ภาพคนเร่ร่อนที่ถูกจับอย่างกับไม่ใช่คนนั้น ดูแล้วไม่เป็นอารยะเอาเสียเลย ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อน ขอแถลงการณ์ให้เข้าใจคนเร่ร่อนที่ไม่ใช่ขอทานที่อาศัยความน่าสงสารมาหากิน พวกเขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพัฒนาให้เข้ากับสังคมได้
ตามที่มีภาพข่าวจับคนเร่ร่อนประหนึ่งสัตว์ (ไม่ใช่คน) (https://bit.ly/2ALjySe) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อนโดยตรง เห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
รายงานผลสำรวจล่าสุดว่ามีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในปี 2559 จำนวน 3,455 คน แยกเป็นชาย 2,112 คน (61%) และหญิง 1,374 คน (39%) บุคคลเหล่านี้ยังสามารถแยกแยะเป็น กลุ่มที่เร่ร่อนไปมามี 993 คน (29%) รองลงคือกลุ่มผู้ติดสุรา 858 คน (25%) ผู้นอนหลับชั่วคราว 853 คน (25%) คนเหล่านี้บ้างก็เป็นผู้เพิ่งพ้นโทษ ผู้ป่วยข้างถนน มีทั้งที่เป็นครอบครัว และเป็นบุคคล มีชาวตะวันตกเป็นเป็นคนต่างชาติเร่ร่อนอยู่ 25 คน กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านต่างชาติ 51 คน และยังพบผู้ให้บริการทางเพศอีก 28 คน (http://bit.ly/2ojLGYo)
คนเร่ร่อนก็เป็นคนมีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์เหมือนเราท่าน แทบทุกคนก็พยายามประกอบอาชีพหาของเก่ามาขายจากถังขยะ พวกเขาถูกผลักออกจากสังคมปกติจนต้องมานอนอย่างหมาข้างถนน เราท่านคนปกติคงนอนอยู่ข้างถนนแบบนี้ไม่ได้แม้สักคืนหนึ่ง บางคนที่นอนข้างถนนนานวันเข้า ก็เลยเพี้ยนหรือบ้าไปบ้างแหละ บ้างก็นั่งพูดพึมพำ บ้างก็อาจดูน่ากลัว จึงยิ่งถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจไปอีก คนเรามีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์อยู่แล้ว แต่หลายคนไม่เคยสัมผัสเลย ไม่เข้าใจคนเร่ร่อนว่าเขาก็เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เพียงแต่มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ผมจึงขอเชิญชวนท่านแบ่งปันความรักจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนเร่ร่อนบ้าง เช่น การช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว
คนเร่ร่อนนั้นแตกต่างจากขอทาน ขอทานเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้ความน่ารักน่าสงสารมาทำให้มีผู้ให้เงิน เข้าทำนองการหลอกลวงประชาชน ขอทานจะมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก ค่าเฉลี่ยของรายได้ของขอทานรายหนึ่งเป็นเงินประมาณ 2,000 - 5,000 บาทต่อวัน รายได้ต่ำสุดที่ได้คือ 500 บาท ขอทานที่มีรายได้สูง จะทำตัวให้สกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนาเป็นที่สุด หาก (แสร้ง) ทำแผลให้เหวอะหวะ (โดยใช้ถุงน่อง) หรือแสร้งแสร้งทำแขนหรือขาด้วยด้วยแล้ว ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบขอทานเกลื่อนเมืองโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครนั่นเอง
ที่ผ่านมามักมีข่าวไม่ดีต่อคนเร่ร่อน แต่ในความเป็นจริงในกรณีต่าง ๆ กลับพบว่า "คนเร่ร่อนไม่ได้ตีนิสิตเกษตรฯ หน้า สตช." แต่เป็นคนปกติ (https://goo.gl/mcG9fC) “คนเร่ร่อน” เป็นบุคคลที่หลายคนเมิน คนบางส่วนในสังคมกลับเห็นความสำคัญของหมาแมวซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานมากกว่าคนหรือมนุษย์ด้วยกันเอง ลองดูในกล่องรับบริจาคช่วยคนเร่ร่อน ยังได้รับเงินบริจาคน้อยกว่ากล่องช่วยหมาแมวเสียอีก (https://goo.gl/4Czf7B)
การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนทำได้ยากเพราะที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 2.7 ล้านล้านบาท หรือราว 0.37% เท่านั้น จึงไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีมากกว่านี้โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็ควรที่จะแบ่งเงินมาพัฒนาสังคมมากกว่านี้
ในการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาทนี้ยังมีเพียงสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย
ดร.โสภณในฐานะประธานมูลนิธิช่วยคนเร่ร่อน จึงขออนุญาตแถลงแทนคนเร่ร่อนด้วย
ที่มาของภาพ: https://bit.ly/2ALjySe