ในท่ามกลางสงครามข่าวสาร อาจมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแบบ "ขัดสายตาคนดู" ซึ่งเราท่านในฐานะนักลงทุนหรือประชาชนพึงรู้ เพื่อไม่ให้หลงทิศผิดทางในการตัดสินใจ
อย่างชุดข้อมูลแรกที่มีการนำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้คือ "'ไทย' ทะยาน 10 อันดับ ผงาดเสรีภาพเศรษฐกิจโลก" (https://bit.ly/2UwMW5Y) โดยระบุว่า "มูลนิธิเฮอริเทจ สถาบันคลังสมองจากสหรัฐ เปิดเผยดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ปี 2019 พบว่าอันดับเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้น 10 อันดับ มาอยู่ที่ 43 ในปีนี้ จาก 180 ประเทศทั่วโลก รั้งอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้คะแนนของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.3% ในปี 2019 จาก 67.1% เมื่อปีก่อนหน้า. . ."
ทั้งนี้มูลนิธิแห่งนี้ระบุเหตุผลคือ "เสรีภาพด้านเศรษฐกิจของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากนโยบายรัฐบาล ที่เน้นกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มงบลงทุนภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้เป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเลย และยังกล่าวว่าไทยมีความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น" (https://herit.ag/2TqeKbP) แต่ในความเป็นจริง ดัชนีความโปร่งใสของไทยกลับตกต่ำลงด้วยซ้ำไป (https://bit.ly/2B7SAEu)
ข้อมูลที่ออกมาก็ดูขัดแย้งกันชัดเจน มาดูตัวอย่างประเทศที่มี "เสรีภาพทางเศรษฐกิจ" ต่ำกว่าไทยที่ได้ 68.3 คะแนนกัน (https://herit.ag/2Db8NeT) เช่น เบลเยียมได้ 67.3 สเปนได้ 65.7 โปรตุเกสได้ 65.3 ฮังการีได้ 65.0 ฝรั่งเศสได้ 63.8 อิตาลี ได้ 62.2 จีนได้ 58.4 อินเดียได้ 55.2 อาร์เจนตินาได้ 52.2 และบราซิลได้ 51.9 จะเห็นได้ว่าประเทศที่แข็งขืนกับสหรัฐอเมริกา มักได้รับคะแนนน้อยกว่าไทยทั้งนั้น นี่จึงดูเหมือนเป็นคะแนนการเมืองที่เอามาถือเป็นสรณะไม่ได้เลย
มาดูภูมิหลังของมูลนิธิเฮอริเทจนี้ จะพบว่าเป็นองค์กรของพวกฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคงสนับสนุนนายทุนข้ามชาติที่เข้ามาหากินในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าจะคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชน จึงจัดทำดัชนีเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อหวังให้ประเทศต่างๆ เปิดกว้างให้นายทุนข้ามชาติ นอกจากนั้นมูลนิธิแห่งนี้ก็ยังมีเรื่องอื้อฉาวบางประการในช่วงที่ผ่านมาบ้าง (https://bit.ly/2GgYbvv)
ในอีกแง่หนึ่ง เรามักจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทำให้หลงเข้าใจผิดได้ เช่น ท่านนายกได้พูดในรายการคืนวันศุกร์ (25 มกราคม 2562) ว่า ". . .ธนาคารโลกได้แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแข็งแรงอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 ปี ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญก็คือการเติบโตจากความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ. . ." (https://bit.ly/2Sa6Aaf)
อันที่จริงเศรษฐกิจไทยในปี 2561 เติบโตด้วยตัวเลข GDP ที่สูงขึ้นจริง แต่อยู่ในลักษณะ "รวยกระจุก จนกระจาย" ในรายงานของธนาคารโลกที่นายกฯ อ้างถึง ยังชี้ให้เห็นว่าไทยต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ โดยระบุว่าคนไทยไม่ถึง 40% ที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านต่างรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งกัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียถึง 50%-70% (https://bit.ly/2HBopes) ความจริงในอีกด้านหนึ่งนี้ท่านนายกฯ ไม่ได้กล่าวถึงเลย
เราควรอ้างอิงข้อมูลที่เป็นองค์กรที่มีคุณภาพและเป็นองค์กรนานาชาติ เช่น IMF ระบุว่า ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 8 นับจาก 10 อันดับในอาเซียน แพ้ทุกประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไน ในช่วงระหว่างปี 2558-2561 คือหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา และนับแต่ปี 2562-2565 อัตราการเจริญเติบโตของไทย จะหล่นลงไปสู่อันดับที่ 9 ชนะแค่สิงคโปร์ ที่เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในอาเซียน ซึ่งแม้จะมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าไทย แต่ก็ถือว่ามหาศาล (https://bit.ly/2DCRyzt)
ที่นายกฯ แถลงว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเกิดจากความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ ก็เท่ากับเป็นภาวะ "อัฐยายซื้อขนมยาย" เข้าจากระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ไม่ได้เกิดจาการที่เราสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้มากจากการส่งออก การพึ่งพิงกำลังซื้อภายในเป็นหลัก ลำพังการส่งเสริมให้คนใช้จ่าย ท่องเที่ยวในประเทศ หรือสร้างหนี้กันโดยไม่จำเป็น เช่น ให้ไปซื้อบ้าน (เพื่อช่วยผู้ขายบ้านให้ระบายบ้านได้) ไม่ใช่หนทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ข้อมูลอีกชุดที่ยังความเข้าใจไขว้เขว คือเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า "'บิ๊กตู่'. . .ฟุ้ง รปห.ทำชาติสงบ ยอดท่องเที่ยวพุ่ง" (https://bit.ly/2SbQ8Gr) โดยมีสาระว่า "ปัจจุบันถือว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากที่สุดในช่วงนี้ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร ทำไมคนถึงมาเที่ยวมากในช่วงรัฐบาลนี้ แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งตามท้องถนน ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเดินหน้าประเทศ"
นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ในช่วงปี 2554-6 นั้น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 16.2%-18.8% มาลดอย่างชัดเจนเมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้น โดยในปี 2557 ลดลง 6.5% จะเห็นได้ว่าแม้ปี 2556 จะมีการประท้วงรัฐบาลกันอย่างต่อเนื่องแต่นักท่องเที่ยวก็ยังเพิ่มขึ้น ถ้านักท่องเที่ยวในช่วงปี 2557-2559 เพิ่มขึ้นปีละเฉลี่ย 15% ตามแนวโน้มที่ควรจะเป็น ส่วนปี 2560 ใช้สัดส่วนจริงคือ 8.8% และให้ปี 2561 เพิ่มขึ้น 10% (มากกว่าสถิติที่ 8.2% ซึ่งลดลงเพราะนักท่องเที่ยวจีนประท้วงไม่เข้าไทย) ก็จะพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2561 ควรจะเป็น 48.320 ล้านคน แทนที่จะเป็นเพียง 38.277 ล้านคนที่เป็นตัวเลขจริง (https://bit.ly/2TrrBuk)
ถ้านำจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจริงเมื่อมีรัฐประหารแล้ว กับตัวเลขที่น่าจะเห็นหากไม่มีรัฐประหารมาเทียบ ก็จะพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวขาดหายไปถึง 37.337 ล้านคนที่ควรจะเข้ามาเที่ยวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) จากข้อมูลปี 2561 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 38.277 ล้านบาท และทำให้เกิดการใช้จ่ายถึง 2.008 ล้านล้านบาทนั้น คิดเป็นหัวละ 52,446 บาท หรือเท่ากับนักท่องเที่ยวที่หายไป 37.337 ล้านคนนั้น ทำให้รายได้เข้าประเทศหายไป 1.958 ล้านล้านบาท