ปัญหาคนเร่ร่อนในประเทศไทยยังไม่รุนแรง แสดงว่าแก้ไขได้ ไม่ควรปล่อยให้ขยายใหญ่โตจนเกินการแก้ไข โดยมีคนเร่ร่อนประมาณ 4,000 คนเท่านั้น คนไทยทุก ๆ 1,421 คนจึงจะมีคนเร่ร่อน 1 คน แต่ทางราชการก็ยังส่งเสริมสวัสดิการจำกัดมาก สังเกตจากงบประมาณที่น้อยมากของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะช่วยคนเร่ร่อน ดร.โสภณประมาณว่างบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหานี้เป็นเงินเพียงปีละ 730 ล้านบาท ภายในเวลาไม่กี่ปี ประเทศไทยก็จะแทบไม่เหลือคนเร่ร่อนเลย
ในเช้าวันอังคารที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 10:00 น. ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนช่วยเหลือคนเร่ร่อน ได้จัดแถลงข่าวถึงข้อค้นพบเกี่ยวกับคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร อยุธยา และสมุทรสาคร
ทั้งนี้ ดร.โสภณ ได้แนะนำคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งประกอบด้วย ดร.โสภณ ในฐานะประธานกรรมการ รองประธานคือนางวิไลพรรณ หลวงยา เหรัญญิกคือนางสาวเหมพรรษ บุญย้อยหยัด และกรรมการอื่นๆ ประกอบด้วย นายยิ่งเกียรติ เหล่าศรีศักดากุล นางมัทนา อัจจิมา และนางเยาวเรศ ราชเกสร ส่วนเลขาธิการคือนางอัจฉรา สรวารี
ในช่วงแรกของการนำเสนอ นางอัจฉราแถลงสรุปตัวเลข สถานการณ์คนไร้ทีพึ่ง ปี 2561 โดยระบุว่า ณ สิ้นปี 2561 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะซึ่งอยู่ในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครจำนวน 3,993 คน เพิ่มขึ้น 363 คน หรือเพิ่มขึ้นราว 10 % จากปี 2560 ซึ่งอาจมองว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่ภาพปัญหาชัดเจนมากขึ้น เนื่องมาจากการจัดระเบียบเมือง ที่ส่งผลกระทบ ชัดเจน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนเร่ร่อน ที่เคยรวมกันอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น แถวพาหุรัด สนามหลวง คลองหลอด แต่พอเกิดการจัดระเบียบแทนที่จะช่วยพวกเขาได้ แต่กลับทำให้คนเร่ร่อนกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ เช่น ตามสถานีรถไฟฟ้า BTS ตามสวนสาธารณะต่างๆ หรือไปตามต่างจังหวัดในปริมณฑล สมุทรสาคร อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น
ดร.โสภณ กล่าวว่าการที่มูลนิธิอิสรชนมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของคนเร่ร่อนนั้นเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มชายขอบที่สุดในสังคมไทย มีผู้ให้ความสนใจช่วยเหลือน้อยมาก เช่น หากเทียบจากการบริจาคช่วยเหลือหมาแมว ยังมีคนสนใจบริจาคมากกว่า คนเร่ร่อนได้รับการเข้าใจผิดว่าเป็นคนที่งอมืองอเท้าคล้ายพวกขอทาน แต่ขอทานเป็นอาชีพที่ไม่สุจริตทางหนึ่ง เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เป็นอาชญากรรม และเป็นการเข้ามาขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน คนที่ออกมาเร่ร่อนนอนข้างถนน คงต้องมีปัญหาทางเศรษฐกิจและจิตใจอย่างรุนแรง หรือหมดทางเลือก เพราะในชีวิตจริงคงไม่มีใครอยากนอกข้างถนนเช่นนี้
ปัญหาสำคัญของคนเร่ร่อนประการหนึ่งก็คือมีคนเร่ร่อนจำนวนมากไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ กลายเป็นประชาชนชายขอบ เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ นั่นเอง ยิ่งในกรณีเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิต ก็ยิ่งทำให้พวกเขาประสบความยากลำบาก ดังนั้นอายุขัยของคนเร่ร่อนจึงมักสั้นกว่าปกติ ในขณะที่ประชากรไทยมีอายุขัยอยู่ประมาณ 75.1 ปี (https://bit.ly/1nk5eRW) แต่คนเร่ร่อนน่าจะมีอายุขัยต่ำกว่านี้มาก ดร.โสภณเชื่อว่าอาจมีอายุประมาณไม่ถึง 50 ปี อย่างไรก็ตามในกรณีสหราชอาณาจักร ผลสำรวจล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2561 พบว่าคนเร่ร่อนอังกฤษมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 44 ปีเท่านั้น (https://bit.ly/2HqdjJb)
ดร.โสภณเห็นว่านโยบายการจัดระเบียบเมืองของกรุงเทพมหานครนั้น ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาได้ การจัดระเบียบเมืองให้สวยงาม เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรที่จะปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนอย่างเป็นระบบด้วย การไล่คนเร่ร่อนให้พ้นไปจากเกาะรัตนโกสินทร์โดยไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแพร่กระจายคนเร่ร่อนและอาจสร้างปัญหาเพิ่มเติม ทางราชการควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนเร่ร่อนเพื่อหวังพวกเขาสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติได้ ไม่ใช่ให้พวกเขาอยู่ในบ้านพักอย่างถาวร
ดร.โสภณประเมินว่าจำนวนคนเร่ร่อนเกือบ 4,000 คนในกรุงเทพมหานครนี้ เทียบได้เพียง 0.07% ของคนในกรุงเทพมหานคร (https://bit.ly/2ga5TI4) หรืออาจกล่าวได้ว่าในจำนวนคนกรุง 1,421 คนจะมีคนเร่ร่อน 1 คน ในขณะที่นครนิวยอร์ก มีคนเร่ร่อนถึง 64,000 คน (https://bit.ly/1uCPVcG) หรือ 0.78% ของประชากรนครนิวยอร์กที่ 8,175,133 คน (https://on.nyc.gov/2mjmsDO) ดังนั้นสถานการณ์คนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครจึงยังไม่เลวร้ายนัก สามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตามในประเทศไทยคงไม่มีหน่วยราชการใดที่จะช่วยเหลือคนเร่ร่อนได้เท่าที่ควร เพราะมีงบประมาณจำกัด อย่างเช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงบประมาณอยู่เพียง 12,863,513,700 บาท ลดลงจากงบประมาณปี 2561 ที่ 13,717,537,300 บาท 6.3% (https://bit.ly/2W6wDya) ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินปี 2562 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท แสดงว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของงบประมาณแผ่นดิน การที่รัฐบาลเจียดงบประมาณให้กับสวัสดิการสังคมน้อย คนเร่ร่อนจึงไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร
จะเห็นได้ว่าสวัสดิการสังคมต่างๆ มีจำกัดมาก ในจำนวนสถานสงเคราะห์ 324 แห่งทั่วประเทศ (https://bit.ly/2T4hADq) ที่สามารถบริจาคและหักลดหย่อนภาษีได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมโดยตรง ที่เกี่ยวข้องประมาณ 200 แห่งนั้น ก็ไม่สามารถรับคนเร่ร่อนหรือผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ได้มากนัก หรือแทบจะรับใหม่ไม่ได้มากนักในแต่ละปี จึงไม่อาจให้บริการได้ทั่วถึง
ดร.โสภณเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากต้องการทำให้คนเร่ร่อนหมดไป สามารถทำได้ไม่ยาก โอกาสที่จะกลับมาเร่ร่อนใหม่ก็จะจำกัด โดยค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาทนี้ยังมีเพียงสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย
โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก หากรัฐบาลจัดงานประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด
ข้อเสนอพิเศษ:
ขอยืมใช้หรือเช่าที่ดินระยะสั้นเพื่อคนเร่ร่อน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานมูลนิธิอิสรชน ขอรับบริจาค เช่าระยะสั้น หรือยืมใช้ที่ดินใจกลางเมืองที่เจ้าของยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ไร้บ้าน โดยที่ดินดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ หรืออาจเป็นอาคาร เช่น ทาวน์เฮาส์ ตึกแถวหรือบ้านเดี่ยวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
2. ในกรณีที่ดินเปล่า มูลนิธิอิสรชน อาจจัดเป็นเตนท์โดยไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆ ไม่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน หรืออาจขอตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อนในยามค่ำคืนโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุนชนโดยรอบ
3. อาคารหรือที่ดินควรตั้งอยู่ในเขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน หรือเขตบางรัก ในระยะแรกนี้
ทั้งนี้เจ้าของทรัพย์อาจอนุญาตให้ใช้ในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ โดยหากเกิน 3 ปี มูลนิธิจะขอเช่าในราคาถูก แต่หากเจ้าของที่ดินต้องการจะใช้ที่ดินเมื่อใด มูลนิธิยินดีย้ายออกก่อนกำหนดเวลาโดยไม่ขอรับค่าขนย้ายใด ๆ เพียงแต่แจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน
สำหรับการจัดที่พักพิงชั่วคราวนี้ มูลนิธิจะจัดที่สำหรับการหลับนอนที่ปลอดภัยในยามค่ำคืน (ตั้งแต่เวลา 19:00 - 07:00 น. ของวันรุ่งขึ้น) แก่คนเร่ร่อนหรือประชาชนทั่วไปที่ขาดที่พักพิงชั่วคราว เช่น เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดแต่ไม่พบญาติมิตร เป็นต้น มีพื้นที่สำหรับการอาบน้ำ มีอาหารในมื้อเช้าและมื้อค่ำ และมียารักษาโรคสำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น
อนึ่งสำหรับท่านที่ประสงค์จะให้การช่วยเหลือคอนเทนเนอร์เก่า เวชภัณฑ์ เครื่องนอนหมอนมุ้ง อาหาร หรืออื่น ๆ ก็สามารถแสดงความจำนงได้เช่นกัน
สำหรับผู้ที่ให้การสนับสนุน มูลนิธิจะตอบแทนด้วยการประชาสัมพันธ์การทำความดีนี้ผ่านสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ของมูลนิธิ ตั้งชื่อบ้านตามชื่อที่ผู้ให้การสนับสนุนต้องการ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถติดต่อ ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน ได้ที่ โทร.02.295.3905 Email: sopon@area.co.th