AREA แถลง ฉบับที่ 108/2554: 30 พฤศจิกายน 2554
อสังหาริมทรัพย์ตากอากาศภูเก็ต ค่อย ๆ ฟื้น
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
รีสอร์ตตากอากาศในภูเก็ตราคาหน่วยละ 14.7 ล้านบาท ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวพักตากอากาศ ราคาสูงถึง 31 ล้านบาท ขณะนี้ยังเหลือขายอยู่ 2,443 หน่วย คาดว่าจะขายหมดในเวลาอีก 20.5 เดือน แนวโน้มการขายน่าจะดีกว่าปีก่อนที่อสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในยุโรปที่เป็นกำลังซื้อหลัก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในไทยตั้งแต่ปี 2537 ได้สำรวจข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์ตากาอากศภูเก็ต ประเภท ซื้อหรือเช่าระยะยาวในรูปแบบห้องชุดและบ้านพักตากอากาศ (ไม่รวมรีสอร์ทเช่าแบบโรงแรม) ณ กลางเดือนพฤศจิกายน 2554
ในการนี้ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้พบโครงการทั้งหมด 114 แห่ง ประกอบด้วยจำนวนหน่วย 6,216 หน่วย รวมมูลค่าในตลาดถึง 91,417 ล้านบาท สินค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศนี้ ราคาเฉลี่ยประมาณ 14.7 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีราคาเฉลี่ยเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตามอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้พัฒนากันในระดับราคา 5-10 ล้านบาทมากที่สุด ถึง 2,144 หน่วย รองลงมาคือระดับ 10-20 ล้านบาท จำนวน 1,286 หน่วย แต่ก็มีหน่วยขายในระดับราคา 100 ล้านบาทขึ้นไปถึง 89 หน่วยเช่นกัน ในแง่ของสถานการณ์การขาย ปรากฏว่าขณะนี้ยังขายเหลืออยู่ประมาณ 2,443 หน่วย หรือประมาณ 39% ของหน่วยขายทั้งหมด และยังต้องใช้เวลาในการขายอีก 20.5 เดือนจึงจะหมด
หากแยกเป็นกลุ่มจะสามารถแยกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มบ้านเดี่ยวหรือวิลลา และกลุ่มห้องชุดตากอากาศ โดยส่วนใหญ่แล้วพัฒนาเป็นห้องชุดตากอากาศจำนวน 4,451 หน่วยจาก 6,216 หน่วย หรือประมาณ 72% ของทั้งหมด ที่เหลืออีก 28% เป็นบ้านเดี่ยวหรือวิลลาตากอากาศ ในขณะนี้เหลือห้องชุดรอขายอยู่ 1,812 หน่วย หรือเป็นประมาณ 41% ของอุปทานห้องชุดทั้งหมดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศในจังหวัดภูเก็ต มีราคาขายเฉลี่ยประมาณ 8.2 ล้านบาท สำหรับอัตราการขายห้องชุด เป็นประมาณ 1.6% ต่อเดือน และทั้งหมดที่เหลืออยู่จำนวน 1,812 หน่วยนั้นจะขายได้หมดในเวลาอีก 19.6 เดือน
ส่วนตลาดบ้านเดี่ยวตากอากาศหรือวิลลานั้น ราคาเฉลี่ยสูงถึง 31 ล้านบาท มีจำนวนรวมเพียง 1,765 หน่วย หรือ 285 ของอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศ และขายไปเหลือ 631 หน่วยหรือเหลือเพียง 36% ของอุปทานบ้านเดี่ยวตากอากาศทั้งหมด สำหรับอัตราการขายค่อนข้างช้าคือเดือนละ 0.5 หน่วย และต้องใช้เวลาขายอีกประมาณ 24 เดือน
ในปี 2553 มีจำนวนหน่วยขายเปิดใหม่ประมาณ 607 หน่วย ขายได้แล้ว 304 หน่วย แยกเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 57 หน่วย ขายได้ 18 หน่วย และห้องชุดตากอากาศ 550 หน่วย ขายได้ 286 หน่วย ส่วนในปี 2554 ณ ระยะเวลาเกือบ 11 เดือนมีเปิดใหม่ 434 หน่วย น้อยกว่าปีที่แล้ว และขายไปแล้ว 170 หน่วย แยกเป็นขายบ้านเดี่ยวได้ 51 หน่วยจากทั้งหมด 103 หน่วย และขายห้องชุดได้ 119 หน่วยจากทั้งหมด 331 หน่วยที่เปิดในปี 2554
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยังได้แยกวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศภูเก็ตออกเป็น 10 ทำเลย่อย ปรากฏว่าทำเลเด่นได้แก่ หาดไม้ขาว-ในทอน มีจำนวน 627 หน่วย ราคาเฉลี่ยสูงถึง 26 ล้านบาท โดยราคาเฉลี่ยของบ้านเดี่ยวสูงถึง 64 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นทำเลที่มีราคาสูงที่สุด ในทางตรงกันข้ามบริเวณอ่าวฉลอง ราคาอาจถูกที่สุดคือเฉลี่ยประมาณ 5.2 ล้านบาท แยกเป็นบ้านเดี่ยวราคา 20.3 ล้านบาท และห้องชุดราคา 4.7 ล้านบาท
โดยสรุปแล้วพบว่าในช่วงปี 2553 อสังหาริมทรัพย์ตากอากาศทั้งหมดในภูเก็ตขายได้ประมาณ 741 หน่วย รวมเป็นเงิน 7,100 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2554 (10.5 เดือนแรก) ขายได้ 771 หน่วย รวมมูลค่า 8,956 ล้านบาท แสดงว่าปี 2554 สถานการณ์กระเตื้องกว่าปี 2553 แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ในขณะนี้ กำลังซื้อจากยุโรปยังชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่กำลังซื้อในส่วนของนักลงทุนรัสเซีย กลับยังเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งนักลงทุนอื่นจากทวีปเอเชีย
สำหรับแนวทางการลงทุนที่สมควร ควรดำเนินการให้ถูกกฎหมาย เช่น การส่งเสริมการเช่าระยะ 30 ปี ซึ่งจะทำให้มูลค่าต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปประมาณ 30% แต่สร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อได้มากกว่า หรือไม่ก็ให้ชาวต่างชาตินำเงินตราเข้าประเทศมาซื้อจำนวนประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถซื้อที่ดิน (พร้อมที่อยู่อาศัย) ได้ไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนกระบวนการที่ “หลอก” ให้ชาวต่างชาติทำสัญญาเช่าที่ดิน 90 ปี (30+30+30 ปี) นั้นไม่ควรดำเนินการ
อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตพบว่า ปัญหาหลักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การคมนาคมขนส่ง การใช้ที่ดิน การจัดการทรัพยากร การจัดการของเสีย อาชญากรรมและอื่น ๆ หากมีการวางแผนการพัฒนาอย่างมีบูรณาการ ภูเก็ตจะสามารถดึงดูดการท่องเที่ยวได้ดีกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นทั่วเอเซีย
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |