชการส่วนภูมิภาคที่ต้องหมุนเวียนคนออกไปนอกเมือง และกลับมีข้าราชการส่วนกลางถึงราว 60% ของข้าราชการทั้งหมด (http://bit.ly/2b3seDL) ทำให้ต้องจัดหาสวัสดิการที่เกินความจำเป็นอยู่อย่างต่ำเนื่อง งบประมาณที่จะนำไปพัฒนาประเทศจึงจำกัด เช่น "ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมีผู้ต้องขังจำนวน 355,543 คน แต่เรือนจำรองรับได้ 200,000 คน" (https://bit.ly/2PAzDil)

            ถ้าห้องขังสำหรับผู้ต้องขังคนหนึ่งใช้เงินสร้างใหม่เป็นเงิน 50,000 บาท (ตัวเลขสมมติ) เงิน 500 ล้านบาทที่คิดจะสร้างบ้านพักตุลาการ จะสามารถสร้างคุกให้ผู้ต้องขังอยู่ได้ถึง 10,000 คนเข้าไปแล้ว การเก็บ "คนที่ไม่ดี" ไว้ในคุก ย่อมดีกว่าปล่อยให้ออกมาง่ายๆ ประเทศไทยของเราควรมีคุกที่มีมาตรฐาน พอเพียง และมีการดูแลให้เป็น "คนดี" ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กันอย่างยัดเยียด กลายเป็นกลุ่มแก๊งรังแก ทำร้ายกันและกัน หาไม่จะทำให้ "คนดีๆ" ที่ติดคุกพลอยเสื่อมเสียหนักมากขึ้น

            อีกตัวอย่างหนึ่งเกิดเมื่อปี 2559 มีข่าวว่า "ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างอาคารแฟลตสวัสดิการข้าราชการกองทัพบก สูง 18 ชั้น วงเงินในการก่อสร้าง 2,100 ล้านบาท. . .บริเวณพื้นที่สวัสดิการทหารบกแห่งใหม่ ถนนเทอดดำริ เขตดุสิต. . .สามารถรองรับกำลังพลได้ 494 ครอบครัว" (http://bit.ly/28SLzag) กรณีนี้ถือเป็นการใช้จ่ายเงินที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

            ในกรณีนี้เท่ากับที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งมีมูลค่าถึง 4.25 ล้านบาท (2,100 ล้านบาท / 494 ครัวเรือน) หากประมาณการค่าที่ดินเข้าไปด้วยโดยสมมติให้ใช้ที่ดิน 5 ไร่ ๆ ละ 80 ล้านหรือตารางวาละ 200,000 บาท ก็จะเป็นเงินอีก 400 ล้าน รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2,500 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 5.1 ล้านบาท หากสมมติว่าหน่วยหนึ่งมีขนาด 100 ตารางเมตร ก็เท่ากับตารางเมตรละ 50,000 บาท หากสามารถนำไปขายให้เป็นเสมือนอาคารชุด ก็จะขายได้ ณ ราคาตารางเมตรละ 80,000 บาท การใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อข้าราชการจำนวน 494 ครัวเรือนที่แต่ละครัวเรือนมีผู้รับราชการ 1-2 ท่าน จึงอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ 

            หากนำทรัพยากรนี้ไปใช้สร้างอาคารชุดเพื่อขายหรือให้เช่าในระยะยาวแก่ประชาชนทั่วไป ก็จะได้เงินหน่วยละประมาณ 8 ล้านบาท หากให้เช่าระยะยาว 30 ปี ก็คงจะได้เงินประมาณ 60% ของมูลค่าหรือ 4.8 ล้านบาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 2,371 ล้านบาท ยิ่งหากในย่านใจกลางเมืองที่มีส่วนราชการหลายแห่งที่สามารถย้ายออกนอกเมืองแล้ว ก็จะทำให้นำที่ดินราชการมาพัฒนาเพื่อการนี้ เช่น สมมติพัฒนาได้ 50 โครงการในทำนองนี้ ก็จะมีค่ารวมกันถึงประมาณ 118,560 ล้านบาท สามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศได้อีกมหาศาล

            หากคิดจากราคา 4.25 ล้านบาทต่อหน่วย และ ณ อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ 6% (ตามมาตรฐานของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย http://bit.ly/1Q2Fdcj) ก็เท่ากับพวกราชการระดับสูงคนหนึ่ง ๆ จะได้รับผลตอบแทนสุทธิเดือนละ 21,250 บาท เพิ่มจากเงินเดือนที่พวกเขาได้รับอยู่แล้ว หากสมมุติว่าพวกเขาได้รับเงินเดือน เดือนละ 1 แสนบาท ก็เท่ากับว่าการให้อยู่แฟลตฟรี เป็นการขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาอีกคนละ 21% ข้อนี้อาจทำให้เกิดความลักลั่นในด้านสวัสดิการหมู่ข้าราชการคนอื่น ๆ

            ที่มักกล่าวว่าข้าราชการมีปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัย ก็อาจไม่เป็นความจริง เพราะหากสำรวจให้ดี จะพบว่าข้าราชการจำนวนมากก็ซื้อบ้านของตนเองไว้แล้ว อันที่จริงข้าราชการที่มีบ้านเป็นของตนเอง ก็ไม่ควรอยู่ "บ้านหลวง" เพราะจะได้นำบ้านไปให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยจริง ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของการเดินทางนั้น ก็คงเป็นปัญหาการเดินทางเฉพาะบุคคล บุตรหลานก็มีที่อยู่อาศัยที่ซื้อไว้ชานเมือง เรียนหนังสืออยู่ชานเมืองอยู่แล้ว ก็คงจำเป็นต้องย้ายมาทั้งครอบครัว ส่วนเรื่องขวัญและกำลังใจนั้น ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราควรทุ่มเททรัพยากรให้ขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนมากกว่า ในยามจำเป็นอาจต้องดุนข้าราชการออกไปบ้างเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอด

            หากจำเป็นต้องสร้างจริง ควรสร้างให้แก่ข้าราชการขั้นผู้น้อยเป็นสำคัญ รัฐบาลควรนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะสร้างที่อยู่อาศัยเช่นนี้ หรืออย่างน้อยก็ควรจัดรถรับส่งพนักงานเท่าที่จำเป็น เป็นต้น กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาเพื่อทางราชการจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศ

            ช่วยกันคิดเพื่อใช้ทรัพยากรของชาติให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่ใช่แก่ข้าราชการ (ระดับสูง)

อ่าน 3,632 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved