ห้างริมน้ำฝั่งธน สิ่งที่ขุนพลอยพยักไม่รู้ ไม่กล้าบอก
  AREA แถลง ฉบับที่ 541/2561: วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2561

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จะประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่ หลายสิ่งที่สื่อ "ชะเลียร์" และ "ขุนพลอยพยัก" ไม่กล้าพูด แล้วทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ

            การพัฒนาศูนย์การค้าขนาดยักษ์ริมน้ำด้วยเงินลงทุน 5.4 หมื่นล้านบาทเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ ศักยภาพแห่งความสำเร็จก็ดูค่อนข้างพร้อม เช่น

            1. ในห้างจะมีหลายอย่างที่ห้างอื่นไม่มี เป็น Outlet สำคัญของสินค้าหรูเลิศจากต่างประเทศ

            2. อยู่ในตำแหน่งที่ชมกรุงเทพมหานครได้สวยมากที่สุดแห่งหนึ่ง

            3. จะมีหอชมเมืองที่ได้เชิญส่วนราชการให้ย้ายออกไปล่วงหน้านานแล้ว

            4. มีรถไฟฟ้าสายใหม่

            5. ต่อไปจะมีถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ศักยภาพการเชื่อมต่อดีขึ้น

            6. มีโรงแรมและการพัฒนาอื่นๆ หลายแห่งตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

            7. มีประชากรหนาแน่น ฯลฯ

            การวิจารณ์ในกรณีนี้ของผมอาจดูคล้าย "หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด" แต่ผมวิจารณ์ด้วยความปรารถนาดี และหวังอยากให้เห็นความสำเร็จ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ดังนั้น เรามาลองวิพากษ์ข้อดีที่อ้างถึงกัน:

            1. แม้ในห้างจะมีหลายอย่างที่ห้างอื่นไม่มี แต่ห้างชั้นเลิศอื่นก็มีแทบครบเช่นกัน การไปห้างแปลกใหม่ ก็คงไม่ได้ไปบ่อยหรือไปซ้ำนัก ยกเว้นบางกลุ่ม

            2. เรื่องตำแหน่งที่ตั้งนั้น เป็นตำแหน่งที่ดูสวยงามเช่นเดียวกับวัดอรุณฯ  แต่ไม่ใช่จุดที่เห็นกรุงเทพมหานครสวยที่สุด จุดที่เห็นสวยที่สุดอยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง เป็นอีกคุ้งน้ำหนึ่ง ซึ่งห้ามสร้างตึกสูง-ใหญ่

            3. หอชมเมือง จะไปทำอะไรได้ พระบรมมหาราชวังมีคนเข้าชมวันละ 17,000 คน (https://bit.ly/2Fuazt8) สถิติของพระบรมมหาราชวังเอง ไม่ใช่ปีละนับสิบๆ ล้านอย่างในการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ตามเว็บท่องเที่ยว) ต่อให้เป็น 20,000 คน ก็ปีละ 7.3 ล้านคน  การไปหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ต้องเสียค่าใช้จ่าย อาจมีคนเข้าชมราว 1/3 ของพระบรมมหาราชวัง จะเพียงพอสำหรับการส่งเสริมการจับจ่ายจริงหรือ นักท่องเที่ยวกับ "นักช็อป" แตกต่างกันมาก  รอบๆ โตเกียวสกายทรี โตเกียวทาวเวอร์ หอไอเฟล ก็ไม่ได้ก่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแก่พื้นที่โดยรอบมากนัก

            4. รถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะวิ่งผ่านนั้น เป็นเสมือน "ใส้ติ่ง" ต่างจากกรณีห้างชั้นยอดของไทย เช่น สยามพารากอน เซ็นทรัลเอ็มบาสซี และเอ็มควอเทียร์ ที่รถไฟฟ้าสายหลักวิ่งผ่าน

            5. ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เป็นถนนระบายการจราจรแบบถนนขนาด 6 ช่องทางจราจรริมแม่น้ำฮันของกรุงโซล (https://bit.ly/2OVtCvX) แค่ทำไว้สวยๆ คงมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะเชื่อมต่ออะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้

            6. การพัฒนาโรงแรมริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็มักมีผู้เข้าพักน้อยกว่า ค่าเช่าถูกกว่าฝั่งตะวันออกหรือฝั่งกรุงเทพมหานครอย่างชัดเจน (https://tinyurl.com/ybb4nk6g)

            7. ประชากรในพื้นที่แม้จะมีความหนาแน่นถึง 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร (https://bit.ly/2QV5Hyl) แต่ไม่ใช่ประชากรที่มีกำลังซื้อสูง ท่านทราบกันหรือไม่ว่า 54% ของประชากรในเขตนั้นเป็นชาวชุมชนดั้งเดิม โดยส่วนมากเป็นชุมชนแออัด! (https://bit.ly/2Oqy1qk)

            ทางรอดของการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออาจเรียกว่าให้ถูกต้องว่าฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา (โดยหันหน้าออกทะเล) ก็คือ

            1. ต้องมีสะพานใหม่ๆ ขึ้นมาหลายแห่ง ทำให้หมดความแตกต่างของทั้งสองฝั่งน้ำ เช่นเดียวกับกรณีกรุงโซล ที่มีสะพานทุกระยะ 1 กิโลเมตร หรือกรุงปารีสที่มีสะพานทุกระยะ 500 เมตรเป็นต้น สะพานที่ควรสร้างก็คือ

            1.1 สะพานถนนท่าดินแดง ข้ามไปฝั่งราชวงศ์

            1.2 สะพานข้ามถนนลาดหญ้าไปถนนสี่พระยา/ตลาดน้อย

            1.3 สะพานข้ามถนนจันทน์ไปเจริญนคร เป็นต้น

            การสร้างสะพานจะทำให้ศูนย์การค้าฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อานิสงส์ แต่ประเด็นสำคัญคือทำให้ชาวธนบุรี ไม่เป็น "ลูกเมียน้อย" ของชาวกรุงเทพฯ เมื่อการสัญจรไปมาสะดวกมากขึ้น ความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ริมแม่น้ำก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย  อย่างไรก็ตามการพัฒนาสะพานเหล่านี้ ต้องดูแลการเวนคืนให้ดี โดยอาจสร้างเป็นอาคารชุดให้ผู้ถูกเวนคืนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก พร้อม "ค่าเยียวยา" ที่สมน้ำสมเนื้อ

            2. ควรสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแบบกรณีแม่น้ำฮัน โดยทำเป็นถนนขนาด 3 ช่องทางจราจรในแต่ละทิศทาง รวม 12 ช่องจราจรใน 2 ฝั่งแม่น้ำ กลายเป็นถนนทางเลือก โดยบางบริเวณอาจต้องรื้ออาคารใหญ่ หรืออาจให้ถนนล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง เป็นต้น สำหรับงบประมาณในการก่อสร้าง ควรได้รับการสนับสนุนจากวิสาหกิจต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงผ่านการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่บังเอิญภาษีที่เพิ่งประกาศใช้นี้ อาจไม่ "function" เท่าที่ควรและอาจเก็บภาษีได้น้อยกว่าเดิมก็เป็นไปได้ (https://bit.ly/2zfLf4C)

            3. ควรสร้างกระเช้าไฟฟ้าจากสาทรถึงตลาดน้อย และจากตลาดน้อยถึงวัดอรุณราชวรารามหรือบริเวณใกล้เคียง โดยให้เป็นสัมปทานระยะยาว (https://bit.ly/2vaP2fe) เช่นเดียวกับ the Emirates Air Line (https://bit.ly/2r64BVz) ที่กรุงลอนดอน

            ข้อคิดในอีกมุมหนึ่งแบบนี้ สื่อ "ชะเลียร์" และพวก "ขุนพลอยพยัก" คงคิดไม่ออกและถึงแม้คิดออกก็คงบอกไม่ถูก


คลิกดูภาพใหญ่

อ่าน 3,889 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved