ขึ้นชื่อว่าภาษีแล้ว ทุกคนไม่อยากจ่ายเพราะกลัวเพิ่มภาระ เท่านี้ประชาชนก็จนกรอบอยู่แล้ว แต่สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีพิเศษที่ "ยิ่งจ่าย ยิ่งได้" เพราะนำมาสร้างความสมบูรณ์พูนสุขแก่ประชาชนโดยตรง ไม่เหมือนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ราชการไทยกลับไม่ให้ความรู้แก่ประชาชน และสุดท้ายออก พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผิดเพี้ยนจากหลักสากลโดยอุ้มคนรวยให้เสียภาษีน้อยลงไปเสียอีก
ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง โดยอาจนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษาให้ทันความต้องการของท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน ถ้าเราเสียภาษีปีละ 0.5% แต่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ก็เท่ากับการยิ่งให้ ยิ่งได้ มีแต่ได้ ไม่มีเสีย
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่กระทบต่อวงการพัฒนาที่ดิน ผู้ประกอบการก็กำไรปีละ 20% สุทธิอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งกำไรสูงมาก ราคาค่าก่อสร้างอาคารก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้นเฉพาะใจกลางเมืองหรือบริเวณที่มีรถไฟฟ้า การใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จึงไม่ทำให้นักพัฒนาที่ดิน "ขนหน้าแข้งร่วง" แต่อย่างใด ผู้ซื้อบ้านก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาษีที่จัดเก็บน้อยแต่ได้เพิ่มมูลค่า
บางคนกลัวว่าการจัดเก็บภาษีนี้จะก่อให้เกิดการโกงกิน ข้อนี้ไม่ต้องกลัว เพราะไม่ได้ส่งเข้าส่วนกลาง ใช้ในท้องถิ่นเท่านั้น ประชาชนที่เสียภาษีมาพัฒนาท้องถิ่น จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี และคอยจับตาดู ที่สำคัญก็คือภาษีในแต่ละท้องถิ่นส่วนมากจัดเก็บได้เพียง 10% ของงบประมาณ ทำให้ส่วนกลางควบคุมท้องถิ่น ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าเราจัดเก็บภาษีและใช้ในท้องถิ่น ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง ท้องถิ่นก็เจริญ
นี่เองภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ ‘กินได้’ หรือเรียกว่าเป็นรูปธรรม ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ใคร ๆ ก็เห็นดีด้วย แต่การรดน้ำพรวนดินระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การยกมือหรือการเลือกตั้งเท่านั้น ที่ผ่านมา ประชาชนถูกบิดเบือนให้แปลกแยกกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มีส่วนได้ มีส่วนเสียกับระบอบนี้ และใช่ว่าทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เสียภาษี เพียงแต่ไม่ได้เสียภาษีทางตรงจากทรัพย์สินที่ครอบครอง จึงทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของเท่าที่ควร และกลายเป็นว่าท้องถิ่นเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลส่วนกลางที่ส่งเงินมาให้เสียอีก
ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีภาษีนี้จะลดภาษีหรือค่าใช้จ่ายอื่น
1. ภาษีโรงเรือน และภาษีที่ดินในปัจจุบันที่จัดเก็บอย่างไม่เป็นธรรมก็จะถูกยกเลิก
2. ค่าส่วนกลางที่อาจต้องเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อสวัสดิภาพในชุมชนก็อาจลดลงหรือไม่ต้องเพิ่ม เพราะเราได้เสียภาษีไปใช้เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว
3. เผลอ ๆ ภาษีมูลค่าเพิ่มก็อาจไม่ต้องจัดเก็บเพิ่ม เพราะส่วนกลางไม่ต้องมีภาระในการอุดหนุนส่วนท้องถิ่นถึง 90% ของงบประมาณเช่นในปัจจุบัน
4. เมื่อรัฐบาลส่วนกลางไม่ต้องอุดหนุนท้องถิ่นมากเช่นแต่ก่อน ก็ไม่มีเหตุผลต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% ภาษีมูลค่าเพิ่มกระทบต่อทุกฝ่าย แม้ไม่มีทรัพย์สินอะไรเลยก็ตาม
แต่สำหรับ พรบ.ภาษีที่ดินฯ ที่เพิ่งผ่านสภานี้ กลับบิดเบือนความจริง ใช้ราคาประเมินราชการแทนราคาตลาด เก็บเฉพาะบ้านที่มีราคาประเมินราชการเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ประชาชน 90% ไม่ต้องเสียภาษี แท้จริงแล้วภาษีนี้ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน เพราะปกติเสียภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ปีละ 1% ของราคาอยู่แล้ว
การมีที่ดินเปล่าใจกลางเมือง ซึ่งมีอยู่มากมาย แล้วไม่ใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้เพียงรอยกให้ลูกหลาน ทั้งที่รถไฟฟ้า สาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ผ่าน อาจถืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่สมควรละอายใจ เพราะแม้แต่คนมีห้องชุดแสนถูกยังต้องเสียค่าส่วนกลางทุกเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อตลาดที่ดินเป็นของผู้ขาย ก็ตั้งราคาได้ตามใจ การพัฒนาที่ดินเพื่อประชาชนก็ต้องออกนอกเมืองไปเรื่อยๆ ทำให้ต้นทุนค่าขนส่ง คมนาคม สาธารณูปโภคต้องแพงขึ้น
คนรวยๆ ยังมีทางเลี่ยงเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากมาย เช่น แสร้งให้ราชการเข้าใช้ประโยชน์ในระหว่างเก็งกำไร จะได้รับการยกเว้นภาษี หรือแสร้งทำการเกษตร จะได้เสียภาษีในราคาสุดถูก เป็นต้น การลดภาษีหรือยกเว้นเล็กๆ น้อยๆ ให้กับประชาชนนั้น แท้จริงแล้วแทบไม่ได้อะไรกับประชาชนเลย เพราะโภคผลน้อยมาก แต่ทำเพื่อคนรวยๆ มากกว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโรงงานมากๆ อาจได้ภาษีน้อยลง
นี่แหละนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีจึงกล่าวด้วยความเสียใจว่า "พูดได้คำเดียวว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลชุดนี้ทำมา ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในทุกๆ เรื่อง. . . โครงการลงทุนต่างๆ เอื้อให้กับคนรวยทั้งนั้น เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยุติธรรม เพราะเมื่อเอาไปมากก็ต้องเสียมาก แต่ดันปรับแก้เก็บภาษีให้น้อยลง เพื่อให้คนรวยเสียน้อย" (https://bit.ly/2QWJqQW)
Download ได้ฟรีที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/journal/order.php?p=publicationb28.php