ดูญี่ปุ่น แล้วจะรู้ว่าภาษีมรดกไทยอุ้มเศรษฐี
  AREA แถลง ฉบับที่ 493/2561: วันพุธที่ 10 ตุลาคม 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อดูภาษีมรดกญี่ปุ่นแล้ว จะพบว่าภาษีมรดกของไทย ไม่ได้เรื่อง มุ่งช่วยคนรวย ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย

            ในระหว่างที่ผมพาคณะไปดูงานอสังหาริมทรัพย์ในกรุงโตเกียวในขณะนี้ ผมได้พบเห็นระบบภาษีมรดกที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศไทย ระบบภาษีมรดกของญี่ปุ่นมีอัตราการจัดเก็บภาษี (https://bit.ly/2PwPK0A และ https://bit.ly/2A0uefp) ดังนี้

มูลค่าทรัพย์สิน:

            0-10 ล้านเยน จัดเก็บ 10%

            10-30 ล้านเยน จัดเก็บ 15%

            40-50 ล้านเยน จัดเก็บ 20%

            50-100 ล้านเยน จัดเก็บ 30%

            100-200 ล้านเยน จัดเก็บ 40%

            200-300 ล้านเยน จัดเก็บ 45%

            300-600 ล้านเยน จัดเก็บ 50%

            600 ล้านเยนขึ้นไป จัดเก็บ 55%

            อย่างไรก็ตาม หากมีการนำทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มาลงทุนสร้างรายได้ ในทำนองให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ก็จะได้รับการลดอัตราภาษีที่ต้องเสียลงถึงราวครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังสูงมากอยู่ดี ลองศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ เขาก็เน้นการลดความเหลื่อมล้ำ (https://bit.ly/2NylUHx)

            ในกรณีของไทย กรมสรรพากรกำหนดไว้ว่า ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท (http://bit.ly/2rlm4a1) ยิ่งเมื่อโอนทรัพย์ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ให้บุตรปีละไม่เกิน 20 ล้าน และอสังหาริมทรัพย์ปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

            ดังนั้นจากข่าวที่ว่า ฟแฟร์ส "1 ปี ภาษีมรดก ไม่สามารถเก็บได้แม้แต่บาทเดียว" (http://bit.ly/2rQxyFP) จึงแสดงชัดเจนว่า ภาษีมรดกนี้เก็บไมได้จริง แต่การมีกฎหมายภาษีมรดกก็เพื่อแสดงว่าเรามีกฎหมายนี้ แต่เป็นกฏหมายที่แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ นี่อาจเป็นกรณีศึกษากฎหมาย "ศรีธนญชัย" ขั้นเทพ! ที่มุ่งช่วยเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชน มากกว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการสะสมระเบิดเวลาไว้รอการปฏิวัติทางชนชั้นโดยแท้ แล้วอย่างนี้ บ้านเมืองจะสงบได้อย่างไรในขณะที่คนมีฐานะต่ำกว่าถูกกดไว้ แต่คนรวยๆ กลับรอดพ้นภาษีที่ควรเสีย

            น่าเสียดายที่ภาษีนี้เกิดในยุค คสช. ที่บอกจะมาคืนความสุขให้คนไทย นี่เท่ากับคืนความสุขให้เฉพาะคนไทยชั้นอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น นี่ถ้าเกิดกฏหมายนี้ในยุคเลือกตั้ง ก็อาจกล่าวหาว่านักการเมืองทำเพื่อนายทุน แต่ยุคนี้ข้าราชการใหญ่ๆ ที่มีอำนาจ ทำเพื่อตนเองและนายทุนใหญ่อย่างเห็นได้ชัดจริงๆ

อ่าน 6,601 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved